ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
23 พฤศจิกายน 2565
หนุ่มพนักงานบริษัท เปลี่ยนพื้นที่ข้างบ้านเป็นฟาร์มไก่ไข่สีพาสเทล

คุณชัยณรงค์ ปราบภัย หรือคุณเดย์ อายุ 45 ปี อาศัยอยู่ในบ้านสไตล์ฟาร์มเฮาส์ย่านบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเอกชน และมีความชื่นชอบในการเลี้ยงสัตว์และเพาะพันธุ์สัตว์ คุณเดย์เคยเลี้ยงสัตว์หลากหลายประเภท โดยเริ่มต้นจากความหลงใหล ต่อมาได้พัฒนาเป็นการเพาะพันธุ์ จึงทำให้เกิด “Daylight ไข่พาสเทล”

คุณเดย์ เป็นบุคคลแรก ๆ ในประเทศไทยที่สนใจไก่ไข่สี และนำมาขยายพันธุ์จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม “Daylight ไข่พาสเทล” ทำให้หลาย ๆ คนในบ้านเราเรียกติดปากกันว่า “ไก่ไข่สีพาสเทล” และมีคนนำไปใช้อย่างแพร่หลาย Daylight ไข่พาสเทล ไม่ใช่ฟาร์มใหญ่โต ไม่ได้มุ่งเน้นธุรกิจเป็นจุดประสงค์หลัก จึงมีจุดเด่นด้วยการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไก่จำนวนที่พอดี เพื่อควบคุมคุณภาพ และง่ายต่อการบริหารจัดการให้ถูกสุขลักษณะมากที่สุด

การเลี้ยงไก่ไข่ของคุณเดย์ เริ่มต้นจากความต้องการกินไข่ไก่ที่ดีมีคุณภาพ จึงเลือกที่จะเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อที่จะควบคุมคุณภาพอาหารและดูแลแม่ไก่ด้วยตนเอง เดิมทีเริ่มเลี้ยงลูกเจี๊ยบพันธุ์ไก่ไข่เพียง 9 ตัว และได้ศึกษาจนได้พบว่ามีสายพันธุ์ไก่ไข่ที่หลากหลาย รวมถึงไก่ไข่สีจากต่างประเทศ จึงนำมาทดลองพัฒนาสายพันธุ์ต่อที่บ้าน หลังจากที่ได้ไข่ฟองแรกสีฟ้า ก็ยิ่งทำให้หลงใหลยิ่งขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ จน Daylight ไข่พาสเทล กลายเป็นฟาร์มที่เป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่คนรักไก่ไข่สีมากว่า 4 ปีแล้ว

Daylight ไข่พาสเทล มีพ่อแม่พันธุ์แท้หลักอยู่ 5 สายพันธุ์ โดยให้นิยามของพ่อแม่พันธุ์ทั้ง 5 สายพันธุ์นี้ว่า แม่สี เพราะแต่ละสายพันธุ์ให้สีที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. อะเมอรัวคานา เป็นไก่ที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ในประเทศอเมริกาช่วงปี ค.ศ. 1970 โดยพัฒนาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมคือ อะรัวคานา จากประเทศชิลี จะมีขนที่ดูเหมือนหนวดและเคราดกและหนา ให้ไข่เปลือกสีฟ้า
2. อะรัวคานา เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากประเทศชิลี มีขนที่ดูเหมือนเป็นหนวดงอนชี้ขึ้น ให้ไข่เปลือกสีฟ้า จุดเด่นสำหรับสายพันธุ์นี้คือไม่มีหาง
3. ครีมเล็กบาร์ เป็นไก่ลูกผสมระหว่างพันธุ์เล็กฮอร์นสีน้ำตาลกับไก่พันธุ์บาร์พลีมัธร็อค และอร็อคคาน่า ทำให้เปลือกไข่มีสีฟ้า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพันธุ์นี้ช่วงปี ค.ศ. 1920 ไก่ตัวผู้มีกล้ามเนื้อ ตื่นตัว และดูสง่า ตัวทรงรูปลิ่ม ไหล่กว้าง หางทำมุม 45 องศากับแนวหลัง มีหงอนจักรขนาดใหญ่ เหนียงยาวและบาง ผิวหนังสีเหลือง เพศเมียจะมีสีออกส้ม (แซลมอน) มากกว่าตัวผู้ ขนหน้าอกมีสีสันสดใส หงอนแดงสดใส และมีกระจุกขนบนหัวดูคล้ายสวมหมวก
4. แบล็ค คอปเปอร์ มารา เป็นสายพันธุ์ทางตะวันตกของฝรั่งเศส มีตาสีส้ม ให้ไข่เปลือกสีช็อกโกแลต
5. สวีดิช ไอซ์บาร์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น (Silverudd Blue) เป็นสายพันธุ์จากประเทศสวีเดน ที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ในช่วง ค.ศ. 1950 ไก่พันธุ์นี้เป็นไก่ที่ทนความหนาวเย็นได้ดี เลี้ยงแบบปล่อยลานได้ มีความสวยงาม ให้ไข่เปลือกสีเขียว

ทั้ง 5 สายพันธุ์นี้ให้ไข่ที่สีแตกต่างกัน ถึงแม้บางสายพันธุ์ให้เปลือกไข่ที่สีฟ้าเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สีฟ้าในเฉดเดียวกัน นอกจากนี้ คุณเดย์ยังพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ทั้ง 5 สายพันธุ์นี้ต่อ เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่หลากสีมากขึ้น ต้องบอกเลยว่าไม่มีทางสีซ้ำกันแน่นอน แวดวงไข่พาสเทลจึงให้นิยามไข่เหล่านี้ว่า ไข่อีสเตอร์ (เพราะต้องลุ้นในทุกครั้งว่าสีเปลือกจะออกมาสีโทนไหน)

การดูแลและการจัดการ เริ่มจากเมื่อแม่ไก่ออกไข่ ไข่จะถูกนำมาเข้าตู้ฟัก 3 สัปดาห์ หลังจากที่ไข่ฟักออกมาเป็นลูกไก่ ก็จะถูกแยกออกมาอนุบาลต่อในพื้นที่เฉพาะเป็นเวลา 1 เดือน เพราะลูกไก่ยังคงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย จากนั้นลูกไก่ทุกตัวจะได้รับวัคซีนตามกำหนดของแต่ละช่วงวัย อย่างครบถ้วน เมื่อลูกไก่เริ่มโตก็จะถูกย้ายพื้นที่ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไป

การให้อาหารในแต่ละวัน จะเน้นสารอาหารที่เพียงพอสำหรับกับพ่อไก่และแม่ไก่ อาจมีการเสริมด้วยผักผลไม้ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม สิ่งที่สำคัญสำหรับ Daylight ไข่พาสเทล คือแม่ไก่จะสามารถออกมาเดินเล่นในสนามหญ้า หาหนอนหาแมลงกินได้ตลอดทั้งวัน จุดนี้จะทำให้แม่ไก่ไข่อารมณ์ดีเป็นพิเศษ

คุณเดย์ กล่าวเสริมว่า ตลาดไข่พาสเทลเป็นตลาดที่ยังไม่ใหญ่มาก ยังคงเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ราคาขายจะสูงกว่าไก่ไข่สายพันธุ์ไข่ทั่วไป เนื่องจากเป็นไก่ที่ต้องการการพัฒนาและดูแลที่ต่างกัน ราคาไข่เชื้อสำหรับไข่สีพาสเทลเริ่มต้นที่ฟองละ 100-200 บาท แล้วแต่สายพันธุ์ ลูกไก่อายุครบ 1 เดือน ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อตัว และพ่อแม่พันธุ์คู่ละ 10,000-12,000 บาท แล้วแต่สายพันธุ์

สิ่งที่คุณเดย์อยากเน้นย้ำสำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงไก่ไข่สีพาสเทล คือ “ต้องเริ่มจากความชอบและความรัก ผู้ที่สนใจจะเลี้ยงควรจะศึกษาหาข้อมูล และมีความรับผิดชอบต่อสัตว์ที่เลี้ยง สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการดูแลและเอาใจใส่ ไก่ก็เช่นกัน ดังนั้นจึงอยากให้เลี้ยงเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และดูแลน้องไก่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในอนาคตสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจจะเป็นงานอดิเรกที่ให้ความสุข รวมถึงสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน”


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู