ครั่ง คือ ยางหรือชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง แมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหารและขับถ่ายครั่ง ออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งภายนอก มีลักษณะ นิ่มเหนียวสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล
ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่า ครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากครั่งมากมาย เช่น ใช้สีจากครั่งในการย้อมผ้า ย้อมไหม ย้อมหนังสัตว์ ใช้ครั่งตกแต่งเครื่องใช้เครื่องเรือนให้สวยงาม ใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคบางชนิด นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมอีกมากมายทีเดียว
ปัจจุบันการซื้อขายครั่งได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง มีโรงงานผลิตอุตสาหกรรมครั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้จะผลิตครั่งเม็ดเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ ตลาดภายในประเทศ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม และร้านค้าของป่าทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรมจะรับซื้อครั่งจากเกษตรกรโดยตรง หรือผ่านคนกลาง ซึ่งมีหน้าที่จัดหาครั่งป้อนโรงงาน สำหรับกรณีที่ปริมาณครั่งไม่มากนัก จะมีการซื้อขายกันตามร้านค้าของป่า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะทำการรวบรวมครั่งแล้วนำส่งโรงงานเพื่อแปรสภาพต่อไป การเลี้ยงครั่งทำได้ ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องมีต้นไม้ที่เหมาะสม ต้นไม้ที่นิยมเลี้ยงครั่งคือต้นจามจุรี ถ้าไม่รู้จักชื่อนี้เพราะไม่ได้จบจุฬาฯ ก็พอจะรู้จักชื่อนี้ไหมล่ะ “ฉำฉา” หรือว่า “ก้ามปู” มันก็ต้นเดียวกันนั่นแหละ
ดร.นพพร บุญปลอด อาจารย์สาขาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ บอกว่า พืชที่สามารถใช้เลี้ยงครั่งได้ เช่น สะแกนา ปันแก พุทราป่า ลิ้นจี่ และไทร เป็นต้น นอกจากนี้พืชตระกูลถั่วบางชนิดสามารถใช้เลี้ยงครั่งได้ดี เช่น ถั่วมะแฮะหรือถั่วแระ ซึ่งคุณสมบัติของต้นถั่วแระสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนและกึ่งแห้งแล้ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ปลูกง่ายและทนแล้ง หลังจากปลูกแล้วจะให้ผลผลิตประมาณ 6-9 เดือนเมื่อเก็บฝักแก่แล้วต้นสามารถเจริญเติบโตได้ต่อไปและให้ผลผลิตอีก 2-3 ปี เมล็ดถั่วแระให้โปรตีนสูง ต้นถั่วแระสามารถเจริญเติบโตแข่งกับพืชชนิดอื่นได้ดี นอกจากนี้สามารถเพิ่มธาตุอาหารในดินได้โดยสามารถตรึงไนโตรเจนได้เหมือนกับพืชตระกูลถั่วทั่วไป และยังมีการปลูกถั่วแระเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยสามารถลดการพังทลายของหน้าดินจากน้ำฝน ซึ่งถั่วแระสามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่ราบและที่ลาดชัน
การใช้ถั่วแระเป็นพืชอาศัยในการเลี้ยงครั่งเพื่อทดแทนไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เช่น จามจุรีนั้นมีข้อได้เปรียบหลายประการแล้ว อายุของต้นถั่วแระที่ใช้ในการปล่อยครั่งจะน้อยกว่าต้นไม้ชนิดอื่น จำนวนต้นต่อพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงครั่งก็จะมากขึ้น การจัดการ การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวจะสะดวกขึ้น จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผลผลิตครั่งที่ได้จากการเลี้ยงในถั่วแระนั้นประมาณ 0.2-0.5 กก./ต้น .
เห็นได้ชัดเจนว่า ครั่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นการส่งเสริมทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการจ้างงานและมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ อีก การส่งเสริมการเลี้ยงครั่งจึงควรดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้อุตสาหกรรมครั่งและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีผลผลิตครั่งป้อนโรงงานตลอดเวลา มิฉะนั้นอุตสาหกรรมเหล่านี้จะหันไปใช้ผลิตภัณฑ์สังเคราะห์อย่างอื่นทดแทนครั่ง