ข่าวสาร
P10 ทรัพยากรน้ำ
25 สิงหาคม 2566
กรมน้ำบาดาลเร่งเติมน้ำใต้ดินเสริมทรัพยากรน้ำบาดาลให้มีใช้อย่างยั่งยืน

สถานการณ์ทรัพยากรน้ำของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ทำให้ปริมาณการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะ “น้ำบาดาล” เนื่องจากมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในปริมาณที่เกินสมดุล ประกอบกับปริมาณการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลตามธรรมชาติลดลง

ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ด้วย “การเติมน้ำใต้ดิน” โดยในปี 2550 เริ่มดำเนินการเติมน้ำใต้ดินหลายรูปแบบทั้งในระดับลึกและระดับตื้น ต่อมาปี 2563 เริ่มขยายผลและขับเคลื่อนภารกิจการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นไปยังหน่วยงานส่วนท้องถิ่นและประชาชนที่สนใจ ผ่านการเผยแพร่องค์ความรู้และก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเป็นต้นแบบ 1 ตำบล 1 แห่ง และนำร่องโดยก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเป็นกลุ่มบ่อ  ปัจจุบันมีระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นรวมทั้งสิ้น 3,010 แห่ง (พ.ศ. 2563-2566) การเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเป็นการนำน้ำที่มีมากเกินความจำเป็นในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลในบริเวณพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นที่เหมาะสมจะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ สามารถทำได้หลากหลายวิธี ดังนี้
1. ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านบ่อวงคอนกรีต เป็นการรวบรวมน้ำที่ท่วมหลากในช่วงฤดูฝนหรือน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินอื่น ๆ เพื่อเติมลงสู่บ่อวงคอนกรีตที่เป็นบ่อเติมน้ำ โดยให้ผ่านการกรองจากระบบกรองกรวดทราย เพื่อลดการเกิดการอุดตันภายในบ่อเติมน้ำใต้ดิน

2. ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นผ่านสระ  โดยการขุดสระให้ลึกถึงชั้นทรายแห้ง เพื่อเพิ่มอัตราการซึมของน้ำ โดยสระจะทำหน้าที่เหมือนแก้มลิงที่ช่วยกักเก็บและชะลอน้ำให้มีเวลาซึมผ่านลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ซึ่งน้ำที่เติมผ่านระบบสระเติมน้ำจะลงไปกักเก็บไว้ในชั้นน้ำใต้ดินเปรียบเสมือนแก้มลิงใต้ดินด้วยเช่นกัน

3. ระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นด้วยระบบหลังคาน้ำฝนผ่านบ่อวงคอนกรีต เป็นการรวบรวมน้ำฝนจากหลังคาบ้านเรือนและอาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยทำการต่อท่อรวบรวมน้ำฝนจากหลังคาลงสู่บ่อวงคอนกรีตที่เป็นบ่อเติมน้ำ

ปัจจุบันพื้นที่ที่มีการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเป็นจำนวนมาก จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนหรือพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนบนและแอ่งเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย  นครสวรรค์ชัยนาท อ่างทองและสิงห์บุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสูบใช้น้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังซึ่งพึ่งพาแหล่งน้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่ จึงก่อให้เกิดปัญหาการลดระดับน้ำบาดาลอย่างรวดเร็วและเป็นบริเวณกว้าง

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงเข้าไปดำเนินการก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นเพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของระดับน้ำบาดาลระดับตื้นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าน้ำบาดาลไม่ได้รับการฟื้นฟูก็จะสูญเสียชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นไปอย่างถาวร การก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นยังเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและช่วยให้ประชาชนมีแหล่งน้ำบาดาลระดับตื้นไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงที่ขาดแคลนน้ำด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่ องค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินและชุดแผนที่ความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดินของประเทศไทย เพื่อแจกจ่ายไปยังท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ท้องถิ่นได้รับทราบและเป็นแนวปฏิบัติในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงการเผยแพร่ขยายผลแนวทางการเติมน้ำใต้ดินตามหลักวิชาการ และจะเป็นอีกวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทา ปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมขัง เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศที่พึ่งพาน้ำบาดาล 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติมน้ำใต้ดินจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องคำนึงเสมอว่าน้ำที่ใช้เติมต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษหรือสารปนเปื้อน และวัสดุที่ใช้จะต้องเป็นวัสดุธรรมชาติ ไม่นำขยะมูลฝอยมาถมไว้ในบ่อเติมน้ำโดยเด็ดขาดสู่การบริหารจัดการและฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติมน้ำใต้ดิน ติดต่อสำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โทร. 0 2666 7293

สามารถติดตามต่อได้ที่ 


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู