ข่าวสาร
M12 การเพาะเลี้ยง
18 สิงหาคม 2565
การเลี้ยงปลาหมอไทย

ปลาหมอเป็นปลาน้ำจืดพื้นบ้านของไทยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ประชาชนทุกระดับชนชั้นของสังคมไทยนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถประกอบอาหารได้หลากหลายทั้งแกง ต้ม ทอด ย่าง หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งเป็นปลาที่มีความทนทาน ทรหด อดทนสูง เพราะมีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ จึงอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีน้ำน้อยๆ หรือที่น้ำชุ่มชื้นได้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ

การเลี้ยงปลาหมอในบ่อดิน
1) การเตรียมบ่อ
ขนาดบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาหมอส่วนใหญ่ขนาดไม่ใหญ่นัก พื้นที่ประมาณ 1-3 งาน หรือบางแห่งนิยม เลี้ยงในบ่อขนาด 3-4 ไร่ ความลึกประมาณ 1.5-2.0 เมตร บ่อเก่าต้องสูบน้ำให้แห้ง กำจัดศัตรูปลาโดยเฉพาะปลากินเนื้อ วัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำออกให้หมด หว่านปูนขาวประมาณ 150-200 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคและศัตรูปลา กรณีบ่อใหม่หว่านปูนขาวปริมาณ 100 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างไรก็ตามปลาหมอไทยไม่ชอบน้ำที่เป็นด่างหรือกระด้างสูง หรือมี pH สูง ซึ่ง pH ของน้ำควรอยู่ในช่วง 6.5-8.5 ใช้อวนไนลอนสีฟ้ากั้นรอบบ่อให้สูงประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลาหลบหนี สูบน้ำลงบ่อก่อนปล่อยลูกปลาประมาณ 60-100 เซนติเมตร กรองน้ำด้วยอวนมุ้งตาถี่หรืออาจฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีนผง 3 ส่วน หรือ 3 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร และทำสีน้ำสร้างห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ จึงปล่อยลูกปลา หลังจากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเข้าบ่อเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จนมีระดับน้ำ 1.5 เมตร และควบคุมระดับน้ำที่ระดับนี้ตลอดไป

2) การเลือกลูกพันธุ์ปลา
ขนาดลูกปลาหมอที่เหมาะสมในการปล่อยเลี้ยงบ่อดินมี 2 ขนาดคือ ลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร หรือเรียกว่า “ใบมะขาม” ซึ่งมีอายุ 25-30 วัน และขนาด 2-3 นิ้ว ซึ่งเป็นลูกปลาอายุ 60-75 วัน เกษตรกรที่ไม่มีความชำนาญอาจเลือกลูกปลาขนาด 2-3 นิ้ว ซึ่งราคาเฉลี่ยตัวละ 0.60-1.00 บาทต่อตัว จะจัดการดูแลง่ายและมีอัตรารอดสูง ส่วนลูกปลาขนาดใบมะขามเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ลำเลียงสะดวกราคาถูก เฉลี่ย 0.30-0.50 บาทต่อตัว หากจัดการบ่อเลี้ยงที่ดีก็สามารถทำให้อัตรารอดและผลผลิตสูง

3) อัตราปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงโดยทั่วไป
เกษตรกรนิยมลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร อัตราปล่อย 30-50 ตัวต่อตารางเมตร หรือ50,000-80,000 ตัวต่อไร่ หากใช้วิธีปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ผสมพันธุ์วางไข่ อนุบาลและเลี้ยงในบ่อเดียวกันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น โดยใช้อัตราพ่อแม่พันธุ์ปลา 40-60 คู่ต่อไร่ จะได้ลูกปลาขนาดใบมะขามประมาณ80,000-150,000 ตัว ต่อไร่ ทั้งนี้ความหนาแน่นในการเลี้ยงนี้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะการจัดการฟาร์ม และงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหากมีเป้าหมายต้องการปลาขนาดใหญ่ต้องปล่อยลูกปลาในความหนาแน่นต่ำลงมาประมาณ 20 ตัวต่อตารางเมตรหรือ 32,000 ตัวต่อไร่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยพันธุ์ลูกปลาคือ ช่วงเวลาเช้าหรือเย็นและควรปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงให้ใกล้เคียงกับน้ำในบ่อก่อน โดยนำถุงลูกปลาแช่น้ำในบ่อเป็นเวลาประมาณ 10-15 นาที เพื่อป้องกันลูกปลาช็อค แล้วเปิดปากถุงค่อยๆ เอาน้ำในบ่อใส่ถุงเพื่อให้ลูกปลาปรับตัวให้เข้ากับน้ำใหม่ได้

4) อาหารและการให้อาหาร
การเลี้ยงปลาหมอแบบยังชีพหรือแบบหัวไร่ปลายนาไม่ว่าในบ่อปลาหลังบ้าน ร่องสวน คันคูน้ำมุมบ่อในนาข้าว นอกจากอาหารตามธรรมชาติแล้ว เกษตรกรนิยมให้อาหารสมทบจำพวกเศษอาหารจากครัวเรือน รำละเอียด ปลาสดสับ ปลวก และการใช้ไฟล่อแมลงกลางคืน ตลอดจนอาหารสำเร็จรูปบางส่วนส่วนการเลี้ยงปลาหมอแบบธุรกิจเชิงพาณิชย์นั้น เน้นการปล่อยเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงมาก ปลาหมอนั้นเป็นปลากินเนื้อในช่วงแรกจากลูกปลาขนาดใบมะขามเป็นปลารุ่น (อายุ 1-2 เดือน) ต้องการอาหารที่เป็นโปรตีนสูงมากหลังจากนั้นเมื่ออายุ 2-3 เดือน ต้องการอาหารระดับโปรตีนต่ำ ซึ่งการให้ต้องเดินหว่านอาหารให้รอบบ่อระยะเวลาเลี้ยงและวิธีการจับปลาจำหน่ายระยะเวลาเลี้ยงขึ้นอยู่กับขนาดปลาที่ตลาดต้องการ สภาวะสิ่งแวดล้อมภายในบ่อและสุขภาพปลาทั่วไปใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 90-120 วัน การจำหน่ายผู้เลี้ยงกับแพปลา (พ่อค้าขายส่ง) มักตกลงราคาขายเหมาบ่อ โดยทอดแหสุ่มตัวอย่างปลาแล้วตีราคา ส่วนการจับปลานั้นจะต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อยแล้วจึงตีอวนล้อมจับปลา โดยลากอวนจากขอบบ่อด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งแล้วจึงยกอวนขึ้น ใช้สวิงจับปลาใส่กระชังพักปลาหรือตะกร้าเพื่อคัดขนาดบรรจุปลาในลังไม้ ใช้น้ำสะอาดฉีดพ่นทำความสะอาดตัวปลาซึ่งมักติดคราบโคลนและกลิ่นโคลนดินหลายๆ ครั้ง แล้วลำเลียงผลผลิตสู่ตลาดต่อไป


แหล่งที่มา

กรมประมง
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู