ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
25 กันยายน 2566
หนุ่มกรีดยางนราธิวาส ผันตัวเลี้ยงชันโรงสร้างรายได้จากน้ำผึ้งอย่างงาม

นายซุลกีฟลี อาแว ใช้พื้นที่บริเวณรอบบ้านสร้างรายได้จากการเลี้ยงชันโรงจาก 10 ลัง ปัจจุบันขยายไปทั่วบริเวณบ้าน ซึ่งมีเกือบ 100 ลัง จนสร้างรายได้ต่อยอดขายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน พร้อมการันตีคุณภาพของชันโรง (สายพันธุ์ฮิตาม่า) และได้ชนิดน้ำผึ้งดอกไม้ป่าและสวนเกษตรผสมผสาน จาก 1. ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จากจังหวัดเชียงใหม่ และ 2. การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งยุค 4.0 (Smart Bee) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วน 3. เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค จึงได้จดทะเบียนพาณิชย์เพื่อจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรง และกล่องเลี้ยงชันโรง พร้อมจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร (ทุกชนิด) ที่สำคัญ และยังได้รับประกาศนียบัตร YSF DOAE จากกรมส่งเสริมการเกษตร ประเมินและผ่านคุณสมบัติเป็น Young Smart Farmer ปี 2566

ทั้งนี้ นายซูลกีฟลี เล่าว่า การเก็บน้ำผึ้งเดือนละครั้ง แต่เราก็ต้องดูที่ดอกไม้ป่าด้วย ดอกไม้ป่าเยอะเราก็ได้เยอะ ถ้าดอกไม้ป่าน้อย เราก็เก็บ 2 เดือนครั้ง เหมือนกับว่าผึ้งได้ออกไปหาน้ำหวานของดอกไม้ป่า และนำน้ำหวานกลับมาเข้าในลัง แล้วมาผลิตน้ำผึ้งตามกระบวนการของมันเอง ดอกไม้ป่าเป็นแหล่งอาหารของผึ้ง  1 ลังได้น้ำผึ้งประมาณ 1 กิโลกรัม ขายใส่ขวดเล็กประมาณ 45 มิลลิลิตร ราคา 100 บาท ขวดขนาดกลาง 150 มิลลิกรัม จะตกอยู่ที่ 300 บาท ขวดใหญ่ 750 มิลลิลิตร ราคา 1,500 บาท แต่ละเดือนถ้าขายได้ 10 ขวดใหญ่ ก็ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท 1 ปี ก็ได้ 100,000 กว่าบาท

โดยมีคนมารับไปขายเอง ส่งไปกรุงเทพฯ นครราชสีมา และแถวภาคเหนือที่เชียงใหม่ อาชีพหลักคือกรีดยาง อันนี้เป็นรายได้เสริมที่ต่อยอดได้ดีมาก เลี้ยงในสวนมะพร้าวดีมาก เพราะลูกค้าที่ซื้อไปที่เราขายผึ้งชันโลงในกล่อง แถวภาคเหนือภาคกลางส่วนใหญ่เอาไปเลี้ยงในสวนผลไม้ ลำไย มะม่วง เพราะผึ้งชันโลงจะได้ผสมเกสรจากดอกและเอาน้ำหวานไปผลิตเป็นน้ำผึ้ง สวนปาล์มน้ำมัน สวนยาง สวนมะพร้าวทำได้หมด อยู่ที่ว่าเราขยัน ไม่ต้องให้อาหาร รอเก็บน้ำหวานอย่างเดียว ก็ขอเชิญชวนให้อนุรักษ์ผึ้งชันโรง ให้เลี้ยงให้ลูกหลาน เหลนสืบทอดต่อไป

สำหรับจุดเด่นของน้ำผึ้งชันโรง นะห์ลู บูโด คือเป็นน้ำผึ้งจากดอกเสม็ดขาว ซึ่งดอกเสม็ดขาวมีคุณค่าทางอาหารมากมาย น้ำผึ้งจะเป็นสีเขียวมรกต สรรพคุณต้านมะเร็ง รักษาอันไซเมอร์ และสารที่ป้องกันการกระทบกระเทือนทางสมองตามผลงานวิจัยสนับสนุน

ซึ่งวิธีการทำลังเลี้ยงผึ้งชันโรง เริ่มจากการนำต้นไม้ที่ไม่ใช้แล้วตัดเป็นฐานเพื่อใช้เป็นเสาลังเลี้ยงผึ้งชันโรง โดยตัดเป็นท่อน ๆ และเลือกต้นที่ตรงกลางเป็นโพลง หรือมีรูเพื่อเป็นเส้นทางและประตูให้ผึ้งชันโรงออก และเข้า ไปยังถาดผลิตรังผึ้งชันโรง และผลิตน้ำผึ้งได้ภายในถาดที่เราจัดเตรียมไว้ วางให้สูงประมาณ 1 เมตร หรือให้ได้ระยะที่สะดวกและง่ายต่อการเก็บน้ำผึ้ง และเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นมาทำลายรังผึ้งได้ จากนั้นรองด้วยถาดรองน้ำผึ้งที่ทำจากแผ่นไม้สดที่ตัดมาต้นไม้ แล้วเลื่อยเป็นแผ่น ๆ ประกอบเป็น 4 เหลี่ยม เจาะรูตรงกลาง และวางให้ตรงกับฐานหรือเสา เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างประตูทางเข้าจากเสามาถึงถาดรองน้ำผึ้ง และในการผลิตน้ำผึ้งชันโรง เราจะไม่ใช้ไม้ที่มาจากโรงไม้ หรือไม้ที่เคลือบสารเคมีต่าง ๆ

ก่อนจะนำเกสร ซึ่งเป็นอาหารของผึ้งชันโรงมาวางเพื่อเป็นตัวล่อผึ้งชันโรงให้เข้ามาผลิตน้ำผึ้งตามกระบวนการ โดยผึ้งชันโรงจะนำน้ำหวานจากเกสรมาผลิตเป็นน้ำผึ้ง และขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนฝาด้านบนของลังเลี้ยงผึ้งชันโรง จะใช้ถุงพลาสติกปิดไว้เพื่อป้องกันน้ำฝน ส่วนชั้นที่ 2 จะเป็นฝาไม้ปิดด้านบนสำหรับป้องกันการเจือปนและการถูกรบกวนจากภายนอก เพื่อให้ได้น้ำผึ้งที่มีคุณภาพ บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากผึ้งชันโรงเข้าอาศัยภายในได้ 5-6 เดือน เราจะสามารถเก็บน้ำผึ้งมารับประทานและขายได้ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อลัง

การเก็บของครั้งถัดไป ก็จะเก็บเดือนละครั้ง และเก็บได้ตลอดจนกว่าลังเลี้ยงผึ้งชันโรงจะผุพัง จากนั้นจึงย้ายผึ้งชันโรงไปเลี้ยงในลังใหม่ต่อไป ส่วนปริมาณน้ำผึ้งชันโรงขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความสมบูรณ์ของป่า สิ่งแวดล้อม ช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายนเป็นช่วงฤดูร้อน จะได้น้ำผึ้งชันโรงมากกว่าช่วงฤดูฝน เพราะน้ำหวานจากดอกไม้จะโดนชะล้างไปกับน้ำฝน

เปิดสอนให้สำหรับผู้สนใจที่ขยันมาเรียนรู้ ฟรี ติดต่อ บ้านสวนชันโรงโตะปูเตะ และสวนเกษตรผสมผสาน เพจเฟซบุ๊ค : NAHLU BADO (นะห์ลู บูโด) ติดต่อสอบถาม และปรึกษา เฟส.ซูลกีฟลี โตะปูเตะ โทร. 09 8208 9188

ดูคลิปได้ที่ https://www.facebook.com/chaidantainews/videos/280385701437523


แหล่งที่มา

สยามรัฐ
https://siamrath.co.th/n/479550
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู