ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
28 พฤศจิกายน 2565
หญ้าเนเปียร์: พืชพลังงงานและอาหารสัตว์

หญ้าเนเปียร์: พืชพลังงงานและอาหารสัตว์

รู้จักหญ้าเนเปียร์

หญ้าเนเปียร์ (Napier grass, Elephant grass หรือ Ugandan grass) มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Pennisetum purpureum Schum. เป็นหญ้าเขตร้อนที่มีอายุหลายปี เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศในแถบทวีปแอฟริกาเขตร้อนและกึ่งร้อน นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472

ลักษณะทั่วไป

มีระบบรากที่แข็งแรงซึ่งพัฒนาจากข้อของไหล ลำต้นมีลักษณะหยาบ ยืนต้น และอาจสูงถึง 4-7 เมตร แตกกิ่งด้านบน หญ้าเนเปียร์เป็นกอหนาทึบกว้างถึง 1 เมตร ใบมีลักษณะแบนเป็นเส้นตรง มีขนตรงโคน ยาวได้ถึง 100-120 ซม. และกว้าง 1-5 ซม. มีสีเขียวอมฟ้า ขอบใบมีฟันละเอียดและใบมีซี่โครงที่โดดเด่น ช่อดอกเป็นช่อแข็งปลายแหลม ยาวไม่เกิน 15-20 ซม. มีสีเหลืองน้ำตาลถึงม่วง กลุ่มดอกย่อยถูกจัดเรียงรอบแกนที่มีขนดกและร่วงหล่นเมื่อโตเต็มที่ ดอกย่อยยาว 4-6 มม. และล้อมรอบด้วยขนแตกแขนงยาว 2 ซม.  มีเมล็ดซึ่งจะมีขนาดเล็กมาก

การปลูก

  • การเตรียมดิน

คำแนะนำจากกรมปศุสัตว์ ให้เริ่มไถพื้นที่เมื่อฝนตกครั้งแรก ขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม เพื่อเปีดหน้าดิน และทำลายวัชพืช และปล่อยทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ จากนั้นไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ละเอียดและร่วนซุยมากขึ้น

เกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรีแนะนำการเตรียมดินโดยทำการไถพรวนดินภายในแปลงและตากทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ จากนั้นไถพรวนดินอีกครั้งหนึ่งเพื่อตีดินให้ละเอียดมากขึ้นพร้อมกับผสมปุ๋ยคอกใส่ลงไปภายในแปลง ตากดินทิ้งไว้อีก 1 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำเข้าแปลงให้แฉะก่อนที่จากนำหญ้าเนเปิยร์ลงมาปลูก

  • การเตรียมท่อนพันธุ์

ท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์เตรียมโดยนำต้นหญ้าที่มีอายุ 4-6 เดือนมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ แต่ละท่อนมีข้อติดอยู่ 1-2 ข้อ หรือตัดท่อนพันธุ์ยาวทั้งต้น นำไปใช้ปลูกได้โดยตรง หญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ สามารถใช้ตัดเป็นท่อนพันธุ์ สำหรับปลูกในพื้นที่ ประมาณ 10-20 ไร่

  • วิธีการปลูก

ปลูกด้วยท่อนพันธุ์ ปลูกหลุมละ 2 ท่อนให้ขัออยู่ใต้ดินลึก 1-2 นิ้ว ระยะปลูก 75x75 ซม. ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ท่อนพันธุ์ 300-600 กิโลกรัม หรือใช้วิธีที่เกษตรกรแนะนำ คือ นำท่อนพันธุ์ขนาดยาว 20 ซม. ปลูกให้มีลักษณะตั้งเอียง อยู่ที่ 45 องศา ปลูกให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 40-50 ซม. และระยะห่างระหว่างแถว 1.20 เมตร คล้าย ๆ กับปลูกอ้อย คอยหมั่นดูดินในแปลง ถ้าดินแห้ง ก็ใส่น้ำเข้าแปลง พอหญ้าเนเปิยร์ได้อายุ 2 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ประมาณ 3 กระสอบ ในพื้นที่ 5 ไร่ จากนั้นรอต่อไปอีก 2 เดือน หญ้าเนปิยร์ชุดแรกก็จะโตพร้อมให้ตัดขายได้

  • การใส่ปุ๋ย

ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ควรใส่ปุ๋ยยูเรีย (40-0-0) อัตรา 10-20 กิโลกรัมต่อไร่ หลังการตัดทุกครั้ง

  • การให้น้ำ

ควรมีการให้น้ำช่วงฤดูแล้ง และในระยะช่วงฝนทิ้งช่วง วิธีการให้น้ำสามารถทำได้หลายวิธี เช่นปล่อยน้ำเข้าแปลงพอให้ดินชุ่มชื้นทุก 1-2 สัปดาห์ หรือใช้ระบบสปริงเกอร์ทุก 3-5 วัน

การกำจัดวัชพืช: ควรกำจัดวัชพืชภายหลังจากปลูกหญ้า 2-4 สัปดาห์

การเก็บเกี่ยว: อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-70 วัน การตัดหญ้าเนเปิยร์ ตัดให้เสมอดิน เพื่อที่เวลาเกิดหน่อขึ้นมาใหม่จะได้หน่อที่สมบูรณ์ เมื่อหญ้าเนเปิยร์โตสมบูรณ์แล้ว การตัดออกจากกอต้องตัดให้เสมอดิน เพื่อที่เวลาเกิดหน่อขึ้นมาใหม่จะได้หน่อที่อวบสมบูรณ์ หลังจากตัดหญ้าให้ใส่น้ำเข้าพื้นที่ปลูกทันที พร้อมกับใส่ปุ๋ยบำรุง คือปุ๋ยเคมีสลับกับปุ๋ยคอก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็ได้ตัดหญ้าเนเปียร์รอบใหม่

 

ชนิดพันธุ์หญ้าเนปียร์

  1. หญ้าเนเปียร์ (ธรรมดา) มีความสูง 3-4 เมตร
  2. หญ้าเนเปียร์แคระ (P. purpureum cv. Mott): หญ้าเนเปียร์แคระสูง 1-2 เมตร แตกกอดี มีใบมาก พันธุ์แนะนำคือ

พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1: ลักษณะประจำพันธุ์คือ มีเจริญเติบโตได้ดี ลำต้นเตี้ย ใบดก มีจำนวนการแตกกอมาก (เฉลี่ย 200-300 หน่อ/กอ) ที่อายุการตัดทุก ๆ 60-90 วัน ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งเฉลี่ย 2.6-4.3 ตัน/ไร่/ปี คัดเลือกและทดสอบพันธุ์โดย ดร.สายัณห์ ทัดศรี และผศ.ดร. ทรงยศ โชติชุติมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเกษตร ภาควิชาพืชไร่นา

  1. หญ้าเนเปียร์ลูกผสม (P. purpureum x P. americanum) ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ คือ หญ้าเนเปียร์ยักษ์ (King grass) และหญ้าบาน่า (Bana grass) มีความสูงสูง 3-4 เมตร พันธุ์แนะนำคือ

พันธุ์ปากช่อง 1 (Pak Chong 1) ชื่อวิทยาศาสตร์:  Pennisetum purpureum x Pennisetum americanum

ประวัติพันธุ์: เป็นพันธุ์นำเข้าจากไต้หวัน แล้วนำไปปลูกคัดเลือกทดสอบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา ลักษณะพันธุ์ เป็นหญ้าข้ามปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงสูง 2.5- 3.5 เมตร และเมื่อออกดอกมีความสูงถึงปลายช่อดอก 3.5- 4.5 เมตร ผลผลิต ให้ผลผลิตน้ำหนักสด 12-15 ตันต่อไร่ต่อรอบการตัดทุก 60 วัน หรือผลผลิตน้ำหนักแห้ง 2-2.5 ตันต่อไร่ต่อรอบ คุณค่าทางอาหารสัตว์ มีโปรตีน 13-17 เปอร์เซ็นต์ และคาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำได้ (WSC) 11-12 เปอร์เซ็นต์ ที่การตัดทุก 60 วัน

ข้อแนะนำในการปลูกพันธุ์ปากช่อง 1

  1. อายุเก็บเกี่ยว ควรตัดหญ้าที่อายุ 45 วัน
  2. มีประโยชน์ทั้งพืชอาหารสดและพืชอาหารหมัก
  3. ปุ๋ยที่ใช้ ควรเป็นปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและมีองค์ประกอบทางโภชนะที่ดีกว่าปุ๋ยคอก
  4. การปลูกเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพต้องตัดที่ระยะ 60 วัน เพราะให้ค่าก๊าซชีวภาพสูงกว่าระยะอื่น ๆ

การใช้ประโยชน์หญ้าเนเปียร์

  • การใช้ประโยชน์ทางอาหารสัตว์
  1. หญ้าสด: ควรเก็บเกี่ยวเนเปียร์เป็นครั้งแรกหลังปลูก 2-4 เดือน เมื่อมีความสูง 1-1.2 ม. หลังจากนั้นควรเก็บเกี่ยวหญ้าในช่วง 6 ถึง 8 สัปดาห์ที่ความสูงเท่ากัน หญ้าเนเปียร์ที่ได้รับการจัดการอย่างดีสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกเดือนในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น หรือทุก ๆ 2 เดือนในพื้นที่แห้งแล้ง
  2. ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์: ควรเล็มหญ้าอย่างหนักเพื่อให้ใบและยอดอ่อนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุดสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง การแทะเล็มช่วงสัปดาห์ที่ 6-9 ที่ความสูงประมาณ 90 ซม. จะให้การใช้ประโยชน์ที่ดี สามารถให้ปุ๋ยไนโตรเจนได้หลังจากการแทะเล็มหรือการตัดหญ้า
  3. หญ้าแห้ง: ควรตัดหญ้าในระยะการเจริญเติบโต เนื่องจากลำต้นจะหยาบเกินไปเมื่อต้นแก่ ในไต้หวันหญ้าเนเปียร์ใช้ในการผลิตเม็ดหญ้าแห้งที่ใช้เป็นอาหารสัตว์สำรอง
  4. หญ้าหมัก: หญ้าเนเปียร์สามารถนำไปหมักเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เช่นหมักด้วยกากน้ำตาล หรือมันสำปะหลังเพื่อปรับปรุงคุณภาพการย่อยได้

วิธีการหมัก

  1. ตัดหญ้าที่อายุ 30-45 วัน
  2. หั่นหญ้าให้มีขนาดเล็กลงด้วยเครื่องบด/ตัดหญ้า ให้มียาวประมาณ 2- 3 ซม.
  3. บรรจุลงในถุง หรือ กระสอบพลาสติกสาน/กระสอบที่ใช้แล้ว อัดให้แน่นพร้อมกับมัดหรือเย็บปากถุงให้สนิท
  4. กรณีใช้กระสอบพลาสติกสาน ให้หุ้มด้านนอกด้วยพลาสดิกบางใสอีกชั้นเพื่อป้องกันอากาศจากภายนอก เมื่อหมักได้ 3 สัปดาห์ก็นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้
  5. ไม่ควรเก็บไว้นานจนเกินไป เพราะถุงหรือกระสอบฯ อาจถูกทำลายด้วยมด แมลง หรือหนูเสียหายได้

คุณค่าทางโภชนะของหญ้าเนเปียร์

คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าเนเปียร์ อายุ 45 วัน : 100 กรัม มีดังนี้

พลังงาน       175.40 แคลอรี่

โปรตีน         7.32 กรัม

ไขมัน           0.99 กรัม

คาร์โบไฮเดรต 34.32 กรัม

ความชื้น       8.68 กรัม

เถ้า              11.51 กรัม

กาก             37.21 กรัม

แคลเซียม     247.5 มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส    203.9 มิลลิกรัม

เหล็ก           12.4 มิลลิกรัม

หญ้าเนปียร์พันธุ์ปากช่อง 1 ที่อายุการตัด 60 วัน  มีองค์ประกอบดังนี้

วัตถุแห้ง  18.3 %

โปรตีน  12.6 %

ไขมัน  1.2 %

เยื่อใยรวม  42.6 %

เถ้า 12.3 %

คาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำได้ 33.3 %

 

  • การใช้ประโยชน์ทางพลังงานทดแทน/พลังงานทางเลือก/พลังงานสีเขียว

กระทรวงพลังงานสนับสนุนหญ้าเนเปียร์เป็นพืชชีวมวล สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบชีวมวล เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยกระบวนการ Gasification และผลิตก๊าซมีเทนโดยกระบวนการ Anaerobic digestion นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผลิตก๊าซหุงต้ม CNG LNG Hydrogen และเอทานอลได้ โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนเข้าโรงงานไฟฟ้าชุมชน เป็นโครงการของรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน ซึ่ง หญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ จะได้ผลผลิตประมาณ 40 ตัน ต่อปี ปีหนึ่งตัดได้ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 ตัน โรงไฟฟ้าฯ รับซื้อหน้าโรงงาน ตันละ 500 บาท ปีหนึ่งจะมีรายได้ 20,000 บาท ต่อไร่ ในเงื่อนไข พันธุ์ดี น้ำดี ดินดี ปุ๋ยดี การจัดการดี ถ้าเกษตรกรปลูกคนละ 15 ไร่ จะมีรายได้ 300,000 บาท ต่อปี เฉลี่ยต่อเดือน 25,000 บาท

 

  • การใช้ประโยชน์อื่น ๆ
  1. หญ้าเนเปียร์พันธุ์ปากช่อง 1 ใช้ในอาหารปลาสำหรับเลี้ยงปลานิลเพื่อลดต้นทุนการผลิต
  2. การผลิตก๊าซชีวภาพจากการหมักน้ำคั้นจากหญ้าเนเปียร์ร่วมกับมูลสัตว์
  3. การปลูกเป็นพืชคลุมดิน
  4. ลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ

     

เอกสารอ้างอิง

  1. นิด ชากังราว, นามแฝง. (2563). ไฟฟ้าชุมชน: หญ้าเนเปียร์ยักษ์ พืชพลังงาน สร้างอนาคตรายได้ต่อกลุ่มเกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืน. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 32 (726), 50-51
  2. สุรเดช สดคมขำ. (2562). ครูสาวเมืองสุพรรณฯ ปลูกหญ้าเนเปียร์เสริมรายได้ เก็บเกี่ยวไม่ทันขาย ตลาดมีความต้องการสูง. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 31 (686), 50-52
  3. (2562). พืชอาหารสัตว์ใช้ในประเทศไทย (2) . สัตว์บก, 26 (312) ,77-81
  4. สิริญญา เพียรวิริยพงษ์. (2561). การศึกษาการผลิตก๊าซชีวภาพจากการหมักน้ำคั้นจากหญ้าเนเปียร์ร่วมกับมูลสัตว์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  5. นรุณ วรามิตร. (2558). เนเปียร์: หญ้าที่เป็นมากกว่าพืชอาหารสัตว์. เกษตรอภิรมย์, 1 (5), 38-40
  6. ด้วยรัก กล่ำเสือ, นรุณ วรามิตร, จิราพร เชื้อกูล, ทรงยศ โชติชุติมา และ ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ. (2559). จีโนไทป์มีอิทธิพลต่อผลผลิตและองค์ประกอบทางเคมีของชีวมวลหญ้าเนเปียร์สำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ. เรื่องเต็มการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 13: ตามรอยพระยุคลบาท เกษตรศาสตร์กำแพงแสน. การประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ครั้งที่ 13: ตามรอยพระยุคลบาท เกษตรศาสตร์กำแพงแสน. (หน้า 56-65). มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สำนักงานวิทยาเขตกำแพงแสน กองบริหารวิชาการและนิสิต.
  7. จีระวัชร์ เข็มสวัสดิ์ และคณะ. (2547). พืชอาหารสัตว์พันธุ์ดี. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : กรมปศุสัตว์ สำนักพัฒนาการปศุสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยี.
  8. จีระวัชร์ เข็มสวัสดิ์ และคณะ. (2547). หญ้าเนเปียร์. กรุงเทพฯ : กรมปศุสัตว์ กองปศุสัตว์สัมพันธ์.
  9. หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 กรมปศุสัตว์-ก.พลังงาน ดันเป็นพืชพลังงานทดแทน. (2556). (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9560000035128 [20 ตุลาคม 2565]
  10. Elephant grass (Pennisetum purpureum) (Online). Available: https://www.feedipedia.org/node/395 [2022, October 25]
  11. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย. (2564). หญ้าเนเปียร์แคระ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1 (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=67855 [20 ตุลาคม 2565]

 


แหล่งที่มา

ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู