ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
28 พฤศจิกายน 2565
บัวหลวง: พืชกินได้ อาหารเป็นยา และชาดอกบัวหลวง

บัวหลวง: พืชกินได้ อาหารเป็นยา และชาดอกบัวหลวง

รู้จักบัวหลวง

บัวหลวง หรือ Sacred lotus เป็นพืชน้ำในวงศ์  Nelumbonaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Nelumbo nucifera Gaertn. เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี

ถิ่นกำเนิด: เอเชียเขตร้อนและกึ่งร้อน มี  5 พันธุ์ แบ่งตามสีและลักษณะดอกคือ

  1. พันธุ์ดอกสีชมพู มีดอกขนาดใหญ่ หรือเรียกว่า หรือบัวหลวงชมพู ปทุม ปัทมา โกกระณต
  2. พันธุ์ดอกสีขาว มีดอกขนาดใหญ่หรือเรียกว่า หรือบัวหลวงขาว บุณฑริกบัวหลวงขาว บัวแหลมขาว ปุณฑริก
  3. พันธุ์ดอกเล็กสีชมพู มีชื่อเรียกว่า บัวเข็มชมพูบัวไต้หวัน บัวปักกิ่งชมพู บัวหลวงจีน
  4. พันธุ์ดอกซ้อนเล็กสีชมพู มีชื่อเรียกว่า บัวสัตตบงกชบัวฉัตรแดง บัวหลวงป้อมแดง
  5. พันธุ์ดอกซ้อนใหญ่สีขาว มีชื่อเรียกว่า บัวฉัตรขาวบัวสัตตบุษย์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:

ลำต้นมีเหง้าใต้ดิน ในโคลนถึง 5-15 ซม. ที่ข้อส่วนบนมีตาที่จะให้กำเนิดใบ และดอก ส่วนล่างมีรากเป็นระบบรากฝอยออกจากข้อ มีปล้องทอดตามดินยาวประมาณ 16-20 ซม.

ใบใบมีรูปร่างเกือบกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 15-40 ซม. ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านล่างของใบมีสีเขียวนวล เห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน

ก้านใบ: ก้านใบแข็ง อวบ ชูเหนือน้ำ มีหนามขนาดเล็กสีน้ำตาลแดง ก้านใบมีสีเขียว มีน้ำยางสีขาว ก้านใบติดกับตัวใบทางด้านใต้ตรงกลางใบ

ก้านดอก: ลักษณะยาวชูขึ้นเหนือน้ำ ก้านดอกมีสีและลักษณะเหมือนก้านใบ

ดอกมีลักษณะดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน สีขาวหรือสีชมพู กลีบดอกใหญ่ กลางดอกมีฐานรังไข่และเกสรจำนวนมากและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตอนเช้าหรือกลางคืน ดอกประกอบด้วย

  • กลีบนอก มี 4-5 กลีบ ขนาดเล็กเรียงตัว 2 ชั้นสับหว่างกัน
  • กลีบใน มี 12-14 กลีบ เรียงเป็นชั้น ๆ ประมาณ 3 ชั้นอยู่รอบฐานรองดอก สำหรับบัวหลวงชมพูจะมีสีชมพูเข้มที่ปลายกลีบมากกว่าส่วนอื่น ๆ
  • เกสรตัวผู้ มีจำนวนมากประมาณ 90-120 อันอยู่เหนือกลีบชั้นในโดยเรียงติดรอบฐานรองดอก เกสรตัวผู้มีกลิ่นหอมประกอบด้วยก้านชูเกสรเรียวเล็กสีเหลืองนวล ตอนบนมีอับเรณูสีเหลืองสดติดตามความยาวของแกน เหนืออับเรณูขึ้นไปจะมีส่วนปลายสีขาวขุ่นเล็กเรียว
  • เกสรตัวเมีย มีรังไข่อยู่สูงกว่าชั้นของเกสรตัวผู้ประกอบด้วยคาร์เพล 12-35 คาร์เพล อยู่แยกกันโดยยังอยู่บนฐานรองดอกรูปกรวยสีเหลือง ก้านชูเกสรตัวเมียสั้นมาก ยอดเกสรตัวเมียแบนกลมสีเหลือง เป็นมันแข็ง แต่ระรังไข่มีไข่อยู่ 1 ใบ
  • ผล เกิดจากฐานรองดอกที่รองรับรังไข่ เป็นผลแบบผล (aggregate fruit) มีสีเขียวเข้ม ผลย่อยแต่ละผลเป็นแบบมีเปลือกหนาสีเขียว ผลจะชูเหนือน้ำ
  • เมล็ด มีเปลือกหุ้มหนาแต่นิ่ม ภายในมีใบเลี้ยงขนาดใหญ่ 2 ใบและต้นอ่อน 1 ต้น

 

การปลูกบัวหลวง

จากงานวิจัยต้นทุนและผลตอบแทนในการลงทุนปลูกบัวหรือทำนาบัวในฤดูกาลต่าง ๆ พบว่า ผลตอบแทนที่ได้จะแตกต่างกันโดยการทำนาบัวในฤดูร้อนมีผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนในฤดูฝนกับฤดูหนาว

บัวหลวงนิยมขยายพันธ์ด้วยเหง้า ไหล หรือต้นอ่อน

        พื้นที่ปลูก: พื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นที่ราบสม่ำเสมอ อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ดินเป็นดินเหนียว

การเตรียมดินปลูก:  ควรเอาปุ๋ยคอกผสมกับดินให้ดีใส่ลงในพื้นที่นั้นกดให้แน่น หลังจากนั้นใส่ดินธรรมดาปิดทับหน้า นำต้นอ่อนของบัวซึ่งมีทั้งรากและใบมาลงปลูกให้ห่างกันยอดละประมาณ 2 ฟุต กดดินรอบ ๆ ให้แน่น แล้วจึงระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่ให้ยอดของต้นอ่อนโผล่พ้นน้ำประมาณ 50 ซม. หลังจากนี้ 15 วัน จึงระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่ให้ความสูงของน้ำลึกประมาณ 73-107 ซม.       

        

การทำนาบัว (กองส่งเสริมพืชสวน)

การเตรียมพื้นที่: โดยการระบายน้ำออกให้แห้ง ยกคันดินโดยรอบพื้นที่ให้สูงประมาณ 1.5 เมตร พื้นที่ควรมีขนาด 5-50 ไร่ หรือทำเป็นแปลงใหญ่ขนาด 50-100 ไร่

-ปรับพื้นที่ให้เรียบ ไถดะ โรยปูนขาวตากแดดทิ้งไว้ 7-15 วัน แล้วไถแปรอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับเติมปุ๋ยคอกเก่า เช่น มูลไก่ มูลโค ประมาณไร่ละ 200 กิโลกรัม                                                

- ระบายน้ำเข้าให้สูงจากพื้นประมาณ 15 ซม. ทิ้งไว้ 3-5 วัน ให้ดินอ่อนตัว แล้วจึงปักดำ

     -ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 2 x 2 เมตรในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ไหลบัว

ประมาณ 400 ไหล

 

วิธีการปลูกมี 2 วิธี คือ

  1. การปลูกโดยใช้ไม้คีบ: เหลาไม้ไผ่ให้มีความหนากว่าตอกเล็กน้อยยาวประมาณ 1 ฟุตโค้งงอตรงกลาง คีบไหลบัวตรงส่วนของข้อแล้วปักลงให้ไหลบัวติดอยู่กับผิวดิน
  2. การปลูกโดยวิธีใช้ดินหมก: ใช้กับนาบัวที่บังคับระดับน้ำได้ โดยปล่อยน้ำให้งวด ขุดดินเป็นร่องลึกประมาณครึ่งฝ่ามือวางไหลบัวลงไปใช้ดินกลบไหลบัวโดยเว้นตาเอาไว้แล้วจึงเริ่มเปิดน้ำเข้า

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ
  • หลังจากปลูกเดือนแรก ควรรักษาระดับน้ำให้ขังอยู่ในแปลงลึกประมาณ 30 ซม.
  • หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกให้ลึกประมาณ 50 ซม. และลึกไม่เกิน 100 ซม.
  1. การใส่ปุ๋ย
  • เมื่อบัวเริ่มตั้งตัวและแตกใบใหม่ ให้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15- 15 ในอัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม โดยหว่านลงไปให้ทั่วแปลง
  • ถ้าปลูกในพื้นที่ที่ควบคุมระดับไม่ได้ ควรใส่ปุ๋ยลูกกลอนโดยการนำปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ประมาณ 1 ช้อนชา บรรจุลงดินเหนียวปั้นดินเหนียวหุ้มให้เป็นก้อนแล้วผึ่งลมให้แห้ง เมื่อต้องการจะใส่ปุ๋ยบัวก็ฝังลูกกลอนไว้ที่โคนต้น ๆ ละ 2 ลูก

 

การเก็บเกี่ยวดอก

  • บัวจะเริ่มให้ผลผลิตดอกตูมหลังจากปลูก 3 เดือน โดยทั่วไปเกษตรกรเก็บดอกวันเว้นวัน ยกเว้นในฤดูหนาว เก็บวันเว้น 2 วัน
  • การเก็บดอกจะเก็บในระยะที่ดอกยังตูม โดยตัดให้มีก้านดอกยาว 40-50 เซนติเมตร คัดขนาดแล้วนำมาจัดเป็นกำ กำละ 10 ดอก การจัดต้องจัดเรียงให้เห็นดอกทั้ง 10 ดอก หลังจากนั้นจึงห่อด้วยใบบัว หลังจากเก็บเกี่ยวดอกเป็นเวลา 3-4 เดือน ต้นบัวจะเริ่มโทรม ผลผลิตลดลง
  • วิธีบังคับให้ไหลแตกต้นใหม่โดยระบายน้ำออกจากนาให้แห้ง แล้วใช้รถแทรกเตอร์ลงไปไถตะเพื่อลดความหนาแน่นของต้นบัว หรืออาจใช้ลูกขลุกทุบ แล้วปล่อยน้ำเข้าในแปลงอีกครั้ง บัวจะเริ่มแตกยอดใหม่ และสามารถเริ่มเก็บดอกได้ในเวลา 2-3 เดือน

  

การเก็บเกี่ยวฝักแก่

เมื่อบัวอายุประมาณ 3-4 เดือน จะเริ่มเก็บฝักได้ ฝักแก่จะสังเกตได้จากฝักปลายเมล็ดเริ่มแห้งเป็นสีเทา หรือสีดำ หากปล่อยให้แห้งทั้งฝักเมล็ดจะหลุดจากขั้วร่วงง่าย ระยะเวลาตั้งแต่ดอกตูม ถึงเก็บฝักได้ประมาณ 40-50 วัน บัวจะให้ผลผลิตนานราว ๆ 3-4 เดือน จากนั้นจะเริ่มโทรม

 

ข้อควรระวัง/ปัจจัยสภาพแวดล้อม

  1. ไม่ควรปลูกบัวในบ่อที่มีปลา เพราะปลาจะกัดกินในบัว ดึงเหง้า

บัวให้ลอยน้ำ

  1. ระดับน้ำ ไม่ควรลึกเกินไป คือเกินกว่า 73-170 ซม. หรือน้ำตื้นเกินไปทำให้บัวออกดอกน้อย
  2. บัวหลวงชอบแดดจัด ควรได้รับแสงแดดไม่ควรต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน
  3. การแตกกอมากเกินไป จะทำให้บัวออกดอกน้อยลง
  4. สาหร่ายและวัชพืชรบกวน มีผลต่อการเจริญขึ้นมาบนผิวน้ำ
  5. น้ำเสีย บัวหลวงเป็นพืชที่ชอบน้ำนิ่ง แต่มีการไหลถ่ายเทได้และ

ต้องการน้ำที่มีความเป็นกรดด่าง ประมาณ 7.45

  

โรคพืช

จากการสำรวจโรคพืช พบว่าเกิดจากเชื้อรา (Alternaria alternate, Corynespora cassiicola, Curvularia lunata) และแบคทีเรีย เช่น โรคใบจุดไหม้ โรคเน่าดำ โรคใบเน่าและโรคใบเน่าเละ

แมลงศัตรูพืช

  1. 1. เพลี้ยแดง เข้าทำลายช่วงในปลายฤดูหนาวเข้าต้นฤดูร้อน
  2. 2. หนอนผีเสื้อ กัดกินใบบัว
  3. หนอนกระทู้ผัก /Common cutworm (Spodoptera litura)
  4. 4. หนอนม้วนใบของผีเสื้อกลางคืน (leaf-rollerworm) เข้าทำลายส่วนต่าง ๆ ของบัวหลวง ได้ทุกส่วน
  5. ปูนา (Esanthelphusa spp.) เข้ากัดกินส่วนปลายยอดของลำต้นใต้ดินและใบอ่อนในฤดูแล้ง
  6. หอยเชอรี่ (Pomacea canaliculata) จะกัดกินใบอ่อนและดอกอ่อนที่อยู่ภายใต้ผิวน้ำและจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน รอยเมือกของหอยเชอรี่ที่เดินบนส่วนอ่อนของบัวหลวงจะทำให้บริเวณนั้นโดนทำลาย
  7. เพลี้ยอ่อน 3 ชนิด ได้แก่ เพลี้ยอ่อนฝ้าย (Aphid gossypii) เพลี้ยอ่อนดำถั่ว (Aphis craccivora) และ เพลี้ยแป้ง (Planococcus lilacinus)
  8. เพลี้ยไฟพริก (Scirtothrips dorsalis)
  9. ไร (Tetranychus sp.) เป็นศัตรูสำคัญที่สามารถเข้าทำลายได้หลายส่วนของบัวหลวง
  10. แมลงค่อมทอง (Hypomeces squamosus) จะกัดกินทั้งใบอ่อนและใบแก่ของบัวหลวง
  11. ด้วงกุหลาบ (Adoretus compressus)
  12. แมลงกระชอน (Gryllotalpa africana) แมลงกระชอนระบาดมากในช่วงฤดูแล้งโดยจะไปกัดกินบริเวณลำต้นและก้านใบทำให้ใบของบัวหลวงเหี่ยวแห้งลดการเจริญเติบโต

ประโยชน์ของบัวหลวง

  1. ใช้เป็นอาหารจากส่วนต่าง ๆ เช่น ฝัก เมล็ด ดอก เกสร เส้นใย ราก
  • กลีบดอกทั้งขาวและชมพู สามารถนำไปชุบแป้งทอดจิ้มซอสพริก
  • เหง้าบัว

-นำมาเป็นอาหารประเภทผัก เช่น ทำเป็นผักสลัด เป็นผักดิบจิ้มน้ำพริกและหลนได้

-ใช้ต้มกับน้ำตาลกรวดเป็นยาแก้ร้อนในและยาบำรุงกำลัง

-นำมาเชื่อมแห้งแบบมะตูมเชื่อม

  • ราก เอาไปต้มน้ำตาลหรือเชื่อมได้
  • ใบอ่อน ใช้รับประทานเป็นผัก
  • ผลใช้รับประทานขณะยังอ่อนอยู่เรียกว่า ฝักบัว
  • เมล็ดแก่ตากแห้ง และกะเทาะเปลือกออกแล้วใช้ทำขนม เช่น เมล็ดบัวฉาบ เมล็ดบัวเบียก ตะโก้เมล็ดบัว และขนมอื่น ๆ
  1. ใช้เป็นสมุนไพร จากส่วนต่าง ๆ ดังนี้
  • เหง้าบัว สามารถนำไปทำเป็นยาแก้ท้องร่วง
  • กลีบดอก ใช้เป็นยาฝาดสมาน เกสรดอกมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ
  • ชาวมาเลเซียใช้กลีบดอกชั้นในตำพอกแก้โรคซิฟิลิส ชาวชวาใช้แก้ท้องร่วง
  • กลีบในของบัวหลวงมักจะใช้เป็นยาแก้โรคท้องร่วง แก้ไข้
  • เกสรตัวผู้ของดอกบัวหลวงมีกลิ่นหอม นิยมใช้เข้าเป็นยาไทยใช้ทำยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ชูกำลัง แก้ลมวิงเวียน ทำให้จิตใจชุ่มชื่น
  1. การใช้ประโยชน์อื่น ๆ
  • ใบแก่ ใช้ห่อของแทนใบตอง เช่น ข้าวห่อใบบัว
  • กลีบในดอกบัวหลวง สามารถนำไปตากแห้งใช้มวนบุหรี่ได้ หรือใช้ทำเครื่องสำอาง
  • ดอกบัวหลวงใช้ประดับในงานศาสนา
  • ก้านบัวหลวงใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตสิ่งทอ การผลิตเส้นใยและผลิตภัณฑ์แปรรูป
  • น้ำมันเกสรบัวสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ลูกกลิ้งเกสรบัว

คุณค่าทางอาหารของบัวหลวง

เหง้าบัวและเมล็ดบัวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรทและโปรตีนที่สำคัญ

องค์ประกอบทางเคมีในเหง้าของบัวหลวง มีดังนี้

น้ำ 84.26 %

ไขมัน 0.19 %

โปรตีน 1.57 %

แป้ง 7.71 %

เส้นใย 0.76 %

น้ำตาล 0.33 %

องค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดบัวหลวง มีดังนี้

น้ำ 8.72 %

โปรตีน 16.64 %

ไขมัน 2.96 %

แป้ง 40.63 %

น้ำตาล 9.55 %

เส้นใย 2.95 %

ชาดอกบัวหลวง

พฤศจิกายน 2565 นี้ ฤดูหนาวเริ่มเข้ามาแล้ว ขอแนะนำการทำชาดอกบัวหลวงเพื่อสุขภาพกัน ซึ่งคนไทยสมัยโบราณใช้กสรบัวหลวงเข้าเครื่องยาไทยในพิกัดเกสรทั้งห้า เกสรทั้งเจ็ด และเกสรทั้งเก้า โดยสรรพคุณทางยาของดอกบัวและเกสรบัวหลวงคือใช้บำรุงหัวใจ แก้ไข้ตัวร้อน แก้อ่อนเพลีย ขับโลหิต ขับเสมหะ แก้จุกเสียด และแก้ท้องเสีย เป็นต้น

วิธีการชงชา: นำเกสรดอกบัวหลวงที่ยังสดหรือจะใช้ชนิดแห้งก็ได้ 1 หยิบมือชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงดื่มในขณะที่ยังชายังอุ่น ๆ อยู่ ควรดื่มวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 แก้ว จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

 

สารเคมีที่พบในดอกบัวหลวงมีดังนี้

Quercetin, Luteolin, Isoquercitrin, Glucoluteolin, N-triancontanol, Alpha-amyrin, Lupeol, Beta-sitosterol, Amino acids-lysine, Proline, Hydroxylproline, Beta-phenylalanine, Arginine, Kaempferol-3-glycoside anonaine, Lotusine, Neferine, Beta-sitosterol-glycopyranoside

 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและความเป็นพิษ

ผลการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าว่าดอกบัวหลวงมีฤทธิ์ลดระดับไขมันและระดับน้ำตาล นอกจากนี้ส่วนอื่น ๆ ของบัวหลวง เช่น เหง้าบัว มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ร้อนใน แก้อักเสบ และใบบัวมีฤทธิ์ในการลดความอ้วนเป็นต้น สำหรับการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดเกสรบัวหลวงไม่ก่อให้เกิดความเป็น พิษใด ๆ

 

เอกสารอ้างอิง

  1. อักษร ศรีเปล่ง. (2522). บัวหลวง. ข่าวสารเกษตรศาสตร์, 24(4), 27-32.
  2. เชื้อ ว่องส่งสาร. (2535). บัว. สาส์นไก่และการเกษตร, 40(6), 5-6.
  3. ดวงรัตน์ กาญจนเจริญ, ดุษฎี สงวนชาติ และ สมเพียร เกษมทรัพย์. (2533). ต้นทุนและผลตอบแทนจากการทำนาบัวตัดดอก. วิทยาสารเกษตรศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์, 11(1), 26-31.
  4. นภัสชญา เกษรา และคนอื่นๆ. (2564). การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของตํารับกลีบบัวแดงในผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 19 (1), 34-48.
  5. จินตน์กานต์ งามสุทธา. (2555). ก้านบัวหลวง สู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ. จดหมายข่าวผลิใบ, 15 (7), 2-6.
  6. ปรัชญา รัศมีธรรมวงศ์. (2557). ขาวหอมสงขลา มหัศจรรย์น้ำมันเกสรบัว. นิตยสารสร้างเงิน สร้างงาน, 10 (122), 107-109.
  7. (2542). ชาดอกไม้. เกษตรกรรมธรรมชาติ, (7), 30-33.
  8. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. (2557). ชาดอกไม้. จุลสารข้อมูลสมุนไพร, 31 (3), 2-19.
  9. บัวหลวง. (2565). (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.baanlaesuan.com/plants/annual/137835.html [20 ตุลาคม 2565]
  10. การผลิตเครื่องดื่มคอมบูชาจากรากบัว. (2564). (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://mis.nsru.ac.th/procresearch/ResearchProjectInfo.aspx?res_id=R000000558 [20 ตุลาคม 2565]
  11. กรมวิชาการเกษตร. การสำรวจศัตรูพืชที่สำคัญของพันธุ์บัวหลวง (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.doa.go.th/hort/wp-content/uploads/2020/12/การสำรวจศัตรูพืชที่สำคัญของพันธุ์บัวหลวง.pdf [20 ตุลาคม 2565]
  12. สํานักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. การทำนาบัว (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/flower/nabau.pdf

 

 

 

 

 


แหล่งที่มา

ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู