ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
12 กันยายน 2565
พลูคาวปลอดโรคเพิ่มสารสำคัญ ยกระดับสมุนไพรสู่พืชเศรษฐกิจ

พลูคาว พืชสมุนไพรที่มากด้วยสรรพคุณทางยา ในบ้านเรารู้จักกันแค่เพียงใช้เป็นสมุนไพร น้ำหมัก เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นสารต้านมะเร็ง รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน และใช้เป็นยาต้านการอักเสบ แต่ในต่างประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี นำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง ลดริ้วรอยเหี่ยวย่นและกำลังเป็นสมุนไพรยอดนิยมในอังกฤษ ที่มีการนำพลูคาวเป็นส่วนผสมในครีมบำรุงผิวรักษาสิว ครีมลดฝ้ากระแผลเป็นแผ่นมาส์กหน้า แชมพู ฯลฯ

ปัจจุบัน นับได้ว่าพลูคาวเป็นสมุนไพรที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ในวงการแพทย์และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่เป็นที่น่าเสียดายการผลิตพลูคาวในประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวไปสู่การผลิตเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าวได้เนื่องจากการเพาะปลูกยังทำกันแบบบ้าน ๆ มักจะพบโรคใบจุดใบไหม้ แอนแทรคโนส ผลผลิตมีเชื้อสะสม เลยทำให้ได้สารสำคัญค่อนข้างต่ำ ที่สำคัญปริมาณสำคัญที่ได้ไม่คงที่ สารสำคัญในพลูคาวมีอยู่ 2 ชนิด นั่นคือ สารเคอร์ซิตริน และรูตินเคอร์ซิตริน มีประโยชน์ในเรื่องลดริ้วรอยของผิวต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ลดการตายของผิวเมื่อเจอรังสียูวีบี ลดการติดเชื้อโปรตัวซัว ส่วนรูตินมีประโยชน์ในเรื่องป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดอาการอัลไซเมอร์ บำรุงกระดูกเพิ่มภูมิคุ้มกัน

จากการที่เราเก็บตัวอย่างพลูคาวอายุเก็บเกี่ยว 6-8เดือน ที่มีปลูกในบ้านเรามาทำการวิเคราะห์ ปรากฏว่าพลูคาวแห้ง 1 ต้น จะมีสารเคอร์ซิตริน 0.2-1.5 มก. และมีรูติน 0.2-2.6 มก. จะเห็นได้ว่าปริมาณสารสำคัญมีความแกว่งตัวสูงมาก ไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งที่พลูคาวนั้นเป็นพืชสมุนไพรที่มีอนาคตและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าเราสามารถควบคุมปริมาณสารสำคัญและทำให้การปลูกพลูคาวปลอดโรคได้"

น.ส.วรารัตน์ ศรีประพัฒน์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร เผยถึงที่มาผลิตพลูคาวปลอดโรค ได้สารสำคัญสูงและระดับปริมาณสารสำคัญไม่แกว่งตัว เพราะพลูคาวที่ปลูกกันทั่วไปมีปัญหาเรื่องการสะสมของเชื้อโรคในต้นพันธุ์ ในการแก้ปัญหานี้ ทีมงานสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้นำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาผลิตต้นพลูคาวปลอดโรคและปลอดสารพิษ และนำไปปลูกในโรงเรือนเพาะชำเพื่อผลิตป็นต้นกล้าปลอดโรค

จากนั้นนำต้นพลูคาวปลอดโรคมาปลูกในโรงงานผลิตพืช (Plant factory) โดยใช้ระบบไฮโดรโปนิกส์เพื่อให้สามารถผลิตสมุนไพรพลูคาวคุณภาพสูงได้ตลอดทั้งปี

และเมื่อนำพลูคาว 2 สายพันธุ์ พลูคาวพันธุ์ก้านม่วงที่มีความโดดเด่นในเรื่องมีสารเคอร์ซิตรินสูง และพลูคาวพันธุ์ใบเขียวที่มีสารรูตินสูง มาทดลองปลูกในระบบโรงเรือนไฮโดรโปนิกส์ ปรากฏว่าเมื่อนำพลูคาวอายุ 2 เดือน มาทำการวิเคราะห์หาสารสำคัญ พบว่าพลูคาวพันธุ์ก้านม่วงแห้ง 1 กรัมมีสารเคอร์ซิตริน 2.06 มก. มีสารรูติน 0.25 มก. ในขณะที่การปลูกแบบทั่วไปจะพบสารเคอร์ซิตริน 0.20 มก. สารรูติน 0.26 มก.

ส่วนพลูคาวพันธุ์ใบเขียว 1 กรัม ไม่พบสารเคอร์ซิตริน พบแต่สารรูติน 1.31 มก. ในขณะที่การปลูกแบบทั่วไปก็เช่นกัน ไม่พบสารเคอร์ซิตริน แต่มีสารรูตินอยู่เพียง 0.28 มก. เพื่อให้สารสำคัญสูงยิ่งขึ้นไปอีก น.ส.วรารัตน์ยังได้นำเทคนิคใช้สารประกอบฟีนอลิกที่ได้จากเนื้อเยื่อพืชมากระตุ้นพลูคาวให้ผลิตสารสำคัญภายใน 72 ชั่วโมง ทำให้พลูคาวมีสารสำคัญเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

จากการนำพลูคาวอายุ 2 เดือนที่ผ่านกระบวนการกระตุ้นสารสำคัญมาทำการวิเคราะห์ปรากฏว่า พลูคาวพันธุ์ก้านม่วงแห้ง 1 กรัม มีสารเคอร์ซิตรินเพิ่มขึ้นเป็น 6.5 มก. ได้สารสำคัญเพิ่มขึ้นมาจากการปลูกแบบทั่วไปถึง 32.5 เท่าตัว และในพลูคาวพันธุ์ใบเขียวแห้ง 1 กรัม มีสารรูตินเพิ่มขึ้นเป็น 2.14 กรัม ได้สารสำคัญสูงกว่าการปลูกแบบทั่วไปถึง 7.64 เท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้นการปลูกพลูคาวในระบบนี้นอกจากจะปลอดโรค ปลูกได้ทั้งปี ได้สารสำคัญสูง ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวยังสั้นแค่ 2 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว ไม่เหมือนการปลูกแบบทั่วไปที่ต้องใช้เวลานาน 6-8 เดือน

งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นความหวังใหม่ในการผลิตพืชสมุนไพรพลูคาวสายพันธุ์ไทยในเชิงพาณิชย์ออกสู่ตลาดโลกผู้สนใจ "เทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรพลูคาว" หรือต้องการต้นพลูคาวปลอดโรค ติดต่อได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ 0 2904 6885 ต่อ 213 และ 313


แหล่งที่มา

นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 24 ม.ค. 2565
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู