สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดประชุมสัญจร สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2565 ที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ภายใต้แนวคิด "ฝ่าวิกฤต สู่โอกาส พัฒนาตราดก้าวทันโลก" นำเสนอมุมมองจากบรรดา Big brother อย่างน่าสนใจ
ตราด "ยักษ์เล็กตะวันออก"
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.บรรยายเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจโลก สู่อนาคตการพัฒนาเศรษฐกิจตราด" ว่า เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และมีผลกระทบ ไปถึงปีหน้า เช่น ความผันผวนของค่าเงินประเทศต่าง ๆ การส่งออกลดลง ราคาน้ำมันสูง การขึ้นดอกเบี้ย ส่วนไทยยังห่วงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ภาวะเงินเฟ้อ การนำเข้าน้ำมันราคาสูง ไม่สมดุลกับการส่งออก และค่าเงินบาทอ่อน (ปลายปีนี้น่าจะถึง 40 บาท/ดอลลาร์) การดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ไทยเสียเปรียบเวียดนาม ซึ่งมีค่าไฟ ค่าแรงถูกกว่าและได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากประเทศคู่ค้ามากกว่า แต่ด้านการท่องเที่ยวได้ผลดี
"สำหรับแนวทางการพัฒนา จ.ตราด มีจุดแข็งด้านวัตถุดิบทางการเกษตร โดยนำยุทธศาสตร์ ส.อ.ท.มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพมูลค่าสูง ด้วยโมเดล BCG สร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด ภายใต้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (SAI) การพัฒนาฐานเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การทำประมงยั่งยืน และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ประมง ส่งเสริมการปลูกและรับรองมาตรฐานไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC) และส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GPP) เพิ่มขึ้น จ.ตราด เป็น "ยักษ์เล็กภาคตะวันออก" ได้แน่นอน ส่วนภาคท่องเที่ยวต้องเป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับราคาเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าตัว"
"แนวทางการพัฒนา จ.ตราด ซึ่งมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบทางเกษตร ด้วยการนำยุทธศาสตร์ ส.อ.ท.มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพมูลค่าสูง มาขับเคลื่อนด้วยโมเดล BCG ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยการพัฒนาแหล่งเกษตรอินทรีย์ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยแนวทางการขับเคลื่อน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด ภายใต้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (SAI) การพัฒนาฐานเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การพัฒนาการทำประมงยั่งยืน และการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ประมง การส่งเสริมการปลูกและรับรองมาตรฐานไม้เศรษฐกิจไทย (TFCC) และส่งเสริมการปลูกป่า เพื่อแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น ถ้าได้รับความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ทำโปรเจกต์ร่วมกัน จังหวัดตราดเป็น "ยักษ์เล็กภาคตะวันออก" ได้แน่นอน ส่วนภาคการท่องเที่ยว เป้าหมายการตลาดต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยกระดับราคาเพิ่มขึ้น 5-10 เท่าตัว"
นายสุริยนต์ ตู้จินดา ประธานคณะอนุกรรมการด้านการค้าชายแดน ส.อ.ท. กล่าวว่า จ.ตราด มีโอกาสทางการค้าเชื่อมโยงต่างประเทศได้หลายทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง สามารถพัฒนาสู่เวทีตลาดโลกได้ 4 ประเด็น คือ 1) พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า 3) บูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้เกิดประสิทธิภาพ และ 4) แก้ไขผังเมืองอย่างเร่งด่วน
พลิกโฉมเกษตรตะวันออก
นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวในหัวข้อ "พลิกโฉมเกษตรตะวันออก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ว่า โครงการนำร่องของคณะทำงานส่งเสริม การจัดการคุณภาพผลผลิตเกษตร ประกอบด้วย โครงการผลิตกล้วยหอมทอง ของบริษัท ทีเค กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีการควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี มีการควบคุมและรักษาคุณภาพผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดแยก บรรจุ เก็บรักษา และขนส่ง นอกจากนี้ยังนำซากเหลือใช้มาทำปุ๋ยอินทรีย์และแปรรูปผลผลิตตกเกรด และโครงการนวัตกรรมเกษตรปลอดภัย แผนงานจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาผลไม้สดเพื่อการส่งออก" เพื่อการผลิตที่ครบวงจร ในพื้นที่ และส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง
นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สถาบันคาร์บอนเครดิต) กล่าวในหัวข้อ "ทิศทางพลังงานสะอาดกับโอกาสพลังงานไทย" ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลและปรับตัวให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว แต่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกปาล์มเป็นอันดับ 3 ของโลก ต้องคิดอย่างรอบด้าน เช่น การหันมาพัฒนาพืชพลังงาน ต่อยอดจากไบโอดีเซล ไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมไบโอเคมี เช่น ผลิตน้ำมันเครื่องบินจากพืช หากพัฒนาพืชพลังงานจะตอบโจทย์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) และเกษตรกรสามารถขายได้ในราคาสูงด้วย
ชง "ตราดฟรุตวัลเลย์"
นายธรา วัฒนวินิน ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เปิดเผยว่า เป้าหมายอีก 5 ปี (2565-2570) GDP ภาคอุตสาหกรรม จ.ตราด ต้องมากกว่า 10% จ.ตราดพร้อมเป็นยักษ์เล็กภาคตะวันออก โดยสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เตรียมเสนอโครงการตราดฟรุตวัลเลย์ (Trat Fruits Valley) ตามแนวทางการขับเคลื่อน 1 อุตสาหกรรม 1 จังหวัด พัฒนานวัตกรรมผลไม้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ใช้ต้นทุน จ.ตราด ทั้งหมดมาบริหาร จัดการในบริบทใหม่ ท่ามกลางความปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีดิสรัปชัน สภาวะโลกร้อน และภาคพลังงานต้องปรับตัว สู่พลังงานสะอาด หากเสนอ ส.อ.ท.ของบประมาณระดับ 1,000 ล้านบาท เป็น New S-curve ภาคเกษตร จะมีครบทั้งเชน พลังงาน อาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ สมุนไพร เครื่องสำอาง ยา ห้องเย็น อบแห้ง สกัด ในกระบวนการขับเคลื่อน จังหวัดต้องตอบรับในแผนพัฒนาจังหวัด ทั้งนี้หาก ส.อ.ท.บรรจุในแผนและหาผู้ลงทุน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันสำเร็จได้
ภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมี GDP สูง 17.19% เพราะเป็นพื้นที่ EEC แต่อัตราส่วน GDP จ.ตราด ภาคเกษตรกรรม 47% ภาคบริการ 44% และภาคอุตสาหกรรมเพียง 9% การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เช่าพื้นที่เกือบ 900 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2559 ยังไม่คืบหน้า การจัดประชุมสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจึงเชิญ Big brother มาช่วยกันขับเคลื่อนตามนโยบาย ส.อ.ท. "One FTI" รวมกันเป็นหนึ่งเดียวใน 3 ส่วนคือ "One vison one team one goal"