รายงานจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเป็นประธานมีการพิจารณามาตรการพักหนี้เกษตรกร เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี โดยในส่วนของลูกหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณหมื่นล้านบาท
สำหรับวงเงินการพักหนี้ของเกษตรกรแต่ละรายนั้น ครม.เห็นชอบที่ 3 แสนบาทต่อรายก่อน อย่างไรก็ตามได้มีการทักท้วงจากในที่ประชุม ครม.และตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะขยายเป็น 5 แสนบาทต่อราย ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการรับข้อสังเกตไปพิจารณาอีกครั้ง
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและหรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566)
ระยะเวลา ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567 (1 ปี)
วิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567
งบประมาณ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรรอบนี้ จะต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา โดยไม่ใช่แค่พักหนี้ แต่จะมีการเข้าไปช่วยฟื้นฟูเกษตรกรด้วย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เกษตกร เมื่อออกจากโครงการไปแล้ว โดยเกษตรกรที่ต้องการพักชำระหนี้ จะต้องติดต่อที่ ธ.ก.ส.เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ว่าจะเข้าโครงการในรูปแบบใด