ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
20 มีนาคม 2566
ตั๊กแตนโมไข่ เลี้ยงไว้กินหญ้า ปิ๊งไอเดียสร้างฟาร์มโปรตีนทางเลือก

คุณสัมพันธ์ พิพัฒน์วรการแห่ง Freshville Farm เพื่อนเกษตรเฟรชวิลล์ฟาร์ม ผู้จุดกระแสการเลี้ยงตั๊กแตนในเมือง บอกว่าพอเห็นข้อมูลว่า อนาคตจะมีการบริโภคแมลงสูงถึง 3 ล้านตันต่อปี มูลค่าตลาดกว่า 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแมลงอันดับ 1 ในตลาดโลก คือ “ตั๊กแตนปาทังก้า” ที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจ รวมถึงการนำเข้าแมลงปีละกว่า 200 ตันเข้ามาในบ้านเรา ก็ตัดสินใจเลี้ยงตั๊กแตนทันที แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความบังเอิญก็ตาม

“ตอนนั้นผมเลี้ยงไว้ดูเล่น กะเอาไว้กินหญ้า เพราะตั๊กแตนกินหญ้าเยอะมาก ปริมาณเท่าน้ำหนักตัวต่อวัน กินเสร็จถ่ายออกมาก็ได้ปุ๋ยไปใช้ต่อ พอเลี้ยงไปสักพักก็ถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่าไปเตะตาเจ้าของบริษัทโปรตีนผงส่งออก เขาก็ติดต่อมาขอซื้อตั๊กแตนเดือนละ 2-3 ตันได้ไหม ซึ่งผมยังเลี้ยงไม่กี่ร้อยตัวเอง พอเช็กข้อมูลก็พบว่ามีการรับซื้อตั๊กแตนเข้าห้องเย็นจริง รับซื้อกัน กก.ละ 300 กว่าบาท ขายปลีก 500 กว่าบาท หากทอดแล้วตกเป็นพันบาท/กิโลกรัม”

ตั๊กแตนที่นำมาเลี้ยง เรียกว่า “ตั๊กแตนปาทังก้าโมไข่” มีวงจรชีวิตในการสืบพันธุ์รวดเร็ว ไม่ส่งเสียงรบกวน เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา กินง่ายอยู่ง่าย อาหารคือหญ้าที่อาจต้องมีแหล่งอาหารในปริมาณมากเสียหน่อย แต่ไม่ต้องให้น้ำ และใช้เวลาเลี้ยงน้อย 30-35 วันแรก ขนาดตัว 3-4 ซม. 300-400 ตัวต่อ กก. ก็เก็บขายได้แล้ว แต่ที่คนต้องการมากเวลานี้ก็คือไข่ขีดละเป็นพันบาท ใช้เวลาเลี้ยง 40-45 วัน

การเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้าโมไข่ คุณสัมพันธ์ใช้คำว่า “ง่ายมาก” เริ่มต้นต้องมีกระชังเลี้ยง เย็บหกด้านแบบไม่มีทางเข้า คลุมไปถึงพื้น ป้องกันมดและแมลงอื่น ๆ ที่อาจมาทางดิน จากนั้นจึงกรีดกระชังเพื่อติดซิบ ควรเริ่มต้นเลี้ยงจากกระชังพ่อแม่พันธุ์ขนาด 2x2 เมตรก่อน เลี้ยงได้ 2,000 กว่าตัว ต้นทุนกระชังเลี้ยงขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่ไม่น่าเกิน 1,000 บาท ส่วนไข่ตั๊กแตนเริ่มต้นที่ 100 กรัม ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท เช่นกัน



ที่สำคัญกระชังเลี้ยงควรมีหลังคากันฝน เพราะตั๊กแตนไม่ชอบน้ำ แต่ชอบแสงแดด อุณภูมิที่เหมาะสม 38-40 องศาเซลเซียส ชอบเล่นแสงแดด ขณะที่อาหารคือ หญ้าชนิดต่าง ๆ อ้อย ข้าวโพด กล้วย ใบไผ่ ความต้องการแต่ละวันเท่ากับน้ำหนักตัว

ตรงนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับคนไม่มีแหล่งอาหาร แต่หากใครทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีพืชไร่เป็นแหล่งอาหารอยู่แล้วก็เหมาะที่จะทำเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือก นอกจากนี้คุณสัมพันธ์ยังผุดโครงการอำเภอละฟาร์มขึ้นมาส่งเสริมแก่ผู้สนใจ

“วันนี้แมลงกับคนไม่ใช่ศัตรูกัน วันนี้เราเป็นเพื่อนกับตั๊กแตน และเราจะเป็นเพื่อนกับพืชที่ปลูกด้วย เช่น แบ่งข้าวโพดให้ตั๊กแตนกิน แล้วเราก็จับตั๊กแตนขาย เพราะตั๊กแตนราคาดีกว่า ซึ่งความต้องการแหล่งอาหารที่พอเพียง ก็ทำให้เราอยากส่งเสริมให้เกิดฟาร์มตั๊กแตนอำเภอละฟาร์มขึ้น” คุณสัมพันธ์ทิ้งท้าย ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 09 9296 5656


แหล่งที่มา

เกษตรกรก้าวหน้า
https://www.facebook.com/agriculturemag
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู