ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
28 พฤศจิกายน 2565
ดาหลา: จากพืชป่าสู่พืชเศรษฐกิจ

ดาหลา: จากพืชป่าสู่พืชเศรษฐกิจ

รู้จักดาหลา

ดาหลา หรือ Torch ginger, Ginger flower, Red ginger lily, Torch lily, Wild ginger, Combrang, Bunga kantan, Philippine wax flower

ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith วงศ์ Zingiberaceae

ถิ่นกำเนิด: มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย นิวกินี ดาหลาเป็นไม้ดอกไม้ประดับในเขตร้อน เป็นไม้ยืนต้นล้มลุก และเป็นพืชท้องถิ่นทางภาคใต้ของประเทศไทย

ลักษณะทั่วไป

ลำต้น: ลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ซึ่งจะเป็นที่เกิดของหน่อดอก และ หน่อต้น ลำต้นที่เห็นอยู่เหนือดินคือกาบใบที่ซ้อนกันแน่นคล้ายกาบกล้วย เรียกว่าลำต้นเทียม มีสีเขียวเข้ม สูง 2-3 เมตร ใบดาหลามีรูปร่างยาวรี กลางใบกว้างเรียวไปหาปลายใบและฐานใบ เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่างของใบ

ดอกดาหลา:  เป็นดอกช่อแบบ Head ประกอบด้วยกลีบประดับ มี 2 ขนาด คือ

  • กลีบประดับขนาดใหญ่อยู่ส่วนโคน มีความกว้าง 2-3 ซม. เรียงซ้อนกัน 25-30 กลีบ ภายในกลีบประดับขนาดใหญ่ส่วนโคนที่บานออกจะมีดอกขนาดเล็ก ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศอยู่จำนวนมาก
  • กลีบประดับขนาดเล็กอยู่ส่วนบนของช่อดอก มีความกว้าง 1 ซม. หุบและเรียงเป็นระดับอัดแน่นประมาณกว่า 300 กลีบ

ก้านช่อดอก: มีลักษณะแข็ง หนา และตรง ดาหลาออกดอกตลอดปี แต่จะให้ดอกมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม

 

การปลูกและการดูแลรักษาดาหลา (กรมวิชาการเกษตร)

  1. การเตรียมกล้า

1.1 การเพาะเมล็ด ฝักแก่ที่เปลือกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเขียวอมน้ำตาล หรือจากสีแดงเป็นแดงอมน้ำตาลและเมล็ดมีสีดำ แกะเมล็ดออกแล้วแช่น้ำ 1 คืน ล้างเมือกสีขาวออกให้หมด นำไปเพาะในดินผสมขุยมะพร้าวและทราย อย่างละเท่า ๆ กัน (อัตราส่วน 1:1:1) หรือขุยมะพร้าวและทราย อัตราส่วน 1:1 ประมาณ 3 เดือน ย้ายลงถุงชำและอีก 6 เดือน ย้ายลงแปลง

1.2 การแยกหน่อ แยกต้นที่มีหน่อ 1 หน่อ และต้นแก่อย่างน้อย 2 ต้น พร้อมเหง้าและรากติดมาด้วย ตัดส่วนของใบและต้นออกให้เหลือต้นอย่างน้อย 50 ซม. อาจชำในถุงก่อนหรือปลูกในแปลงโดยตรงได้

 

2.การปลูกดาหลา

ดาหลาปลูกได้ทั่วไปในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความชุ่มชื้นสูง น้ำไม่ขัง และมีร่มรำไร

ระยะปลูก 2x3 เมดร ขนาดหลุม 50x50x3 ซม. รองกันหลุมด้วยปุ๋ยคอก ใช้ต้น พันธุ์จำนวน 178 หน่อต่อไร่

 

  1. การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100 กิโลกรัม/ไร่/ปี ใส่ทุก ๆ 3 เดือน และใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่/ปี
  2. การจัดการวัชพืช ใช้วิธีการตัดด้วยมือหรือเครื่องจักร แต่หลังจาก 2 ปี ต้นโตเต็มที่ทรงพุ่มชิดกัน ก็จะไม่มีวัชพืชขึ้น
  3. การจัดการศัตรูพืช
  • โรคโคนเน่า ใบมีอาการเหี่ยว ที่โคนต้นและรากเน่า ต้องขุดต้นที่เน่าออก แล้วใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราราด ต้นที่เป็นโรคควรเผา
  • หนอนเจาะลำต้น หนอนทำลายโดยเจาะที่ลำต้น ทำให้ต้นตาย ไม่ได้ผลผลิต การป้องกันกำจัดโดยใช้ฟูราดานโรยรอบโคนต้น
  • หนอนม้วนใบ หนอนทำลายโดยม้วนใบเข้าหากัน กัดกินใบ การป้องกันกำจัดโดยฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล 30 กรัม ละลายน้ำ 20 ลิตร
  1. การให้น้ำ

การให้น้ำควรดน้ำให้ชุ่มวันละครั้งเมื่อเริ่มปลูก หลังจากตั้งตัวแล้วให้ห่างกันครั้งละ 2-3 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง

  1. การตัดแต่ง

ควรตัดต้นให้กอโปร่งและหลังจากปลูกได้ 5-6 ปี หน่อจะขึ้นกระจัดกระจายจึงควรรื้อแปลงแล้วปลูกใหม่

 

  1. การเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวเมื่อกลีบดอกชั้นนอกบาน ควรตัดดอกในช่วงเช้า โดยตัดให้ยาวชิดโคนต้น แล้วแช่น้ำทันที ระวังอย่าให้ดอกทับกันจะทำให้ดอกช้ำ

 

ชนิด/พันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์

พันธุ์ดาหลาหลักที่พบเห็นทั่วไปจะเป็นพันธุ์ดอกสีชมพูและพันธุ์ดอกสีแดง  นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์ลูกผสม ต่าง ๆ

พืชสกุลดาหลา (Etingera) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะของก้านดอกคือ

  1. Achasmas group: กลุ่มดาหลาที่มีก้านดอกสั้น ดอกอยู่ติดพื้นดิน
  2. Nicolaia group: กลุ่มดาหลาที่มีก้านดอกยาวโผล่พ้นเหนือพื้นดิน ซึ่งมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาสายพันธุ์ในเชิงการค้า

ชนิดที่น่าสนใจและใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการพัฒนาพันธุ์ดาหลาของศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา กรมวิชาการเกษตรในกลุ่มนี้ได้ 5 ชนิดคือ

  1. 1 ดาหลา กาหลา กะลา (Torch ginger)

ชื่อวิทยาศาสตร์Etlingera elatior (Jack) R.M.Sm. ชื่อพ้อง: Alpinia elatior Jack

ลักษณะทั่วไป: เป็นสายพันธุ์ดอกดาหลาที่พบเห็นและมีจำหน่ายทั่วไปในตลาด  ออกดอกตลอดปี มีความหลากหลายของสีดอกเช่น ขาว ชมพู แดง มีชนิดและลักษณะฟอร์มดอกที่แตกต่างกันจำนวนมาก ก้านช่อดอกค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักค่อนข้างมาก ใบมีสีเขียว ผลมีลักษณะเป็นผลกลุ่ม

 

   2.2  ดาหลากุหลาบสยาม กาหลอ ปุดกะลา (Rose of Siam)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera corneri ชื่อพ้อง: Etlingera terengganuensis saga. C.K.Lim & G.W.Theseira

ลักษณะทั่วไป: ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกเรียงซ้อนกันเหมือนกุหลาบ ออกดอกปีละครั้งในเดือนมีนาคม-เมษายน พบในพื้นที่ป่าบาลา-ฮาลา จ.ยะลา และนราธิวาส เป็นดาหลาชนิดที่หายาก

 

   2.3  ดาหลาดำ ดาหลาไฟ ดาหลาแดงป่า หรือดาหลาหอม (Black tulip torch ginger)

ชื่อวิทยาศาสตร์Etlingera fulgens (Ridl.) C.K.Lim

ลักษณะทั่วไป: ฟอร์มดอกลักษณะคล้ายถ้วย หลังใบสีม่วงแดง ออกดอกตลอดปี ดอกมีขนาดเล็ก เป็นดาหลาชนิดที่หายาก พบที่คาบสมุทรมลายู และภาคใต้ตอนล่างของไทย ขึ้นตามป่าดิบชื้น ระดับความสูง 200-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล

 

   2.4 ดาหลาเหลือง ดาหลาขี้แมว หรือกะลาขี้แมว (Malay rose)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera maingayi (Baker) R.M.Sm.   ชื่อพ้อง: Amomum maingayi (Baker)

ลักษณะทั่วไป: ต้นและดอกมีขนาดเล็ก และมีกลีบดอกสีเหลือง เป็นดาหลาชนิดที่หายาก ออกดอกปีละครั้งในเดือนมีนาคม-เมษายน พบในพื้นที่ป่าบาลา-ฮาลาจ.ยะลา และนราธิวาส

 

   2.5 ดาหลาถ้วย หรือกาหลอ (Malay rose, Pink porcelain ginger)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Etlingera venusta (Ridl.) R.M.Sm. ชื่อพ้อง: Hornstedtia venusta Ridl.

ลักษณะทั่วไป: ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกสองสี และลำต้นมีขนาดเล็ก เป็นดาหลาชนิดที่หายาก

 

คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชดาหลา เป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อปี พ.ศ. 2562 มี 4 พันธุ์ดังนี้

  1. พันธุ์ลูกผสมยะลา 1: ดาหลาลูกผสมสายต้น 8
  2. พันธุ์ลูกผสมยะลา 2: ดาหลาลูกผสมสายต้น 9
  3. พันธุ์ลูกผสมยะลา 3: ดาหลาลูกผสมสายต้น 2
  4. พันธุ์ลูกผสมยะลา 4: ดาหลาลูกผสมสายต้น 3

 

นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ดาหลาที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์และได้รับการรับรองพันธุ์ โดย สถาบันวิจัยพืชสวน ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังมีดังนี้

  1. ดาหลาพันธุ์ตรัง 1

รวบรวมจากจังหวัดยะลา การแตกกอให้หน่อใหม่ประมาณ 43 หน่อต่อกอต่อปี

ลักษณะเด่น: ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกสีขาว ให้ผลผลิตเฉลี่ย 39 ดอกต่อกอต่อปี (อายุ 3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน 7 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 30 50 และ 80 เปอร์เซ็นต์)

 

  1. ดาหลาพันธุ์ตรัง 2

รวบรวมจากจังหวัดยะลา การแตกกอให้หน่อใหม่ประมาณ 28 หน่อต่อกอต่อปี

ลักษณะเด่น:  ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกสีบานเย็น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 40 ดอกต่อกอต่อปี (อายุ 3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน 8 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 30 50 และ 80 เปอร์เซ็นต์ )

 

  1. ดาหลาพันธุ์ตรัง 3

รวบรวมจากจังหวัดยะลา การแตกกอให้หน่อใหม่ประมาณ 43 หน่อต่อกอต่อปี

ลักษณะเด่น:  ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกสีแดง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 106 ดอกต่อกอต่อปี (อายุ 3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน 8 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 30 แล 50 เปอร์เซ็นต์)  และมีอายุปักแจกันนาน 7 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 80 เปอร์เซ็นต์)

 

  1. ดาหลาพันธุ์ตรัง 4

รวบรวมจากจังหวัดกรุงเทพฯ การแตกกอให้หน่อใหม่ประมาณ 53 หน่อต่อกอต่อปี

ลักษณะเด่น: ลำต้นสีเขียว ใบสีเขียว ช่อดอกสีชมพู ให้ผลผลิตเฉลี่ย 136 ดอกต่อกอต่อปี (อายุ3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน 13 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 30 เปอร์เซ็นต์)  และอายุปักแจกันนาน 7-8 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 50 และ 80 เปอร์เซ็นต์)

 

  1. ดาหลาพันธุ์ตรัง 5

รวบรวมจากจังหวัดกาญจนบุรี การแตกกอให้หน่อใหม่ประมาณ 36 หน่อต่อกอต่อปี

ลักษณะเด่น: ลำต้นสีเขียวปนม่วงแดง ใบสีเขียวปนม่วงแดง ช่อดอกสีแดงเข้ม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 47 ดอกต่อกอต่อปี (อายุ 3 ปีหลังปลูก) อายุปักแจกันนาน14 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 30 เปอร์เซ็นต์) อายุปักแจกันนาน 11 วัน (เมื่อตัดขณะดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์)

 

การขยายพันธุ์

  1. การแยกหน่อ โดยแยกหน่อที่มีความสูง 60-100 ซม. มีใบ 4-5 ใบ แล้วนำไปชำในถุงพลาสติก 1 เดือน เพื่อให้หน่อแข็งแรง จึงนำไปปลูกนาน 6 เดือนจึงจะออกดอก
  2. การแยกเหง้า โดยแยกเหง้าที่เกิดใหม่ที่โคนต้น นำไปชำในแปลงเพาะชำ หลังจากปลูกประมาณ 1 ปี จึงจะออกดอก
  3. การปักชำหน่อแก่ โดยนำไปชำในแปลงเพาะชำให้แตกหน่อใหม่แข็งแรงแล้วค่อยย้ายปลูกลงแปลง
  4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
  5. การเพาะเมล็ด ใช้เวลานานกว่า 1 เดือนถึงจะงอก และมากกว่า 1 ปี จึงจะออกดอก

 

ปัจจัยสภาพแวดล้อม

  1. แสง ดาหลาเจริญเติบโตได้ดีในที่มีแสงแดดรำไร หรือที่ร่มไม้ยืนต้น ถ้าโดนแดดจัดเกินไป สีของกลีบประดับจะจางลง และทำให้ใบไหม้
  2. ฤดูปลูก สามารถปลูกดาหลาได้ทุกฤดูกาล หากมีน้ำเพียงพอ แต่ฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูฝน

 

การใช้ประโยชน์

  1. ไม้ตัดดอก/ ไม้ประดับ ดอกใช้ประดับสถานที่เพื่อความสวยงามหรือใช้ในการจัดสวน
  2. ประโยชน์ทางอาหาร สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของดาหลามาแปรรูปเป็นอาหารได้เช่น
  • ดอกดาหลา แปรรูปเป็นน้ำพริกดาหลา โดยแปรรูปเหมือนน้ำพริกปกติ แต่จะผสมกลีบดอกดาหลาเข้าไปด้วย โดยนำมาหั่นก่อนแล้วไปปั่น ใช้เนื้อใช้น้ำด้วย ทำให้มีกลิ่นดอกดาหลา
  • ดอกดาหลาชุบแป้งทอด
  • หน่อดาหลาใช้แกงเลียง แกงกะทิ
  • เหง้าดาหลาใช้ปรุงอาหาร
  • ข้าวยำสมุนไพรดอกดาหลา
  • เมล็ดดาหลานำไปสกัดน้ำมันได้
  • ชาสมุนไพรดาหลา/น้ำสมุนไพรดาหลา
  • น้ำดาหลาพร้อมดื่ม
  • ไวน์สมุนไพรดาหลา
  • ใช้รับประทานเป็นผักสด

นอกจากนี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาโดย อาจารย์อาภา วรรณฉวี ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มีการนำเสนองานวิจัยในปี 2552 เกี่ยวกับวัตถุดิบท้องถิ่นเกี่ยวกับดอกไม้ ผลการวิจัยพบว่ามีดอกไม้ 5 ชนิดที่โดดเด่นคือ ดอกดาหลามีสารต้านอนุมูลอิสระมากสุดถึง 84.72% ตามมาด้วยดอกเข็ม 83.97% กุหลาบมอญ 82.67% เกสรดอกบัว 73.23% และอัญชัน 26.33% เหมาะที่จะนำมาพัฒนาเข้าสู่รูปแบบสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 

  1. เส้นใยดาหลาและผลิตภัณฑ์แปรรูป
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ทำการส่งเสริมและเพิ่มมูลค่า วัสดุเหลือใช้ทางเกษตรของต้นดาหลาโดย การผลิตเส้นใยจากต้นดาหลาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าทอเฉพาะตัว มีความเหนียว ทนทาน สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูง
  • ผ้าไหมดาหลา จากหนอนไหมดาหลาโดย ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคายร่วมกับมหาวิยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

  1. ดาริกา ดาวจันอัด. (2563). ดาหลาจากไม้ตัดดอกมาเป็นพืชเส้นใย. น.ส.พ. กสิกร, 93 (3), 6-12.
  2. (2563). ดาหลาลูกผสมยะลา . น.ส.พ. กสิกร, 93 (5), 6-13.
  3. ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง. (2562). โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) ชูผลิตภัณฑ์เด่นน้ำพริกดาหลาสวรรค์ปลูกกาแฟส่งกลุ่มแม่บ้าน. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 31 (700) ,103-105.
  4. (2554). ขั้นตอนการปฏิบัติในการผลิตดาหลาของกรมวิชาการเกษตร. เอกสารการประชุมเสวนาเรื่อง 52 สัปดาห์ รู้แล้วรวยด้วยนวัตกรรมงานวิจัยเกษตรไทย. 8-9 เม.ย 2554. หน้า 270-277.
  5. บุปผา มั่นอารมณ์. (2553). ชาสมุนไพรดาหลา หนึ่งในราชินีแห่งวงศ์ไม้งาม ที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นสมุนไพรและพืชอาหาร. เทคโนโลยีชาวบ้าน. 22(473), 90-91.
  6. (2552). นวัตกรรมจากดอกไม้ ต้านอนุมูลอิสระแบบหวานเย็นกับไอศกรีมดอกไม้ศรีมาลา. นิตยสารสร้างเงิน สร้างงาน. 6(64), 45-46.
  7. กรวัฒน์ วีนิล. (2555). ผ้าไหมดาหลา นวัตกรรมใหม่ของโลก. นิตยสารสร้างเงินสร้างงาน, 9(100), 66-68.
  8. สุภาภรณ์ สาชาติ และนนทกร จันทร์แสง. (2560). พันธุ์ดาหลาและการปลูก. เกษตรก้าวหน้า, 30(1), 26-40.
  9. อทิพัฒน์ บุญเพิ่มราศรี. (2554). ดาหลาพันธุ์ลูกผสม ก้าวสำคัญของการพัฒนาไม้ดอกพื้นเมืองไทยสู่ตลาดโลก. เคหการเกษตร. 35(7), 198, 200, 203-207.
  10. กรมวิชาการเกษตร. ดาหลายะลา 3. (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://doaplant.doa.go.th/RecFront/PlantDetail/442 [31 ตุลาคม 2565]
  11. Etlingera elatior. (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Etlingera_elatior [31 ตุลาคม 2565]

แหล่งที่มา

ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู