ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
26 เมษายน 2568
เห็ดแครง: การเพาะเห็ดแครงและการใช้ประโยชน์

เห็ดแครง: การเพาะเห็ดแครงและการใช้ประโยชน์

@รู้จักเห็ดแครง

เห็ดแครง หรือ Split-gill mushroom มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Schizophyllum commune (Fries)

 เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแกเป็นเห็ดที่แพร่หลายมากที่สุดในโลก เกิดขึ้นในทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา และเป็นเห็ดที่มีทั่วทุกภาคของประเทศไทย และงอกได้ตลอดปีในฤดูฝนจะพบเห็ดแครงงอกตามวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า โดยเฉพาะในภาคใต้ในธรรมชาติต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้ เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกจะพบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันมากในพื้นที่ภาคใต้

@เห็ดแครง เป็นเห็ดขนาดเล็ก ดอกเห็ดมีการเจริญเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม มีลักษณะคล้ายพัด  (Fan-shaped) มีขนาด 1-3 เซนติเมตร ดอกเห็ดด้านบนมีสีขาว-สีน้ำตาล ส่วนด้านล่างของดอกมีสีขาวปนเทา  ลักษณะดอกเหนียวและแข็งเมื่อแห้งด้านใต้ของดอกเห็ดมีครีบลักษณะแตกเป็นร่อง (split-gill) ก้านดอกสั้นมีสีขาวอมเทาจน-ขาวอมน้ำตาล  ด้านฐานมีก้านขนาดสั้น ๆ ยาว 0.1-0.5 ซม. หรือไม่มีก้านแต่จะติดอยู่กับวัสดุที่ขึ้นด้านข้าง

ลักษณะสปอร์: รูปร่างทรงกระบอก สปอร์มีสีขาว ผิวเรียบ ใส ขนาด 3-4 x 1-1.5 ไมครอน ลักษณะที่ต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงอายุของดอกเห็ด ความชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของวัสดุ ชนิดของวัสดุ ได้แก่ท่อนไม้ และกิ่งไม้ที่เห็ดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เห็ดแครงจะออกดอกได้ดีในอุณหภูมิ 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %  แหล่งอาศัยพบได้ตามธรรมชาติ บนกิ่งไม้และท่อนไม้ที่ตายแล้ว ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา

การเพาะเห็ดแครง

ธรรมชาติของเห็ดแครงจะชอบอากาศร้อนชื้น เจริญเติบโตได้ดีแถบพื้นที่ภาคใต้ สามารถเพาะได้ทั่วไปโดยการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ใช้เวลาเพาะเพียง 7 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการเพาะเห็ดระบบปิดในโรงเรือนที่มีมาตรฐานปลอดภัยและมีผลผลิตออกได้ทั้งปี

@เทคนิคการเพาะเห็ดแครงจากเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐ

  1. อาจารย์บรรลุ บุญรอดผู้เชี่ยวชาญการเพาะเห็ดแครง แนะนำสูตรอาหาร โดยสูตรอาหารผลิตก้อนเชื้อเห็ดแครง มีส่วนผสมดังนี้ ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม รำละเอียด 50 กิโลกรัม ภูไมท์ 2 กิโลกรัม และ ดีเกลือ 100 กรัม

@วิธีการผสมสูตรอาหาร

  1. นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำให้ได้ความชื้น 50-60 เปอร์เซ็นต์
  2. นำส่วนผสมบรรจุลงในถุงพลาสติกเพาะเห็ด ขนาด 6.5×10 นิ้ว ลงไป 3 ใน 4 ของถุง เฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 600 กรัมต่อถุง
  3. ปิดปากถุงด้วยจุกพลาสติก นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่ง ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง แล้วจึงพักให้เย็นลง
  4. นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อโดยเร็วลดการปนเปื้อนจากเชื้อราชนิดอื่น ๆ จากนั้นบ่มไว้อีก 12-20 วัน เส้นใยสีขาวจะเดินเต็มก้อนเชื้อเห็ด พร้อมให้นำไปเปิดดอกได้ [เปิดดอกทุก 15-20 วัน ครั้งละ 2,000-3,000 ก้อน โดยจะเปิดดอกในโรงเรือนขนาด 4x8 เมตร]
  5. การเปิดดอก
  • นำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเรือน ที่ควรมีขนาด 4 เมตร ยาว 8 เมตร และสูง 50 เมตร โดยวางก้อนเชื้อเห็ดบนชั้น ดึงจุกพลาสติกที่ปิดก้อนออก แล้วใช้ยาง/เชือกฟางรัดปากถุงแทน
  • กรีดถุงก้อนเชื้อด้านข้างให้ทะลุตามแนวเอียง 45 องศา ถุงละ 4-6 รอบ
  • รดน้ำสะอาดลงที่พื้นและผนังโรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้นในโรงเรือน เพราะถ้าน้ำเข้าตรงบริเวณรอยกรีด ก้อนเชื้อเห็ดอาจจะเน่าเสียหายได้
  • เมื่อมองเห็นว่าเส้นใยบริเวณรอยกรีดสมานกันดีจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน แล้วจึงเปลี่ยนมาให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือสเปรย์น้ำแทน ซึ่งที่นี่จะติดตั้งหัวเจ็ทสเปรย์ด้านบนในโรงเรือน แต่ถ้าไม่มีระบบน้ำใช้ถังพ่นยาฉีดพ่นน้ำเปล่าก็ได้
  • ทำเช่นนี้ทุกวัน ไม่เกิน 8 วัน (นับจากเปิดดอก) ก็จะสามารถเก็บดอกแรกได้แล้ว การเก็บดอก 1 รุ่นจะเก็บ 2 วัน
  • การเก็บเกี่ยววันแรกเลือกตัดดอกใหญ่ก่อน ปล่อยให้ดอกเล็กโตรุ่งขึ้นตัดดอกอีกครั้ง จากนั้นก็กระตุ้นดอกต่อ รุ่น 2 โดยให้น้ำที่ก้อนทุกวัน ติดต่อกัน 7 วัน วันที่ 8 ดอกชุดดอกก็จะออกพร้อมเก็บได้ครั้ง เก็บดอก 2 วันเหมือนเดิม เก็บดอกเพียง 2 รุ่นแล้วรื้อก้อนทิ้งและนำก้อนชุดใหม่เข้าแทน ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยต่อถุง อยู่ที่ 1-1.5 ขีด
  1. การเพาะเห็ดแครงอินทรีย์

วัตถุดิบการทำก้อนเชื้อเห็ด  คือ ขี้เลื่อยยางพาราและรำละเอียด

  • ผสมในสัดส่วน ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 50 กิโลกรัม
  • คลุกเคล้าวัตถุดิบให้เข้ากัน พรมด้วยน้ำสะอาดให้มีความชื้นพอเหมาะ
  • ใส่อาหารเสริมและอาหารชีวภาพลงไปเพื่อให้ดอกเห็ดมีน้ำหนัก
  • บรรจุใส่ถุงพลาสติกเพาะเห็ด ขนาด 5×10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง
  • นำไปนึ่งในหม้อนึ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลาพักไว้ให้เย็น ลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อ แล้วรีบใส่เชื้อ เห็ดแครงจะใช้เวลาบ่มก้อนเชื้อ 15-20 วัน เชื้อก็จะเดินเต็มก้อนพร้อมนำไปเปิดดอกในโรงเรือน [การใช้วัตถุดิบเพียง 2 อย่างในการทำก้อนเชื้อนี้ได้มีการทดลองมาแล้วว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกันเท่าไร เพียงแค่เชื้อเห็ดจะเดินช้ากว่าปกติประมาณ 4-5 วัน]
  1. คณะ วิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย พัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ

อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธนะ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย พัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ โดยต้องทำการติดตั้งกล่องระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติก่อน สำหรับหลักการทำงานของระบบจะเป็นแบบตัวตั้งเวลาและมีการเช็คอุณหภูมิโดยจะมีเซ็นเซอร์ตัววัดอุณหภูมิมีความละเอียด 0.1 องศา โดยนำตัวเซ็นเซอร์ดังกล่าววางไว้ใต้ก้อนเห็ดแครง เมื่อก้อนเห็ดแครงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ตัวกล่องระบบก็จะทำการสั่งรดน้ำ ตัวให้น้ำก็จะพ่นละอองน้ำให้กระจายรอบโรงเรือน มีรัศมีการกระจายละอองน้ำประมาณ 5 เมตร การให้น้ำแบบนี้จะไม่มีตัวตกค้างอยู่ในก้อนเห็ดแครง จะช่วยให้เห็ดแครงออกดอกอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยระบบจะมีการใช้พลังงานที่ต่ำมาก ทั้งระบบจะใช้พลังงานไม่ถึง 15 วัตต์ จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการเพาะเห็ดในรูปแบบอื่น นอกจากนี้ ตัวกล่องพัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติยังถูกออกแบบและควบคุมให้สามารถใช้ในการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ ได้ อาทิ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม และเห็ดหลินจือ

  1. คุณชลธิชา ชัยเพชร เกษตรกร อำเภอเมือง จังหวัดตรัง แนะนำสูตรอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดแครงและการเพาะเห็ด ดังนี้
  • ส่วนผสมคือขี้เลื่อย รำละเอียด ยิบซัม และดีเกลือ ปรับความชื้นด้วยน้ำ
  • หลังจากทำการผสมแล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกเพาะเห็ด ขนาด 5×10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง นำไปนึ่งในหม้อนึ่งลูกทุ่ง เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลา พักไว้ให้เย็นลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อแล้วรีบใส่เชื้อ
  • วิธีการเปิดดอกเห็ดแครงจะใช้เวลาบ่มก้อนเชื้อ 21 วัน เชื้อก็จะเดินเต็มก้อนพร้อมนำไปเปิดดอก
  • การเปิดดอกเริ่มจากนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเรือน ดึงกระดาษที่ปิดก้อนเชื้อออกแล้วใช้ยางรัดปากถุงแทน
  • กรีดถุงก้อนเชื้อวันแรกรดน้ำที่พื้นและผนังโรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้นในโรงเรือน เพราะถ้ารดน้ำไปถูกก้อนเชื้ออาจจะทำให้น้ำเข้าไปบริเวณรอยกรีดก้อนเชื้อเห็ดอาจจะเน่าเสียหายได้
  • หลังจากกรีดถุงและรดน้ำพื้นให้ชื้นประมาณ 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มออกตุ่มดอกออกมาเรื่อย ๆ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 6-7 ดอกเห็ดจะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้
  • การเก็บเกี่ยวโดยใช้มีดคม ๆ เฉือนตรงโคนดอกเห็ดที่ดอกบานเต็มที่แล้วเก็บได้รุ่นแรก จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 120 กรัม ต่อเห็ด 1 ก้อน
  • หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วรออีก 6-7 วัน จึงจะสามารถผลผลิตรุ่นที่ 2 โดยจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 20-30 กรัม แต่อาจจะมีขนาดเล็กลง คุณภาพลดลง จึงควรเก็บดอกเพียง 2 รุ่น แล้วรื้อก้อนเห็ดทิ้งเลย
  • นำก้อนเห็ดชุดใหม่เข้าแทน การเก็บเห็ดในแต่ละรอบต้องมีการพักล้างโรงเรือนเพื่อทำความสะอาดด้วยน้ำส้มควันไม้เนื่องจากว่าจะมีตัวไรที่จะทำให้เห็ดเกิดโรคได้ง่าย
  1. คุณบุญเลิศ ไชยคง เกษตรกรรุ่นใหม่ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวถึง ลักษณะโรงเรือนเพาะเห็ดแครงที่ฟาร์มเพาะเห็ดว่ามีขนาดความกว้าง 4.50 เมตร ยาว 8 เมตร โครงสร้างเป็นเหล็กมุงหลังคาด้วยเมทัลชีต ด้านข้างกั้นด้วยซาแรนและผ้ายาง เพื่อให้ระบายอากาศได้ง่าย สามารถบรรจุเห็ดได้ประมาณ 1,000 ก้อน และสะดวกในการควบคุมอุณหภูมิได้ง่าย
  • การเปิดดอกเห็ด ใช้มีดกรีดถุงก้อนเชื้อเป็นแนวยาว 5-6 แนว แบบทแยง 3 วันแรกรดน้ำที่พื้นและผนังโรงเรือน เพื่อเพิ่มความชื้นในโรงเรือน
  • หลังจากกรีดถุงและรดน้ำพื้นให้ชื้น ประมาณ 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มออกตุ่มดอกออกมาเรื่อย ๆ หลังจากนั้น ประมาณวันที่ 6-7 ดอกเห็ดจะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้
  • การเก็บเกี่ยวให้ใช้มีดคม ๆ เฉือนตรงโคนดอกเห็ดที่ดอกบานเต็มที่แล้วเก็บได้รุ่นแรก จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-100 กรัมต่อเห็ด 1 ก้อน หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้ว รออีก 6-7 วัน จึงจะสามารถผลผลิตรุ่นที่ 2 โดยจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 20-30 กรัม ตามลำดับ
  • เห็ด 1 ก้อน ส่วนใหญ่นิยมเก็บ 2 ครั้ง แต่ที่ฟาร์มจะเก็บผลผลิตแค่ครั้งเดียว เพื่อควบคุมคุณภาพของดอกเห็ด ผลผลิตดดอกที่ใหญ่ รับประทานแล้วจะรู้สึกถึงความกรุบกรอบ ดอกจะออกมาสวยเสมอกันหมดทุกก้อน แต่ถ้าไปเก็บรอบ 2 ข้อเสียคือจะได้ดอกที่เล็กลง และจะเกิดปัญหาราดำ ราเขียวตามมา เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ฟาร์มจะนำก้อนเห็ดมาทำเป็นปุ๋ยมาใช้ในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ต่อไป
  • การแขวนก้อนเชื้อเห็ด เพื่อประหยัดต้นทุนและช่วยกระจายความชื้นได้ทั่วถึงกว่าชั้นวาง โดยใน 1 แถวมัดก้อนเห็ดได้ 7 ก้อน ความยาวของเชือกจากราวแขวนสู่พื้นยาว 2 เมตร เป็นระดับที่กำลังพอดีไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไป หรือหากท่านใดสะดวกทำเป็นชั้นวางก็ได้แต่ด้วยชั้นวางต้องใช้เป็นตะแกรงเหล็ก ถือเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่ก็จะได้ถึงความสะดวก ง่ายต่อการบริหารจัดการ

 

  1. การเตรียมอาหารวุ้นและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเห็ด โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ มีดังนี้

@การเตรียมอาหารวุ้น พี.ดี.เอ

@วัสดุ มีดังนี้ มันฝรั่ง 200 กรัม, น้ำตาลเชิงเดี่ยว (กลูโคส) 20 กรัม, ผงวุ้น 20 กรัม และน้ำสะอาด 1 ลิตร

@ขั้นตอน

  1. นำมันฝรั่งมาปอกเปลือก ล้างด้วยน้ำสะอาด หั่นมันฝรั่งให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาด 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร
  2. แบ่งน้ำสะอาด 300 มิลลิลิตร ละลายผงวุ้น
  3. ต้มมันฝรั่งในน้ำ 700 มิลลิลิตร ที่เหลือจนสุก กรองเอาแต่น้ำผสมกับน้ำที่ละลายผงวุ้น
  4. นำไปตั้งไฟอ่อนๆ ใส่น้ำตาลเชิงเดี่ยว คนให้เข้ากัน
  5. นำอาหารเหลวที่ได้ บรรจุในขวดแบนประมาณ ¼ ของภาชนะบรรจุ ปิดจุกด้วยสำลีบริสุทธิ์ให้แน่น หุ้มด้วยกระดาษ และนำไปนึ่งในหม้อนึ่งความดันที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

นาน 25-30 นาที หรือหม้อนึ่งนาน 3 ชั่วโมง และนำมาวางเอียง 20-30 องศา ทิ้งไว้ให้เย็นจนวุ้นแข็งตัว

  1. เมื่ออาหารเย็นลงเก็บไว้ในห้องปลอดเชื้อประมาณ 2-3 วัน เพื่อดูว่าปลอดเชื้อจึงนำมาเลี้ยงเชื้อเห็ดได้
  2. นำชิ้นส่วนของดอกเห็ดที่ต้องการเพาะเลี้ยง วางบนอาหาร พี.ดี.เอ นำไปบ่มที่อุณหภูมิห้อง จนเส้นใยเห็ดเจริญเต็มที่พร้อมจะนำไปขยายในเมล็ดธัญพืชต่อไป

 

  1. สำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดแครง โดยกรมวิชาการเกษตร กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ มีดังนี้

กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยสูตรอาหาร เทคนิคการเพาะเห็ด การดูแล จนได้ผลผลิตเฉลี่ย 130-150 กรัม ในวัสดุเพาะ 1,000 กรัม ซึ่งผลผลิตเห็ดแครงที่ได้เป็นดอกที่แก่กำลังพอดีไม่เหนียวเกินไป สะอาดไม่มีกรวดทรายติดมา

@วัสดุอุปกรณ์

  1. ขี้เลื่อย (ไม้ยางพารา มะม่วง หรือฉ่ำฉา)
  2. เชื้อขยายเห็ดแครง
  3. ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7x11 นิ้ว
  4. คอขวดพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว
  5. ฝ้าย นุ่น สำลี ยางรัด
  6. หม้อนึ่งลูกทุ่ง หรือหม้อนึ่งความดัน
  7. โรงบ่มเส้นใย และโรงเรือนเปิดดอก

@การเตรียมเชื้อขยายในอาหารเมล็ดข้าวฟ่าง

  • แช่เมล็ดข้าวฟ่างวางในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  • นำไปต้มไฟปานกลาง เมื่อเมล็ดนุ่มนำไปสรงให้สะเด็ดน้ำบนตะแกรง กรอกใส่ขวดแบนและปิดจุกสำลีไว้
  • นำไปนึ่งความดัน โดยใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ เวลา 30 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น
  • ตัดเส้นใยจากแม่เชื้อในอาหารวุ้นถ่ายลงไป ด้วยเข็มเขี่ย ในสภาพปลอดเชื้อ บ่มเส้นใยที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 7-10 วันนำไปถ่ายลงวัสดุเพาะได้

 

@การเตรียมวัสดุเพาะเห็ด

@สูตรอาหาร

  1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
  2. เมล็ดข้าวฟ่างต้มแล้ว 50 กิโลกรัม
  3. รำ 3-5 กิโลกรัม
  4. ปูนขาว 1 กิโลกรัม
  5. น้ำ 65-85 กิโลกรัม

@วิธีการ

  • แช่เมล็ดข้าวฟางในน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน เทน้ำทิ้งและเปลี่ยนน้ำใหม่
  • ต้มให้เดือดจนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก รินน้ำทิ้ง และพักไว้ให้เย็น
  • ให้ผสมขี้เลื่อย ปูนขาว และรำข้าวด้วยกันก่อน จากนั้นจึงผสมน้ำลงไป เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงนำเมล็ดข้าวฟางที่เตรียมไว้มาผสมอีกที
  • กรอกใส่ถุงพลาสติกขนาด 6 x10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 600 กรัม ใส่คอขวด รัดยาง และปิดสำลีแล้วปิดด้วยฝาปิด
  • นำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ เวลา 30 นาที หรือนึ่งด้วยหม้อนึ่งลุกทุ่งอุณหภูมิ 100 องศาเซลเชียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง
  • พักไว้ให้เย็นรีบใส่เชื้อในเมล็ดข้าวางที่เตรียมไว้ทันที พยายามอย่าทิ้ง ถุงไว้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนสูง

@การพักบ่มเส้นใย

  • โรงเรือนสำหรับพักบ่มเส้นใย ควรเป็นโรงเรือนในร่มที่มีการระบายอากาศดีและเป็นที่มืด
  • เส้นใยจะเจริญเต็มถุงในเวลา 15-20 วัน ที่อุณหภูมิระหว่าง 25-35 องศาเซลเชียส
  • หลังจากเส้นใยเต็มถุงจึงให้แสงในโรงบ่ม แสงจะไปกระตุ้นให้เห็ดสร้างตุ่มดอก โดยสังเกตเส้นใยเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
  • นำไปเปิดดอก โดยดึงจุกสำลีและคอขวดด้านบนออกใช้ยางรัดปิดปากถุงให้แน่น
  • กรีดด้านข้างให้เป็นมุมเฉียงจากบนลงล่างทั้ง 4 มุมของถุง แล้วจึงนำไปวางบนชั้นหรือแขวนในโรงเรือนเปิดดอกต่อไป

 

@โรงเรือนเปิดดอก

เห็ดแครงชอบความชื้นในบรรยากาศสูง การระบายอากาศต้องดี การรดน้ำควรจะติดระบบสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้าและเย็น หากรดน้ำด้วยมือจะต้องใช้หัวฉีดพ่นฝอย มิฉะนั้นก้อนเห็ดจะดูดน้ำเข้าไปทำให้ก้อนเชื้อเสีย และปนเปื้อนจุลินทรีย์อื่น การวางก้อนเชื้อจะต้องวางบนชั้นหรือแขวนแบบเห็ดหูหนู หลังจากกรีดข้างถุงและรดน้ำเห็ดไปประมาณ 5 วัน จะเก็บผลผลิตรุ่นที่ 1 ได้ หลังจากนั้นเห็ดจะพักตัวอีก 5 7 วัน รดน้ำเป็นปกติจะเก็บรุ่นที่ 2 ตามลำดับ ซึ่งผลผลิตจะหมดให้ขนก้อนเก่าไปทิ้งและพักโรงเรือนให้แห้งเป็นเวลา 15วัน จึงนำถุงเห็ดรุ่นใหม่เข้าเปิดดอกต่อไป

@การเก็บเกี่ยวผลผลิต

ควรเก็บผลผลิตในระยะที่ดอกมีสีขาวนวล ก่อนที่จะสร้างสปอร์ มิฉะนั้นสีจะคล้ำออกสีน้ำตาลไม่น่ารับประทาน เนื้อดอกจะเหนียวขึ้นอีกด้วย

 

  1. การเพาะเห็ดแครงในถุงพลาสติก

สูตรอาหาร อาจารย์กาญจณี เตชะวรรักษ์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่, 2554

@สูตรก้อนเชื้อเห็ดแครง

  • ขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือไม้เนื้ออ่อน 100 กิโลกรัม
  • รำละเอียด หรือปลายข้าว 50 กิโลกรัม
  • ภูไมท์ 2 กิโลกรัม
  • ดีเกลือ 2 กิโลกรัม
  • น้ำสะอาด 75-80 กิโลกรัม

@ขั้นตอนการเตรียมอาหารเพาะเห็ดแครง

  1. คลุกขี้เลื่อย รำละเอียด และภูไมท์ให้เข้ากัน จากนั้นเติมน้ำสะอาดผสมดีเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากันพอหมาดๆ ระวังอย่าให้แฉะ
  2. บรรจุใส่ถุงพลาสติกเพาะเห็ดขนาด 6.5 x 10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง หรือน้ำหนักประมาณ 600 กรัม/ถุง
  3. อัดวัสดุเพาะพอแน่นสวมคอขวดใช้ยางรัด เจาะรูตรงกลาง เพื่อให้เชื้อเห็ดอยู่ตรงกลางถุง ปิดจุกประหยัดสำลี
  4. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลา พักไว้ให้เย็นลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อ แล้วรีบใส่เชื้ออย่าทิ้งไว้ให้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนของเชื้อสูง
  5. การเขี่ยเชื้อเห็ดควรเขี่ยในห้องที่สะอาดและลมสงบ นำเชื้อเห็ดที่จะเพาะมาเคาะให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายก่อน เพื่อสะดวกในการเทหัวเชื้อเห็ดลงถุง เปิดปากขวดออกลนปากขวดด้วยเปลวไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ ดึงจุกประหยัดสำลีที่จุกปากถุงออกแล้วเทหัวเชื้อที่ เลี้ยงบนเมล็ดข้าวฟ่างลงไปประมาณ 20-30 เมล็ด ผู้เพาะต้องระวังอย่าให้มือถูกเมล็ดข้าวฟ่างเด็ดขาด เพราะจำทำให้ก้อนเชื้อเสียได้ จุกสำลีที่จุกปากถุงห้ามวางกับพื้นเด็ดขาด และเมื่อเขี่ยหัวเชื้อลงในถุงแล้วต้องรีบปิดจุกสำลีทันที หัวเชื้อเห็ด 1 ขวดจะใส่ได้ประมาณ 30 ถุง
  6. การบ่มก้อนเชื้อ ก้อนเชื้อที่ทำการเขี่ยเชื้อแล้วนั้น ควรเก็บในโรงเรือนสำหรับบ่มเชื้อทันทีภายในโรงเรือนบ่มเชื้อต้องสะอาด และที่สำคัญจะต้องมืดขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต มิฉะนั้นแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก ทั้งที่เส้นใยยังเจริญสะสมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ หลังจากพักบ่มเส้นใยประมาณ 15-20 วัน เส้นใยจะเจริญเต็มถุง จึงนำไปเปิดดอก

@การทำให้เห็ดแครงเกิดดอก

เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเต็มก้อนเชื้อแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การทำให้เห็ดแครงเกิดดอก ซึ่งอาจารย์กาญจณีแนะนำว่าควรปฏิบัติดังนี้

  1. การกรีดถุง ให้คัดเลือกถุงก้อนเชื้อที่เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่ จากนั้นถอดคอขวดพลาสติกพร้อมกับจุกประหยัดสำลีออก รวบปากถุงใช้ยางรัดให้แน่นและใช้มีดคม ๆ กรีดข้างถุงให้เป็นแนวยาว 4 แถว โดยให้กรีดในลักษณะเยงดีกว่าการกรีดตรง เพราะก้อนเชื้อจะเก็บความขึ้นได้ดีกว่าและรอยกรีดจะยาวกว่าการกรีดตรง
  2. การวางก้อนเชื้อ ในการวางก้อนเชื้อให้เกิดดอกวางได้ 2 วิธี คือ

2.1 การวางบนชั้น โดยให้แต่ละถุงห่างกันประมาณ 5-7 เชนติเมตร

2.2 การวางก้อนเชื้อแบบแขวน โดยตัวที่จะแขวนก้อนเห็ดประกอบด้วยเชือก 4 เส้นและแป้นพลาสติกจำนวน 3-4 แป้น เชือกจะร้อยเข้ารูแต่ละแป้นติดกันเป็น 1 ชุด แต่ละชุดจะแขวนก้อนเห็ดได้ 10 ก้อน

@การดูแลรักษาก้อนเชื้อหลังจากเปิดถุงแล้ว

การดูแลรักษาก้อนเชื้อโดย หลังจากกรีดก้อนเชื้อและนำเข้าโรงเรือนเปิดดอกแล้ว ทั่วไปให้ปฏิบัติดังนี้

  • ระยะแรกของการรดน้ำควรรดเฉพาะที่พื้นโรงเรือน เพื่อให้ภายในโรงเรือนมีความชื้นที่เหมาะสมต่อการออกดอก
  • การรดน้ำและให้ความขึ้นก้อนเชื้อเห็ดในโรงเรือนควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศแห้งก็ควรรดน้ำมากขึ้น เพื่อรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ได้นานที่สุด สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือ ความสะอาด มิฉะนั้น โรงเรือนอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูเห็ดได้ ส่วน

@การเก็บเกี่ยวผลผลิต

  • ควรเก็บเกี่ยวในระยะที่ดอกมีสีขาวนวลก่อนที่จะสร้างสปอร์ มิฉะนั้นสีจะคล้ำออกสีน้ำตาล
  • หลังจากกรีดถุงและรดน้ำเห็ด ภายใน 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มปรากฏตุ่มดอกออกมา หลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน ดอกเห็ดก็จะโตพอที่จะทำการเก็บเกี่ยวได้
  • ใช้มือดึงดอกเห็ดเบา ๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดได้ง่าย ดอกเห็ดที่เก็บได้ในรุ่นแรกจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 80-90 กรัม/ก้อนเชื้อเห็ด 1 ก้อน หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้ว ประมาณ 5-7 วัน ก็เก็บเห็ดรุ่นที่ 2 ซึ่งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 30-40 กรัม ตามลำดับ
  • เห็ดแครง 1 ก้อน (600 กรัม) จะให้ผลผลิตประมาณ 110-130 กรัม
  • เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้วให้ขนก้อนเชื้อไปทิ้งให้เป็นที่หรือหมักให้ย่อยสลายดีก่อนนำไปทำปุ้ย เพราะเห็ดแครงสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ดี อาจเป็นอันตรายต่อผลิตผลทางการเกษตรบางชนิด สำหรับโรงเรือนเปิดดอกหลังขนย้ายก้อนเชื้อเก่าทิ้งไปแล้ว ควรทำความสะอาดโรงเรืนและพักโรงเรือนให้แห้งเป็นเวลา 10-15 วัน แล้วจึงนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่ไปเปิดดอกต่อไป

 

@องค์ประกอบทางเคมี คุณค่าทางอาหาร

จากรายงานการวิเคราะห์เห็ดแครงพบว่ามีคุณค่าทางอาหารดังนี้

  • มีกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิดได้แก่ ซีสทีน (cystine) กลูตามีน (glutamine)
  • เห็ดแครง 100 กรัม ให้โปรตีน 0 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม แคลเซียม 90 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 280 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 640 มิลลิกรัมและ พลังงาน 399 Kcal
  • จุดเด่นของเห็ดแครงอยู่ที่เนื้อสัมผัสเหมือนกับการรับประทานเนื้อไก่ มีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการส่งผลให้ความต้องการบริโภคเห็ดเพิ่มมากขึ้น เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่กินอาหารแบบมังสวิรัติ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือช่วงเทศกาลอาหารเจ

@สรรพคุณทางยาและการใช้ประโยชน์

  • พบว่าเห็ดมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด เช่น terpenoids, steroids, phenols, nucleotides, derivatives glycoproteins polysaccharide
  • เห็ดแครงมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สําคัญและมีคุณสมบัติเด่นคือมีสารโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) ที่มีชื่อว่า Schizophyllan เป็นสารเบต้ากลูแคนที่มีโครงสร้างประกอบด้วยสายตรง 1,3-beta-glucan เป็นจำนวนมาก สารชิโซฟิลแลน ที่พบในเห็ดแครงสามารถต่อต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ sarcoma 180, sarcoma 37 และ Ehrlich carcinoma ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหารที่กลับมาเป็นซ้ำและผ่าตัดไม่ได้ เช่นเดียวกับการเพิ่มเวลาการอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอโดยไม่มีผลข้างเคียงใดๆ
  • สามารถป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดในหนูทดลอง เช่น Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus, Escherichia coli และ Klebsiella pneumoniae เป็นต้น
  • สารสกัดจากเห็ดแครงมีคุณสมบัติในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นสารต้านจุลชีพที่มีศักยภาพ
  • สารเลคตินจากเห็ดแครง มีฤทธิ์ต้านการงอกของเซลล์มะเร็ง
  • มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสและกิจกรรมการยับยั้งต่อ HIV-1 reverse transcriptase
  • สารโพลีแซคคาไรด์และสารประกอบฟีนอลิกมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นการใช้เห็ดชนิดนี้ในอาหารประจำวันเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ อาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ในการป้องกันหรือลดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน
  • งานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดในเห็ดแครง เช่น กรกฏ สันทัดการ, 2564 ศึกษา ผลการเสริมสารสกัดจากเศษเหลือเห็ดแครงเพื่อเป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอาหารปลานิล โดยการนำเศษเหลือจากเห็ดแครงมาสกัดและเสริมในอาหารปลาเพื่อเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  • นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วิจัย Anti-aging cosmetics from Schizophyllum commune Fries โดยนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอความแก่โดยใช้สารสกัดมาศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพ การออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและความปลอดภัย
  • เห็ดแครงมีคุณสมบัติในการกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน สารเบต้ากลูแคนช่วยปรับสภาพของร่างกาย เช่น ระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาล ความต้านทานต่อโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เบต้ากลูแคนสามารถเป็นตัวพายานาโน ก่อเจลและกระตุ้นการสะสมคอลลาเจนซึ่งช่วยสมานแผล และยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ คุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวทำให้เบต้ากลูแคนมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอาหารเสริม ยาจากธรรมชาติ และเครื่องสำอาง
  • มีคำแนะนำให้คนไข้ที่เป็นโรคระดูขาว รับประทานเห็ดแครงที่ปรุงกับไข่เพื่อรักษาโรคในประเทศญี่ปุ่นใช้เห็ดแครงเป็นยาเนื่องจากในเห็ดแครงมีสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเซลล์มะเร็งและต่อต้านเชื้อไวรัส

@การใช้ประโยชน์ทางอาหาร

  • เห็ดแครงเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนและไฟเบอร์สูงสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู เช่น แกง ห่อหมก ทอดมันเห็ดแครง ลาบเห็ดแครง แกงกะทิเห็ดแครงใส่ใบเหลียง
  • ทางภาคใต้ เมนูอาหารขึ้นชื่อคือ แกงคั่วเห็ดแครงใส่กุ้งหรือใส่หมูย่าง และเมนูท้องถิ่นคืออุบเห็ดแครงโดยจะนำเห็ดแครงมาสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆใส่ข้าวโพดและมะพร้าวขูด ปั้นเป็นก้อนนำไปทอด เมนูอื่น ๆ เช่น เห็ดแครงหมกสมุนไพร คั่วกลิ้ง แกงกะหรี่ ห่อหมก ลวกยำ ลาบ หรือไข่เจียวเห็ดแครง นอกจากนี้ยังมีการนำเห็ดแครงไปผัดใส่ไข่ ยำเห็ดแครงร่วมกับเห็ดหรือผักชนิดอื่น ๆ พล่าเห็ดแครง เป็นต้น นอกเหนือจากภาคใต้แล้วภาคอีสานก็นิยมรับประทานเห็ดแครงเช่นกัน
  • สามารถนำเห็ดแครงไปผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) หรือเนื้อสัตว์จากพืช เห็ดแครงที่เป็นส่วนผสมของเมนูแพลนต์เบสทุกแบรนด์ในประเทศไทย มาจากเครือข่าย บ้านเห็ดแครง จ.สงขลา ที่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดแครงด้วยระบบ Smart Farm ที่ควบคุมได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ และให้ผลผลิตทั้งปีอีกด้วย ​
  • การแปรรูป มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เห็ดแครงอบแห้งด้วยพาราโบลาโดมและเห็ดแครงทรงเครื่องทอดกรอบ

 

@การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

  • ด้านโรคพืช พิชัย ลีลาเลิศ และคณะ, 2554 ศีกษาการสกัดสารเห็ดแครงด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เพื่อทดสอบ ความสามารถในการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืชและคุณสมบัติทางเคมี
  • เยาวภา อร่ามศิริรุจิเวทย์ และคณะ, 2559 ศีกษาสารสกัดจากเห็ดและประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคพืชและแบคทีเรียบางชนิด
  • ด้านโรคสัตว์น้ำ กัลย์กนิต พิสมยรมย์ และ อภิชญา เกตุอ้น, 2564 ศีกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากเห็ดต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiae ที่ก่อโรคในปลานิลแดง (Oreochromis niloticus × Oreochromis mossambicus)

@การตลาด

  • เห็ดแครงมีตลาดที่กว้างในกลุ่มคนทั่วไป และกลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มกินเจและมังสวิรัติ รวมไปถึงกลุ่มคนต้องการลดน้ำหนัก สามารถขยายการตลาดเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคตที่จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น
  • ปี 2565 คาดว่าการตลาดเห็ดแครงและอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกจากพืชที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่มีมากขึ้น
  • การตลาด และราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 200-250 บาท/กก. ราคาขายส่ง 150-170 บาท/กก. ส่วนเห็ดแครงอบแห้งกิโลกรัมละ 1,350 บาท สำหรับการเก็บรักษาโดยแพ็คใส่ถุงพลาสติกเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานหลายสัปดาห์โดยที่เห็ดยังสด
  • ปัจจุบันมีการผลิตเห็ดแครงเป็นทางเลือกโดยการสร้างโมเดลธุรกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)

 

 @แหล่งบริการเรียนรู้เห็ดแครง

  • ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครง อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา หรือติดต่อทางหมายเลขโทรศัพท์ (074) 330-241-3 โดยทางศูนย์จะมีการฝึกอบรมให้ฟรี
  • งานบริการเชื้อพันธุ์เห็ดของกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
  • สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง เบอร์โทรศัพท์ 075-218-681

 

เอกสารอ้างอิง

  1. เยาวภา อร่ามศิริรุจิเวทย์, ภัสรา นวะบุศย์ และ พูนพิไล สุวรรณฤทธิ์. (2559). สารสกัดจากเห็ดและประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรคพืชและแบคทีเรียบางชนิด. แก่นเกษตร, 44(4), 595-604.
  2. สุรเดช สดคมขำ. (2560). กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. หนุนเพาะเห็ดแครงอย่างยั่งยืน. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 30 (661), 44, 46-47
  3. งานบริการเชื้อพันธุ์เห็ดของกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร. (2561). น.ส.พ. กสิกร, 91 (6), 57-66
  4. วิภารัตน์ มาลัยเล็ก. (2564). เห็ดแครงสร้างรายได้จากอาชีพเสริมสู่อาชีพหลัก. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 34 (757), 50-51
  5. กรกฏ สันทัดการ. (2564). ผลการเสริมสารสกัดจากเศษเหลือเห็ดแครงเพื่อเป็นสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอาหารปลานิล. แก่นเกษตร, 49 (suppl. 1), 126-133
  6. ปิยวรรณ มากสง. (2562). วิศวะ มทร.ศรีวิชัย พัฒนาระบบเพาะเห็ดแครงอัตโนมัติ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ สู่ชุมชนท่าข้าม. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 31 (697) , 26

7, วสันณ์ เพชรรัตน์. (2542). เห็ดไทย. เห็ดไทย, 62-67

  1. อัมพา คำวงษา. (2554). คู่มือการเพาะเห็ดเงินล้านรวมสารพันเห็ดเศรษฐกิจทำเงิน. กรุงเทพฯ
  2. นฤมล มงคลธนวัฒ. (2557). เห็ดแครง : เห็ดพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่า. วารสารวิทยาศาสตร์ลาดกระบัง, 23 (1), 138-147
  3. Hobbs, Christopher. (2005). The Chemistry, Nutritional Value, Immunopharmacology, and Safety of the Traditional Food of Medicinal Split-Gill Fugus Schizophyllum commune Fr.:Fr. (Schizophyllaceae). A Literature Review. International Journal of Medicinal Mushrooms-INT J MED MUSHROOMS. 7. 127-140. 10.1615/IntJMedMushr.v7.i12.130.
  4. วีณา จิรัจฉริยากูล. เบต้ากลูแคนจากเห็ดแครง  (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/361/เบต้ากลูแคนจากเห็ดแครง/function.session-start [26 สิงหาคม 2565]
  5. เห็ดบนโลกใบนี้ : เห็ดแครง (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://banhed7591.blogspot.com/p/blog-page_24.html [26 สิงหาคม 2565]
  6. สุวิทย์ สุวรรณโณ. (2555). การผลิตชีวมวลและสารโพลิแซกคาไรด์จากเห็ดแครง (Schizophyllum commune) บนอาหารแข็งทะลายปาล์มเปล่าและทางใบปาล์มน้ำมัน (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2016/10994/1/370242.pdf [26 สิงหาคม 2565]
  7. กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร. การเพาะเห็ดแครง (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.doa.go.th/biotech/wp-content/uploads/2019/07/7.การเพาะเห็ดแครง.pdf [26 สิงหาคม 2565]
  8. เพาะเห็ดแครงในถุงพลาสติก. (2553). (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.phtnet.org/news53/view-news.asp?nID=35

เพาะเห็ดแครงในถุงพลาสติก / 2553 [26 สิงหาคม 2565]

  1. สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเห็ดแครง (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://forprod.forest.go.th/forprod/em/pdf/เอกสารประกอบเห็ดแครง.pdf [26 สิงหาคม 2565]

https://www.facebook.com/ThaiAGRIS/posts/448331907324492

 


แหล่งที่มา

ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://www.facebook.com/ThaiAGRIS/posts/448331907324492
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู