ข่าวสาร
H50 ความผิดปกติของพืช
18 มกราคม 2566
อาการขาดอาหารของใบส้มโอในช่วงหน้าหนาว
สาระดี จาก "108 คำถามกับคำถามร้อยแปด" คำถามที่ 12 ของชุดที่ I (I -12/108)
"ว่าด้วยอาการขาดอาหารของใบส้มโอในช่วงหน้าหนาว"
 
 
ได้รับคำถามจาก คุณศุภเทพ ศรีสังข์ ส่งรูปของใบส้มโอมีลักษณะลายด่างเหลืองมาให้ช่วยวินิจฉัย แปลงส้มโอนี้อยู่ที่ อ.สามง่าม จ.พิจิตร เมื่อดูจากลักษณะอาการนี้ ชี้บ่งว่าเป็นอาการขาดธาตุแมงกานีส (Manganese, Mn)
 
 
อาการขาดธาตุ Mn นี้จะเกิดขึ้นที่บริเวณยอดอ่อนที่ผลิขึ้นมาใหม่ในตำแหน่งเดียวกันกับอาการขาดธาตุ Zn และ Fe ทั้ง 3 ธาตุเกิดขึ้นในตำแหน่งเดียวกันและสภาพดินที่มี pH 8 กว่าขึ้นไป ก่อให้เกิดความสับสนอย่างมากต่อการวินิจฉัยว่าขาดธาตุใดแน่
 
สำหรับกรณีนี้เห็นอาการขาดธาตุ Mn อย่างเด่นชัด โดยจะเกิดขึ้นกับใบที่เกิดใหม่ในระยะที่ใบขยายตัวสุดแล้ว ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้พบเห็นเป็นประจำในทุกแหล่งปลูก ยอดอ่อนที่ผลิขึ้นมาแล้วกระทบกับคลื่นของความหนาวจะพบอาการเช่นนี้ เป็นอาการขาดธาตุ Mn ตัวเดียว แม้ว่าดินจะมีปริมาณธาตุนี้เพียงพอ ไม่ได้ขาด และมีการใช้พ่นด้วยจุลธาตุก็ตาม ใบส้มโอที่ผลิแล้วกระทบกับคลื่นอากาศหนาวเย็นจะปรากฏอาการนี้เสมอ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ยอดที่ผลิขึ้นมาใหม่ก็ไม่มีการแสดงอาการขาด Mn แต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีงานวิจัยในส่วนนี้รองรับ จึงไม่อาจกล่าวถึงกลไกของการธาตุ Mn นี้ ได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากเอ็นไซม์ที่เกี่ยวของกับ Mn ต้องการอุณหภูมิที่อุ่นกว่าในการทำปฏิกิริยา
 
 
สำหรับเอกลักษณ์ของอาการขาดธาตุ Mn นี้ จะเห็นรอยด่างเหลืองเป็นรูปตัว U หรือรูปเกือบม้า (Horse-shoe shape) คร่อมเส้นใบแขนงที่สั้นกว่า เส้นใบแขนงที่แยกออกจากเส้นกลางใบ (Midrib) จะพบมีเส้นที่สั้นกว่าเรียงสลับกับเส้นที่ยาวกว่ซึ่งจะเห็นรูปตัว U สีเหลืองเรียงต่อๆกันทั้งสองด้าน อาการนี้หากเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถกลับคืนได้เนื่องจาก Mn จัดเป็นธาตุที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ (Immobile nutrients) จึงปรากฏอาการขาดธาตุที่ส่วนยอดอ่อนที่ผลิ

แหล่งที่มา

108 คำถามกับคำถามร้อยแปด
https://www.facebook.com/profile.php?id=100007578043321
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู