ข่าวสาร
Q60 การแปรรูปผลิตผลเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร
25 สิงหาคม 2565
นวัตกรรมยางพาราทางการแพทย์ “เฝือกประดิษฐ์ยางพาราชิ้นแรกของโลก”

เกษตรฯ สุดเจ๋ง โชว์นวัตกรรมยางพาราทางการแพทย์ “เฝือกประดิษฐ์จากยางพาราชิ้นแรกของโลก” หวังเพิ่มมูลค่ายางพารา อัพเกรดภาคเกษตรกรรมของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านศูนย์ AIC ทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เปิดเผยถึงความสำเร็จของการส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราที่ใช้ในทางการแพทย์ ว่า ในวันนี้มีอีกหนึ่งความสำเร็จของการส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราที่ใช้ในทางการแพทย์ คือ เฝือกประดิษฐ์ยางพาราชิ้นแรกของโลก ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์ AIC การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ได้มีการวิจัยและพัฒนาในเรื่องของยางพาราจำนวน 32 เรื่อง อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูป, เฝือกเท้าสำหรับลูกช้างจากยางธรรมชาติ NR, การพัฒนาแผ่นรองเท้าสำเร็จรูปจากยางธรรมชาติสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรครองช้ำ และโรคเท้าแบน, เทคโนโลยีการพัฒนาหุ่นจำลองส่วนหัวจากยางพาราเพื่อฝึกหัดทำหัตถการทางจักษุ, อุปกรณ์ถ้วยรองน้ำยางพาราที่สามารถจับตัวน้ำยางได้เองและกรรมวิธีการผลิตอุปกรณ์ถ้วยรองน้ำยางพาราที่สามารถจับตัวน้ำยางได้เอง, ที่ครอบสวิตช์ไฟเรืองแสงจากยางพารา

ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น หมอน ที่นอนยางพารา ทั้งนี้ การผลิตนวัตกรรมยางพาราที่ใช้ในทางการแพทย์จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและร่วมสร้างผลงานนวัตกรรมจากยางพาราสู่การแพทย์ โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และที่สำคัญคือเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง

ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์นิยม ละออปักษิณ เลขาธิการมูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี/นายกสมาคมพัฒนาแพทย์ทางเลือกไทย-จีน ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การนำเฝือกประดิษฐ์ยางพาราไปประยุกต์ใช้รักษาทางการแพทย์”กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยทางออร์โธปิดิกส์ในเรื่องการบาดเจ็บที่เท้า สำหรับกรณีที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้วิธีการใส่เฝือก ซึ่งถือเป็นมาตรฐาน แต่ยังพบว่ามีผลแทรกซ้อน เช่น เฝือกรัดแน่นเกินไป เฝือกหัก และการดูแลหลังใส่เฝือก ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีมากขึ้น เฝือกจึงมีหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม แต่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ดังนั้น จึงนับเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการฯ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาปรับปรุงเฝือกยางพาราต้นแบบ (Prototype) ให้เป็นเฝือกยางพาราเชิงพาณิชย์

สำหรับผลการวิจัยโครงการฯ ดังกล่าว สามารถพัฒนาเฝือกยางพาราในการออกแบบให้มีความสวยงามมีความทันสมัย และดำเนินการจดสิทธิบัตรการออกแบบจนผ่านการอนุมัติ จำนวน 4 ฉบับ และร่วมจัดทำร่างข้อกำหนดจากกรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นการกำหนดตัวเลขจากงานวิจัย เพื่อให้เป็นต้นแบบในการอ้างอิงสำหรับประเทศไทยในการประดิษฐ์เฝือกยางพารา และได้ประกาศผ่านการร่างข้อกำหนด

นอกจากนี้ ในประเด็นการประยุกต์ใช้ทางคลินิกซึ่งได้ทำการศึกษาทางโรงพยาบาลจำนวน 7 แห่ง รวม 69 ราย หลังจากอธิบายให้แพทย์ผู้ใช้เข้าใจและมีการติดตามผ่านแบบสอบถามความพึงพอใจหลังใส่เฝือกและกิจวัตรหลังใส่เฝือกที่ 1 4 และ 8 สัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับเฝือกปูนในงานวิจัยที่มีมาก่อน พบว่ามีค่าที่สูงขึ้นโดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ที่ผ่านมา กยท. ได้วิจัยและผลิตอุปกรณ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางเพื่อใช้ทางการแพทย์หลายชิ้น อาทิ อุปกรณ์สำหรับฝึกหมอ พยาบาล เช่น แผ่นฝึกเย็บสื่อการสอน หุ่นฝึกช่วยชีวิต (CPR) ตลอดจนแผ่นยางรองรองเท้าสำหรับคนที่มีปัญหาจากอาการรองช้ำ และเท้าเทียมจากยางธรรมชาติ เป็นต้น

นางสาวขวัญนลิน นพเก้า นักวิเคราะห์อาวุโส 1 สำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) กล่าวว่า สวก. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเกษตร ตลอดจนสนับสนุนทุนวิจัยแก่ภาคเอกชนของไทย เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาโครงการวิจัยเชิงนวัตกรรมที่สามารถผลักดันสู่การลงทุนทางธุรกิจ และเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยเร่งสนองนโยบายรัฐบาลเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศต่อเนื่อง
ผ่านการดำเนินงานวิจัยกลุ่มเรื่องยางพารา จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่
1. ปี 2562 การวิจัย การออกแบบและนวัตกรรม สำหรับวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ เครื่องมือทดสอบคุณภาพ และกระบวนการผลิต ยางโฟมขั้นสูง เพื่อควบคุมคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ การยศาสตร์ และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับการผลิตเป็นหมอนหรือที่นอน ยางพาราเกรดพิเศษ
2. ปี 2563 การวิจัยและนวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์ เครื่องมือทดสอบคุณภาพ และห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อควบคุมคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และมีความเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม สำหรับการผลิตเป็นหมอนหรือที่นอนยางพาราเกรดพิเศษ (ปีที่ 2)
3. ปี 2563 การจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของโลก

ทั้งนี้ ภายในงานแถลงข่าววันนี้ นอกจากจะมีการนำผลงานนวัตกรรมยางพาราทางการแพทย์ อาทิ เฝือกประดิษฐ์ยางพารา แผ่นฝึกเย็บสื่อการสอน หุ่นฝึกช่วยชีวิต (CPR) แผ่นยางรองรองเท้าสำหรับผู้ที่มีอาการรองช้ำ มาจัดแสดงให้กับผู้เข้าร่วมแถลงข่าวได้รับชมแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ชุดรองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพารา และถุงมือยางธรรมชาติ/ถุงมือไนไตรเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยง จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวิทย์ วิณิชย์สุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ มาจัดแสดงให้กับผู้เข้าร่วมงาน และสื่อมวลชนได้รับชมอีกด้วย


แหล่งที่มา

เรื่องเล่า ข่าวเกษตร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=739917713995280&set=a.707652400555145
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู