“หัวใจสำคัญของระบบการเลี้ยงนี้อยู่ตรงบ่อกรองหรือบ่อบำบัดน้ำเสีย ที่มาจากขี้กุ้งในบ่อกรองทั้ง 2 บ่อ เราจะทำเหมือนกัน นั่นคือพื้นที่ครึ่งบ่อจะนำปลานิล ตัวขนาด 30 กรัม มาปล่อยบ่อละ 150 ตัว เพื่อให้มาทำหน้าที่กิน บำบัดขี้กุ้งที่จมน้ำให้เปลี่ยนมาเป็นขี้ปลาที่ลอยน้ำได้ และพื้นที่อีกครึ่งบ่อจะเอาเศษอวนมาวางกองทับถมให้มีลักษณะเหมือนเป็นเขื่อนกั้นไม่ให้ปลาว่ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่อีกครึ่งบ่อได้ แต่น้ำและขี้ปลาลอยลอดเข้าไปได้
เพราะพื้นที่อีกครึ่งบ่อที่เหลืออยู่ เราจะเอาเศษกระชังตาถี่มามัดรวมกับลูกบอลเพื่อให้ลอยน้ำได้ ทำออกมาแล้ว หน้าตามันจะคล้ายกับตุ๊กตาไล่ฝนในการ์ตูน อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ทำเพื่อดักจับขี้ปลาและให้เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์อีเอ็ม ที่จะมาช่วยบำบัดของเสียให้เป็นน้ำดี และจะมีการติดต่อปั๊มลมขนาด 1.6 กิโลวัตต์ 1 ตัว เพื่อปั๊มอากาศให้บ่อกุ้ง และติดตั้งปั๊มน้ำขนาด 1.8 กิโลวัตต์อีก 2 ตัว เปิดสลับกันใช้กลางคืน กลางวัน เพื่อสูบน้ำที่เสียและน้ำดีให้ไหลหมุนเวียนในระบบ”
ส่วนการเดินระบบน้ำหมุนเวียนนั้น อ.กัมพล บอกว่า หลังจากลงกุ้งในบ่อเลี้ยงไปบ่อละ 6,000 ตัวเรียบร้อยแล้ว ปั๊มน้ำจะเริ่มสูบน้ำออกจากบ่อกรอง เมื่อน้ำในบ่อกรองลดลง น้ำในบ่อเลี้ยง สูงกว่า น้ำจากบ่อเลี้ยงจะไหลมาเข้าบ่อกรองได้แบบหมุนเวียนอย่างอัตโนมัติทั้งวันทั้งคืน
เมื่อบำบัดหมุนไว้ไปเรื่อย ๆ ขี้กุ้งถูกปลากิน ขี้ปลาลอยเป็นตะกอนไปติดตุ๊กตาไล่ฝนที่ลอยน้ำ เมื่อสะสมมากเข้า สภาพจะเหมาะสมให้ตัวริ้นบินมาวางไข่ เพื่อให้ลูกน้อยที่ฟักจากไข่ฟักมาเป็นหนอนแดง จะได้มีตะกอนกินเป็นการช่วยบำบัดของเสียในบ่อได้อีกทาง ผลที่ตามมาหนอนแดงขยายพันธุ์อยู่ในบ่อกรอง ถึงเวลาจับกุ้งขาย หนอนแดงที่เหลืออยู่ในบ่อกรองจะกลายเป็นอาหารของลูกกุ้ง ที่เราจะเอาลงเลี้ยงรอบใหม่
เกษตรกรที่ต้องการรายละเอียดและวิธี การเลี้ยงเรียนรู้การเลี้ยงกุ้งขาวความเค็มต่ำในระบบน้ำหมุนเวียนแบบยั่งยืน ติดต่อได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มข. โทร. 0 4320 2360