ข่าวสาร
F08 ระบบการปลูกพืช
10 มีนาคม 2566
พัฒนาเกษตรอัจฉริยะ DSmart Farming ผลงาน วช.-มธ. ใช้งานจริงหลายจังหวัด ลดน้ำปลูกพืชได้กว่า 40%

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้มากขึ้นและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ล่าสุดได้สนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ "การพัฒนาเทคโนโลยีการให้น้ำแบบอัจฉริยะเพื่อการผลิตพืชผักอินทรีย์มูลค่าสูงเชิงพาณิชย์แบบมีส่วนร่วมกับชุมชนเกษตรกรรายย่อย" และระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและพัฒนาภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พัฒนาขึ้น มี รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นหัวหน้าโครงการ

รศ.ดร.ดุสิต กล่าวว่า ระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อการเรียนรู้ทุกช่วงวัยฯ หรือที่เรียกว่า DSmart Farming เป็นการต่อยอดนวัตกรรมที่เน้นการสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและเกษตรกรรุ่นใหม่โดยนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นนี้ จะมีซอฟต์แวร์ที่จำเพาะและมีฐานข้อมูลที่ดีทำให้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับระบบการผลิตพืช สมุนไพร เห็ด ปศุสัตว์ สัตว์น้ำ และแมลงเศรษฐกิจ ช่วยเพิ่มผลผลิตให้คุ้มค่าต่อพื้นที่ และสามารถแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ได้ ทำให้สามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ดุสิตกล่าวต่อว่า DSmart Farming เป็นระบบที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพืชที่แท้จริง ได้แก่ ความต้องการธาตุอาหารในดิน ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ความต้องการน้ำ ความต้องการแสง รวมทั้งอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชสามารถควบคุมสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน สามารถกดดูข้อมูลย้อนหลังได้ 1 ปี และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ปริมาณความต้องการปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดได้ ช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในระบบการผลิตพืชได้ถึง 41-60% ประหยัดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ถึง 20-29%

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการทดสอบการใช้งานจริงแล้วในพื้นที่ จ.สระแก้ว ลพบุรี และเชียงราย โดยพบว่า ช่วยตอบโจทย์เกษตรกรในเรื่องของพืชเน่าเสียเพราะให้น้ำเกินความต้องการ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย

 


แหล่งที่มา

นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 2 ก.พ. 2566 (กรอบบ่าย)
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู