ข่าวสาร
F30 ปรับปรุงพันธุ์พืช
26 มกราคม 2567
“กวก. พิจิตร 2” มะนาวพันธุ์ดี เมล็ดน้อย เปลือกบาง โตไว ให้ผลผลิตเร็ว ตอบโจทย์โดนใจเกษตรกร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ “มะนาวพิจิตร 1” ให้มีความทนทานต่อโรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว เนื่องจากเชื้อสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช ทำให้ต้นทรุดโทรม ใบร่วง ผลผลิตลดลง และไม่มีคุณภาพ ทำให้มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรทั่วประเทศดีมาก อย่างไรก็ตามแม้จะสามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคแคงเกอร์ให้เกษตรกรได้ แต่เนื่องจากมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ยังมีจำนวนเมล็ดต่อผลมาก โดยเฉลี่ย 29.4 เมล็ด ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรจึงได้ปรับปรุงมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยการฉายรังสีแบบแกมมา เพื่อให้มีเมล็ดน้อย เปลือกบาง การเจริญเติบโตดี ผลผลิตสูง เหมาะสมสำหรับการบริโภคและปลูกเป็นการค้าเพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

 


นางสาวมนัสชญา สายพนัส นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร นักวิจัยผู้ปรับปรุงพันธุ์ กล่าวว่า ได้นำต้นมะนาวพันธุ์พิจิตร 1 อายุ 3 เดือน หลังจากเสียบยอด นำไปฉายรังสีแกมมาปริมาณรังสี 5 ระดับ จำนวนระดับละ 10 ต้น หลังฉายรังสีนำไปปลูกลงแปลง ปล่อยให้กิ่งด้านล่างเจริญเติบโตประมาณ 5 ตา ใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ทำการตัดยอดกิ่งรุ่น M1V0 ปล่อยให้แตกกิ่งเพื่อเจริญเป็นรุ่น M1V1 (กิ่ง M1V1 คือกิ่งที่แตกมาจากกิ่งที่ฉายรังสี) เมื่อกิ่ง M1V1 เจริญแตกตาใหม่ ประมาณ 5 ตา ตัดกิ่งเพื่อให้แตกกิ่ง เป็นรุ่น M1V2 โดยตัดกิ่งจนถึงรุ่น M1V3 จากนั้นปล่อยให้กิ่งมีการเจริญเติบโต เมื่อมะนาวให้ผลผลิตทำการติดป้ายชื่อ แถวที่ ต้นที่ กิ่งที่และ ระดับรังสีซึ่งมีจำนวนกิ่งที่ให้ผลผลิต 249 กิ่ง คัดเลือกเหลือ 121 สายต้น ทำการคัดเลือกซ้ำโดยคัดเลือกจากการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตแต่ละสายต้น ตามหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ จำนวนเมล็ดน้อยกว่า 15 เมล็ดต่อผล เปลือกบาง ให้ผลผลิตและคุณภาพดี จำนวน 24 สายต้น โดยดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปี 2557-2561 ปลูกเปรียบเทียบ มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 ที่ผ่านการฉายรังสี 24 สายต้น มีพันธุ์พิจิตร 1 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ

ปี 2562-2564 ปลูกทดสอบ 4 สถานที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย แปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร และแปลงเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี พบว่ามะนาวสายต้น PCT1-07-01-4 ที่ระดับรังสี 108 เกรย์ การเจริญเติบโตดี เมล็ดน้อย เปลือกบาง กว่าพันธุ์พิจิตร 1 จึงเสนอขอรับรองพันธุ์มะนาวสายต้น PCT1-07-01-4 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้จากการฉายรังสีแกมมาแล้วคัดเลือกลักษณะเด่นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นพันธุ์แนะนำโดยใช้ชื่อว่า “มะนาวพันธุ์กวก.พิจิตร 2” โดยผ่านการพิจารณารับรองพันธุ์ในเดือนสิงหาคม 2566 มีลักษณะเด่น เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตเร็ว เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 8-12 เดือน จำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 1.97 เมล็ด น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ที่มีจำนวนเมล็ดต่อผลเฉลี่ย 24.7 เมล็ด ความหนาเปลือกเฉลี่ย 1.78 มิลลิเมตร น้อยกว่าพันธุ์พิจิตร 1 ความหนาเปลือกเฉลี่ย 2.36 มิลลิเมตร และให้ผลผลิตดกเมื่ออายุต้น 3 ปีขึ้นไปเฉลี่ย 1,050 กิโลกรัมต่อไร่

“ศวพ.พิจิตรทำการปรับปรุงพันธุ์มะนาวพันธุ์พิจิตร 2 โดยการฉายรังสีให้มีเมล็ดน้อยและเปลือกบางลงในขณะที่ยังคงทนทานต่อโรคแคงเกอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภคมะนาว โดยใช้เวลาในการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักวิชาการนานถึง 12 ปี ภายหลังจากได้รับการรับรองพันธุ์แล้ว ศวพ.พิจิตร ได้นำกิ่งพันธุ์มะนาว กวก.พิจิตร 2 ออกแจกจ่ายให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อเพราะจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะนาวมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือจะนำไปปลูกบริโภคในครัวเรือนก็ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะปลูกง่ายเหมือนพันธุ์พิจิตร 1 ผู้ที่สนใจกิ่งพันธุ์มะนาวพันธุ์พิจิตร 2 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โทรศัพท์ 0 5699 0035” นางสาวมนัสชญา กล่าว


แหล่งที่มา

กรมวิชาการเกษตร
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู