ข่าวสาร
P01 การอนุรักษ์ธรรมชาติ/ที่ดิน
13 มีนาคม 2566
มะกันซื้อคาร์บอนเครดิตชาวนา จ.สุพรรณ ขายไร่ละ 500 บาท

เดินหน้าลดโลกร้อน เผยข่าวดีบริษัทสหรัฐประเดิมซื้อคาร์บอนเครดิตชาวนาไทยไร่ละ 500 บาท/ปี ภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA หรือปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง พร้อมประสาน GISTDA จัดทำโครงการ “ฟลัดทาวเวอร์” ด้วยระบบประเมินคาร์บอนเครดิตโดยใช้ดาวเทียม แต่ต้องใช้เงินตั้งเสา 8,000 ล้านบาท ประเดิมเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ยกเครื่องเป็น กรม Climate change

ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนได้ที่ประกาศเป้าหมายจะต้องปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2030 (2573) จากปัจจุบันที่ไทยเป็นประเทศมีการปล่อยคาร์บอน 0.8% ของโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยมีภาคพลังงานเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด รัฐบาลจึงตั้งเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และก้าวสู่การเป็น Net zero ในปี 2065 หรือเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ (เป็นกลางทางคาร์บอนปี 2065 และเป็น Net zero ในปี 2090)

โครงการ Thai Rice NAMA
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ทางกระทรวงดำเนินนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตลอดและมีความคืบหน้าไปมาก โดยได้มีการทบทวนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขาในอีก 2 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย สาขาพลังงานและภาคขนส่ง ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเพิ่มจาก 153 ล้านตัน เป็น 216 ล้านตัน, ภาคอุตสาหกรรมคงที่ 2.25 ล้านตัน, ภาคของเสีย 1.5 ล้านตัน ลดเพิ่มเป็น 2.6 ล้านตัน และภาคเกษตรที่เดิมไม่เคยตั้งเป้าหมายเลย ล่าสุดก็ได้มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน เนื่องจากภาคเกษตรมีการปล่อยมีเทนจำนวนมาก

จากการส่งเสริมให้มีการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) โดยเป็นการนำร่องทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำนาแปลงใหญ่ ปรากฏกลุ่มนาแปลงใหญ่เกษตรกรรุ่นใหม่เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี พื้นที่รวม 5,000 ไร่นั้น ขณะนี้โครงการดังกล่าวสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว

“โครงการ Thai Rice NAMA ผมรู้ดีที่สุด เพราะ 1 ในแปลงทดลองปลูกอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีอีก 4 จังหวัด คือ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง คือตอนข้าวตั้งท้อง เอาน้ำออกจากนาให้หมด นอกจากข้าวไม่ตายแล้ว ตรงกันข้ามยังให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 20-30% และใช้ปริมาณน้ำน้อยลงครึ่งหนึ่ง ลดพลังงานสูบน้ำทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือมีเทนที่เกิดขึ้นหายไป 70% ตอนนี้มีบริษัทอเมริกันมาซื้อคาร์บอนเครดิตแล้วจากชาวนาเดิมบางนางบวช ขายได้ 250 บาทต่อไร่ ปลูกปีละ 2 รอบ ชาวนาได้เงิน 500 บาทต่อไร่ เรื่องนี้ไม่ใช่ความฝัน ต่อไปเรากำลังจะอัพเกรด Thai Rice ECF ด้วยการขอสนับสนุนเงินจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ขยายไปเป็น 21 จังหวัด ตั้งเป้าลดก๊าซมีเทนให้ได้ 2.4 ล้านตันคาร์บอน” นายวราวุธกล่าว

ตั้งเสาประเมินคาร์บอน สำหรับภาพรวมของตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (TVER) ซึ่งได้มีการวางกลไกการประเมินและซื้อขายคาร์บอนไว้ ขณะนี้ได้มีผู้สมัครเข้าร่วมแล้วเป็นจำนวน 141 โครงการ คิดเป็นปริมาณ 13.9 ล้านตันคาร์บอน และได้มีการโอนคาร์บอนจริงแล้วประมาณ 3,000 ตันคาร์บอน และตอนนี้กำลังยกระดับการพัฒนาสู่ Premiun TVER เพื่อทำให้มาตรฐานของประเทศไทยเท่ากับมาตรฐานสากล

“เรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้วางเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2565 เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี และล่าสุดปลายปี 2565 ได้มีการร่วมลงนามกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดตั้ง คณะกรรมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จัดทำแพลตฟอร์ม Carbon Credit Exchange Platform”

พร้อมประสานกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ในการจัดทำระบบประเมินคาร์บอนเครดิตโดยใช้ดาวเทียม ซึ่งพบว่ามีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกกว่า “ฟลัดทาวเวอร์” ที่จะสามารถมอนิเตอร์การเกิดคาร์บอนได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเท่าที่ประเมินคร่าว ๆ หากต้องการมอนิเตอร์พื้นที่ทั่วประเทศ 323 ล้านไร่ จะต้องมีการลงทุนติดตั้งเสาจำนวน 1,000 กว่าต้น ต้นทุนต้นละ 7-8 ล้านบาท เท่ากับจะใช้เงินลงทุน 7,000-8,000 ล้านบาท ก็จะสามารถมอนิเตอร์ได้แบบเรียลไทม์ ว่าเกิดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์มาจากไหน ปริมาณเท่าไหร่

นายวราวุธกล่าวว่า อีกด้านหนึ่งพบว่ามีภาคเอกชนที่เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยคาร์บอน เทคโนโลยีสำหรับกักเก็บคาร์บอน (Carbon Captuer Storage : CCS) และการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนที่กักเก็บไว้ (Carbon Capture Utilization : CCU) ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมีส่วนสำคัญในการดำเนินการตลาดในแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

หลักการสำคัญจะต้องเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการกักเก็บก่อน จากนั้นต้องจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเริ่มลงทุน ซึ่งในงาน PTT GROUP Tech & Innovation Day ทำให้ทราบว่า ทาง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในแหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะสามารเก็บได้ 1 ล้านตัน ทางกระทรวงได้ประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาออกมาตรการเพื่อสนับสนุนเอกชนในด้านนี้

สำหรับเอกชนที่สนใจจะลงทุนพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ได้มีการเตรียมกองทุนที่จะสนับสนุนชื่อว่า ThaiCi มีงบประมาณ 4.4 ล้านยูโร ซึ่งประเทศที่พัฒนาต่าง ๆ ได้หารือกันถึงข้อสรุปการสร้างกองทุนลอสแอลดาเมจฟันด์ เพื่อเข้ามาให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการปรับตัว

สำหรับกลไกระยะยาวนั้น นายวราวุธได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ซึ่งร่างเบื้องต้นเสร็จแล้ว แต่เนื้อหาสาระจะเป็น “ภาคสมัครใจ” ซึ่งในทางปฏิบัติอาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร ดังนั้นทางกระทรวงจึงได้นำกลับมาแก้ไขใหม่ ให้เป็น “ภาคบังคับ” ซึ่งเดิมวางแผนจะให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ตอนนี้คงต้องรอรัฐบาลชุดต่อไปนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงปลายปี 2566

ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปรับบทบาทหน้าที่ของ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือกรม Climate Change ในเดือนเมษายนนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานของหน่วยงานให้เข้ากับภารกิจ โดยกรม Climate Change ยังคงใช้งบประมาณที่มีอยู่เดิม 460 ล้านบาท ไม่มีการเพิ่มบุคลากร ใช้เจ้าหน้าที่เดิมจำนวน 545 คน


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู