ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
24 เมษายน 2567
กรมวิชาการเกษตรโชว์แปลงต้นแบบปลูกถั่วเหลืองคาร์บอนต่ำ
กรมวิชาการเกษตร โชว์แปลงต้นแบบปลูกถั่วเหลืองคาร์บอนต่ำ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ใยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศจากปริมาณการผลิต 267 กก./ไร่ ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 410 กก./ไร่
คุณศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร เผยว่า ความสำเร็จดังกล่าว เริ่มต้นจากการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ทำให้อัตราการงอกและรอดตายสูง
โดยจะใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมคลุกเมล็ดถั่วเหลือง ในอัตราส่วน 200 กรัม ต่อเมล็ด 10-12 กิโลกรัม ก่อนปลูก และระหว่างปลูกใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์
 
การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยดอัตโนมัติ ให้น้ำตามความต้องการใช้น้ำของถั่วเหลือง ลดการใช้เชื้อเพลิงจากการใช้เครื่องพ่นยาแบบสะพายหลัง ส่งผลให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระหว่างการปลูกมีการใช้โดรน พ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูถั่วเหลือง ทำให้เกษตรกรมีความปลอดภัยจากการลดการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรโดยตรง ร่วมกับการใช้ชีวภัณฑ์หรือจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูถั่วเหลือง ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา แอสเปอเรลลัม และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส หรือ บีเอส
 
โดรนยังใช้ประเมินสุขภาพถั่วเหลือง โดยกล้องถ่ายภาพแบบมัลติสเปกตรัมบินทั่วแปลงถั่วเหลืองฝักสดจำนวน 4 ครั้ง ที่ระยะต่าง ๆ คือ 7-10 วันหลังงอก 15-20 วันหลังงอก 30-35 วันหลังงอก และ 60-65 วันหลังงอก เพื่อเก็บบันทึกภาพ ช่วยในการวิเคราะห์สภาพของดินปลูก สุขภาพความสมบูรณ์ของผลผลิตถั่วเหลือง รวมถึงการคาดการณ์ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมและผลผลิตที่ได้ และการเก็บเกี่ยวใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องปลูกและเครื่องเกี่ยวนวด ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลือง ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงานไม่น้อยกว่า 67 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ส่งผลให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
 
คุณศรุต ผ.อ.สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน หวังว่าโมเดลการปลูกถั่วเหลืองลดโลกร้อน ที่เป็นความร่วมมือกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่นำไปปรับใช้ได้ ช่วยยกระดับผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศให้สูงขึ้น และเป็นแนวทางในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ เพื่อรองรับการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู