ข่าวสาร
P01 การอนุรักษ์ธรรมชาติ/ที่ดิน
24 มีนาคม 2566
กรมวิชาการเกษตร จับมือเอกชน วิจัยชุดข้อมูลลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจ

กรมวิชาการเกษตรเตรียมขยับตัวเป็นองค์กรรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อน ภายใต้นโยบายของรัฐบาลไทยที่วางเป้าหมายจะลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร (กวก.) ให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร จึงเตรียมพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้เพื่อปรับบทบาทขึ้นเป็นองค์กรรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ลงนามความร่วมมือ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)ในการพัฒนาบุคลากรให้รองรับพันธกิจดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ ตามนโยบาย Bio-Circular Green Economy (BCG) การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่เป้าหมาย Net Zero ซึ่งในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP 26 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065

ล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ร่วมมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ม.เกษตรศาสตร์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) องค์กรความร่วมมือของประเทศเยอรมนี และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ประสานการทำงานร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด บริษัท วรุณา ประเทศไทย จำกัด บริษัท สยาม ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด ฯลฯ ศึกษาหารูปแบบหรือแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกในพืชเศรษฐกิจ นำร่องในพืชเป้าหมาย คือ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง

"จะได้รูปแบบวิธีการหรือแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะได้ Baseline ของพืชแต่ละชนิด แปลงต้นแบบในการจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ สำหรับให้ผู้สนใจเข้าสู่โครงการ T-VER เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิต ส่งผลให้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรของไทยลดลง และเกษตรกรจะมีคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินการเกษตรที่ดีที่เหมาะสม คือมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีหน่วย เป็นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร บุคคล งานบริการ หรือจากการผลิตของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และขณะนี้กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดตั้ง กองพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับภารกิจใหม่" นายระพีภัทร์ กล่าว


แหล่งที่มา

นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2566
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู