ข่าวสาร
Q60 การแปรรูปผลิตผลเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร
29 พฤศจิกายน 2565
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดปัตตาเวียและบรรจุภัณฑ์จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในการผลิตคิดค้นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดปัตตาเวียและบรรจุภัณฑ์จากของเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำในฤดูการเก็บผลผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่การปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ค้าสับปะรดต่างจังหวัดไม่เข้ามารับซื้อสับปะรดในจังหวัดระยอง ทำให้ปริมาณสับปะรดเกินความต้องการของโรงงานแปรรูปในพื้นที่ อีกทั้งโรงงานยังประสบปัญหาการส่งออกต่างประเทศ

จึงได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารฟังก์ชันมาประยุกต์ใช้ เสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่มีอยู่เดิม พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันคณะผู้วิจัยยังมีแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นแนวทางหนึ่งในการลดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมการทำการเกษตรของชุมชน โดยการนำใบสับปะรดมาผลิตเป็นกระดาษ ภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถนำไปสร้างรายได้ เพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของชุมชนตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กลไกสำคัญที่ช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตรคือ การนำมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยใช้องค์ความรู้ด้านคุณค่าทางอาหารมาช่วยเสริมศักยภาพการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่งสอดคล้องกับนวัตกรรมของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่ได้เล็งเห็นคุณค่าทางโภชนาการของสับปะรดปัตตาเวียในจังหวัดระยอง มาพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูปสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในชุมชนเพื่ออบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตลาด การสร้างตราสินค้า การทำตลาดออนไลน์ เพื่อให้ธุรกิจชุมชนสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง ยกระดับรายได้ครัวเรือนให้เศรษฐกิจของชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.พลอยทราย โอฮาม่า อาจารย์จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.จิตรลดา ชูมี ดร.เสาวณีย์ คำพันธ์ และ ผศ.ดร.รินรดา พัฒนใหญ่ยิ่ง ในการคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปสับปะรดปัตตาเวีย และบรรจุภัณฑ์จากใบสับปะรดเหลือทิ้ง โดยผลจากการวิจัยพบว่าสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียจัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีน้ำตาลซึ่งเป็นแหล่งพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น สารประกอบฟีนอลิกและเบตาแคโรทีน ซึ่งจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดไขมันส่วนเกินและคอเลสเตอรอล จึงได้นำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และคุณค่าทางอาหารมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ ไซรัปสับปะรด คีเฟอร์น้ำสับปะรด

ขณะเดียวกันเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามแนวคิด Zero-waste หรือ “ของเสียเหลือศูนย์” ทีมวิจัยยังได้นำวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการทำไซรัปมาต่อยอดแปรรูปเป็นแยมสับปะรด และคุกกี้ไฟเบอร์สับปะรด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ Food waste โดยเฉพาะแกนสับปะรดที่ปกติชาวบ้านจะทิ้งไป แต่จากการศึกษาพบว่ามีเอนไซม์โบรมีเลน ซึ่งมีสมบัติช่วยย่อยอาหาร เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนเหล่านี้ใช้วัตถุดิบธรรมชาติล้วน และไม่ใส่วัตถุกันเสีย ​นอกจากนี้ทีมวิจัยยังนำน้ำสับปะรดมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่ม “คอมบูชา” ที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย เป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมของผู้บริโภคปัจจุบัน สร้างความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน

สำหรับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ เปลือกมะพร้าว ชานอ้อย ฟางข้าว ทางทีมวิจัยได้มีการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีมาพัฒนาประยุกต์เพื่อผลิตกระดาษจากใยสับปะรด ซึ่งพบว่ากระดาษใยสับปะรดมีคุณสมบัติพิเศษคือ ความนุ่มเหนียว และทำได้บางกว่ากระดาษจากใยพืชชนิดอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานคราฟท์ และงานหัตถกรรมได้ดี และเมื่อนำไปอัดด้วยความร้อนจะได้ภาชนะและบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วนแนวทางในการขยายผลต่อยอด ซึ่งขณะนี้พื้นที่เป้าหมายในจังหวัดระยองที่กลุ่มเกษตรกรได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมสินค้าชุมชนจากผลิตภัณฑ์สับปะรดแปรรูปนี้คือ กลุ่มเกษตรกรทำไร่สับปะรดพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา กลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรดทางเกวียนอำเภอแกลง และวิสาหกิจชุมชนไร่บ้านอ้อ อำเภอปลวกแดง

นอกจากจะช่วยยกฐานะเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังมีการพัฒนาในเชิงพาณิชย์โดยร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดระยอง และสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง ที่จะนำแผนงาน องค์ความรู้ ผลสำเร็จของงานไปใช้ประโยชน์ในการสร้างนโยบายในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตรด้วยนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรตามนโยบาย BCG ก่อให้เกิดการลงทุน ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


แหล่งที่มา

ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/science/detail/9650000113378
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู