ข่าวสาร
Q70 การแปรรูปวัสดุเหลือใช้เกษตร
5 กันยายน 2566
กรอ. จับมือ เกษตร ตั้ง กก.ร่วมเข้มเกณฑ์นำกากอุตฯ ผลิตปุ๋ย ลุยเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ถึงการใช้ประโยชน์วัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน ที่สำนักอธิบดี กรมวิชาการเกษตร

ทั้งนี้ จากการประชุมเบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายโรงงานที่อนุญาตนำกากอุตสาหกรรมไปทำปุ๋ยหรือสารปรับปรุงคุณภาพดิน ซึ่งอยู่ในกลุ่มการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste Management Codes) รหัส 083 โดยอนุญาตเฉพาะวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เป็นวัสดุอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ สามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น เศษชิ้นส่วนพืชและสัตว์ ขี้เถ้าแกลบ กากกาแฟ กากยีสต์ กากกรองเบียร์ ดินฟอกสีน้ำมันพืช เป็นต้น โดยจะต้องไม่ปนเปื้อนสารประกอบปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน สารยับยั้งจุลชีพ สารกำจัดแมลงศัตรูหรือโรคพืชและสัตว์ อีกทั้ง ต้องเป็นกากตะกอนชีวภาพจากอุตสาหกรรมอาหารหรือเกษตรแปรรูป เยื่อและกระดาษ

สำหรับวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี จำเป็นต้องหาวิธีจัดการอื่นที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารที่ไม่พึงประสงค์ไปยังดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ตลอดจน เพื่อป้องกันการสะสมสารเคมี สารอนินทรีย์ในดิน น้ำใต้ดิน เกินขีดจำกัดที่พืชจะนำไปใช้ประโยชน์ เกิดผลกระทบต่อพืช รวมถึงกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร และการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ในระยะยาว

นอกจากนี้จากการร่วมหารือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมวิชาการเกษตร ตกลงร่วมมือกันเสนอตั้งคณะกรรมการวิชาการร่วมกัน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำกากอุตสาหกรรมไปผลิตเป็นปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน โดยจะมีคำสั่งแต่งตั้งนักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม (สภาอุตสาหกรรม) กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.ซึ่งดูแลสลากสารปรับปรุงคุณภาพดิน)

นายจุลพงษ์ กล่าวย้ำว่า การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด/กำจัดวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สอดคล้องกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุล เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) การปลดปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ.2065) ตามนโยบายของรัฐบาล


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู