ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
18 พฤษภาคม 2567
หนอนแมลงวันลาย สุดยอดหนอนแมลงโปรตีนเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์
หนอนแมลงวันลาย สุดยอดหนอนแมลงโปรตีนเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์
ภาวะวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย สร้างผลกระทบต่อวงการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นตามมา เกษตรกรจึงต้องหาแหล่งวัตถุดิบทดแทน หนอนแมลงวันลาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทดแทนประเภทโปรตีน เช่น ปลาป่นและถั่วเหลืองได้
@แมลงวันลายคืออะไร
แมลงวันลายหรือแมลงทหารเสือ (Black Soldier Fly-BSF) มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hermetia illucens L. อยู่ในวงศ์ Stratiomyidae อันดับ Diptera เป็นแมลงที่มีศักยภาพและกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาและประเทศเขตร้อน เป็นทางเลือกสำหรับทดแทนกากถั่วเหลืองในอาหารสัตว์ และอนุญาตให้ใช้แล้วเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในยุโรป (คณะกรรมาธิการยุโรป, 2017) เป็นแมลงรักษ์โลกที่ที่กินซากพืชซากสัตว์และอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร เจริญเติบโตเร็ว แมลงวันลายตัวเต็มวัยไม่กัดหรือต่อย ไม่ก่อโรคสู่คนและสัตว์ เป็นแมลงที่ไม่ใช่ศัตรูพืช คล้ายตัวต่อ รวมทั้งสามารถย่อยสลายซากอินทรียวัตถุ ขยะอินทรีย์และมูลสัตว์ได้ดี และยังควบคุมแมลงวันบ้านได้ จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการลดปริมาณขยะอินทรีย์ สามารถย่อยขยะอินทรีย์ได้มากถึง 80-90 % และใช้เวลาในการย่อยสลายขยะเร็วกว่าไส้เดือนดิน ขยะอินทรีย์ที่ได้หลังจากการย่อยสลายสามารถใช้เป็นปุ๋ยสำหรับปรับปรุงบำรุงดินที่มีธาตุอาหารสูงอีกด้วย ตัวอ่อนแมลง (Larvae) สามารถเปลี่ยนอินทรียวัตถุให้เป็นโปรตีนและไขมันได้ รวมถึงการใช้น้ำในการเพาะเลี้ยงน้อยมาก โดยสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและผลผลิตส่วนเกินที่เป็นแหล่งชีวมวลที่เหมาะสมมาพัฒนาการเลี้ยงให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไปได้ แมลงวันลายมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและภูมิอากาศอบอุ่นของอเมริกา แต่ปัจจุบันแพร่หลายในเขตร้อนทั่วโลก
@รูปร่างลักษณะและวงจรชีวิตของแมลงวันลาย
แมลงวันลายมีแหล่งอาศัยตามต้นไม้ เกาะตามใบไม้ กิ่งไม้ กินอาหารจำพวกน้ำ น้ำหวาน แมลงวันลายจะไม่รบกวนมนุษย์ ทั้งยังจะช่วยสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับธรรมชาติ การวางไข่จะวางไข่บนเศษผัก ผลไม้ หรือในถังน้ำหมักที่มีกลิ่นเปรี้ยว ลักษณะของไข่คล้ายเมล็ดข้าวเจ้า เมื่อไข่เจริญเติบโตเป็นหนอน ขยะอินทรีย์ต่าง ๆ จึงเป็นอาหารชั้นเลิศของหนอนแมลงวันลาย ซึ่งหนอนแมลงวันลายกินอาหารได้เร็วกว่าไส้เดือนดินถึง 5 เท่า และยังมีกรดลอริกที่ยับยั้งเชื้อที่ก่อโรคต่าง ๆ ตัวเต็มวัยแมลงวันลายมีลักษณะลำตัวยาวสีดำ คล้ายตัวต่อ ขาทุกคู่มีสีขาวสลับดำ ปีกสีน้ำตาล หนวดมีลักษณะยาวเป็นเส้นตรง บริเวณท้องปล้องแรกมีลักษณะโปร่งใส ความยาวลำตัว ประมาณ 13-20 มม. ตัวอ่อนของพวกมันสามารถมีขนาดใหญ่ขึ้นและเติบโตได้ ถึง 27 มม. กว้าง 6 มม. ตัวอ่อนแมลงวันมีปากเคี้ยว เพศเมียมีพฤติกรรมการวางไข่เป็นกลุ่ม ในขณะที่ตัวเต็มวัยมีปากเหมือนฟองน้ำที่ไม่ทำงาน วงจรชีวิตตั้งแต่ระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 40 ถึง 45 วัน วงจรชีวิตของแมลงวันลาย ประกอบด้วยระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ดังนี้
1. ระยะไข่ (Eggs) ไข่มีลักษณะเรียวยาว ความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีจำนวน: 500 ถึง 900 ฟอง เวลาฟักไข่: ประมาณ 4 วัน
2. ระยะหนอน (Larvae) มีลักษณะตัวแบนยาว ส่วนหัวมีขนาดเล็กกว่าส่วนอก ไม่มีขา เคลื่อนที่โดยใช้ตะขอที่อยู่ในส่วนปาก (mouth hooks)ช่วยในการคืบคลาน มี 5 วัย อายุ: 13 ถึง 18 วัน ตัวหนอนจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีผนังลำตัว
3. ระยะก่อนเข้าดักแด้ (Prepupa) อายุ: 7 วัน
4. ระยะดักแด้ (Pupa) อายุ: 10 วัน- 1 เดือน
5. ระยะตัวเต็มวัย (Adult) อายุ: 5 ถึง 8 วัน
การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
@การเตรียมพื้นที่
-เตรียมพื้นที่โรงเรือนที่มีตาข่ายหรือมุ้ง เพื่อป้องกันตัวเต็มวัยของหนอนแมลงวันลายบินหนี โดยนิสัยแล้วตัวเต็มวัยมัก ชอบผสมพันธุ์ในที่ที่มีแสงสว่าง ช่วงเวลาประมาณ 10.00-12.00 น.
-การเตรียมพื้นที่สำหรับวางไข่ ให้นำแผ่นไม้มาประกบกันให้มีช่องว่าง ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สามารถนำแผ่นไม้แต่ละแผ่นมาวางประกบกันประมาณ 3-4 ชั้น โดยจะต้องมี การนำอาหารมาวางล่อเพื่อให้แม่พันธุ์ทำการวางไข่ แมลงวันลายจะวางไข่ตามบริเวณช่องว่าง เช่น ระหว่างช่องไม้ที่เตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาเก็บไข่จะต้องใช้วิธีขูดนำไข่ออกมาแล้วไปฟักในอาหาร 3-4 วันต่อมา จะกลายเป็นหนอน โดยในระยะที่เป็นหนอนจะชอบอยู่ในที่มืด แต่เมื่อเป็นตัวโตเต็มวัยมักจะออกหาแสงเสมอ
การเพาะเลี้ยงแมลงวันลายตลอดวงจรชีวิต อ้างจาก โครงการ การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเป็นอาหารสัตว์และลดตันทุนการผลิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โดย ผศ.ดร.ศมณพร สุทธิบาก คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ตำบลปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
@โรงเรือนเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
โรงเรือนที่เหมาะในการเพาะเลี้ยงแมลงวันลาย มีลักษณะดังนี้
1. โรงเรือนจะต้องมีขนาด กxยxส (3x2x2.2 เมตร)
2. แสงภายในโรงเรือนอย่างน้อย 2,230 ลักซ์
3. ความชื้นภายในโรงเรือน 60-70%
4. ภายในโรงเรือนจำลองให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุดโดยปลูกไม้เลื้อยภายในโรงเรือน
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยง
1. การนำไข่แมลงวันลายมาอนุบาล
2. การให้อาหารหนอนแมลงวันลายอายุ 7-10 วัน ด้วยขยะอินทรีย์
3. เก็บหนอนแมลงวันลายเมื่ออายุ 20-25 วันขึ้นไป
สูตรอาหารล่อแมลงวันลายเพื่อการวางไข่ (คิดคันสูตรโดย นาย รามินทร์ ศรีโยหะ)
1. ข้าวสารเหนียว 1 กก.
2. รำข้าว 2 กก/รำหยาบ)
3. จุลินทรีย์ EM 200 มิลลิลิตร
4. กากน้ำตาล 2 ลิตร /2 กก.
5. น้ำเปล่า
นำวัตถุดิบทุกอย่าง คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากันให้มีความชื้น 80 เปอร์เซ็นต์แล้วนำไปวงในที่ร่มเป็นเวลา 15-20 วัน จะมีหนอนตัวเล็ก ๆ เกิดขึ้น
สำหรับภาคธุรกิจ ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) แนะนำว่าต้องมีรูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสมทั้งทางด้านการลงทุน และการควบคุมแมลงให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ที่มาของการผลิตแมลงต้องสามารถสอบย้อนกลับได้ มีผลผลิตที่ดี ทั้งในทางด้านการผลิตและทางด้านคุณค่าโภชนะต่าง ๆ รวมไปถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเป็นการเน้นถึงการควบคุมกระบวนการผลิตตามระบบมาตรฐานเพื่อให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
@คุณค่าทางอาหารสัตว์
หนอนแมลงวันลายในระยะ 7-20 วัน มีคุณค่าทางอาหารสูง หนอนแมลงวันลายน้ำหนักแห้ง 100 กรัม จะให้โปรตีนประมาณ 9-65 กรัม เป็นแหล่งอาหารโปรตีนโดยมีโปรตีนสูงถึง 42-56% ไขมัน 30% อุดมไปด้วยโอเมก้า 3,6,9 กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด อีกทั้งยังมีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว (saturated fatty acid) และชนิดไม่อิ่มตัว (Polyunsaturated fatty acid, PUFA) เช่น กรดลอริก (lauric acid) ที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านเชื้อไวรัส และยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลชีพ จึงคาดว่าในอนาคตหนอนแมลงวันลายจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คาดว่าอาจมีมูลค่าที่สูงขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองมาจากต่างประเทศ จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์สูงมากขึ้น การที่สามารถผลิตหนอนแมลงวันลายได้จะช่วยลดทุนในการผลิตอาหารสัตว์ และเพิ่มโปรตีนให้กับอาหารสัตว์อย่างมหาศาล ปัจจุบันเริ่มมีโรงงานการผลิตที่ใช้หนอนแมลงโปรตีนในแถบเอเชียเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม ยิ่งทำให้ความน่าสนใจในหนอนแมลงโปรตีนมีเพิ่มขึ้น
@การใช้ประโยชน์แมลงวันลาย
ประโยชน์ของหนอนแมลงวันลาย
1. สามารถนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้หลายประเภท เช่น สัตว์เศรษฐกิจ (สุกร), สัตว์ปีก (ไก่ ไก่ชน ไก่สวยงาม เป็ด นก), สัตว์น้ำ (ปลาหมอ ปลากดหลวง ปลาเทร้าท์ ปลานิล ปลาสวยงาม ปลาคาร์พ เต่า กุ้ง กบ), สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นต้น โดยช่วงเวลาที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์นั้นจะใช้ระยะเวลาช่วงก่อนที่จะเป็นดักแด้ หรือที่เรียกกันว่า ช่วงหนอนดำ เพราะในช่วงเวลานี้โปรตีนที่ได้จะมีปริมาณสูงที่สุด
2. ทางเภสัชวิทยาสามารถนำตัวอ่อนมาสกัดน้ำมันใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เนื่องจากมีโอเมก้า 3,6,9 และกรดลอริก มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดที่เป็นสาเหตุการเกิดสิว รวมถึงต้านอนุมูลอิสระ ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณ และมีสารฟอสโฟลิปิด (phospholipid) ที่ใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าสารฟอสโฟลิปิดที่สกัดจากถั่วเหลืองหรือพืชอื่น ๆ และเป็นฟอสโฟลิปิดที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเยื่อหุ้มเซลล์ของร่างกายมนุษย์ ทำให้สารประกอบต่างๆ สามารถซึมผ่านผิวได้ดี สามารถนำพาตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ใช้ควบคุมแมลงวันบ้านได้
4. ใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ เป็นตัวย่อยขยะอินทรีย์
6. ช่วยเร่งการผลัดขน ลอกคราบ เร่งการเติบโต เร่งสี ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ช่วยฟื้นฟูสภาพร่ายกายของสัตว์
7. ช่วยลดมลภาวะในฟาร์มปศุสัตว์ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน biocircular green economy
8. มูลของของหนอนแมลงวันลายมีอินทรียวัตถุสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ สามารถมูลหนอนมาปลูกผักอินทรีย์ได้
9. ส่วนปลอกหนอน ปลอกดักแด้มีแคลเซียมสูง เป็นไคโตซานอย่างดี สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ ถือเป็นแหล่งทดแทนแคลเซียมได้
10. การลดต้นทุนเรื่องอาหารสัตว์ สนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งตนเอง เนื่องปัญหาเรื่องต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น
@งานวิจัยและการส่งเสริมการวิจัยที่เกี่ยวกับหนอนแมลงวันลาย
ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์หนอนแมลงวันลายในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการเพาะเลี้ยงในฟาร์มเกษตรกรรายย่อย
@ตัวอย่างข้อมูลการศึกษาวิจัย
1. การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อใช้ในการกำจัดขยะอินทรีย์ โดย ผศ.ดร. ศมณพร สุทธิบาก คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีการนำไปอบรมเกษตรกร ส่งเสริมและใช้จริงในชุมชนแล้ว
2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผนึกกำลัง ซีพีเอฟ ดันงานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยแผนงาน SPEARHEAD ด้านเศรษฐกิจในโครงการนวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือ เพื่อใช้เป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง
4. เครือเบทาโกร ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำพิธีเปิดโรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม แห่งแรกของประเทศไทย เพาะเลี้ยง Black Soldier Fly เพื่อขจัดขยะอินทรีย์ สร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรมแมลง และพัฒนาเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ณ หมวดแมลงอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5. งานวิจัย: ผลของการใช้หนอนแมลงวันลายป่นทดแทนอาหารสำเร็จรูปต่อสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพไข่ของนกกระทาญี่ปุ่น
6. งานวิจัย: ชนิดของผลไม้ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของหนอนและการวางไข่ของแมลงวันลาย, Hermetia illucens (L.)
[อ่านเพิ่มเติมที่ https://li01.tci-thaijo.org/.../article/view/250199/171067]
7. งานวิจัย: การใช้วัสดุรองพื้นต่างชนิดสำหรับเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Hermetia illucens Linnaeus) ที่มีผลต่อการชักนำตัวหนอนเข้าสู่ระยะดักแด้
[อ่านเพิ่มเติมที่ https://sc.sci.tsu.ac.th/tsu.../Proceeding_TSUCon29_2562.pdf]
8. งานวิจัย: Ontogenic development of the digestive enzymes and chemical composition of Hermetia illucens larvae of different ages
9. งานวิจัย: Impacts of killing process on the nutrient content, product stability and in vitro digestibility of black soldier fly (Hermetia illucens) larvae meals
10. งานวิจัย: Egg-trapping of black soldier fly, Hermetia illucens (L.) (Diptera: Stratiomyidae) with various wastes and the effects of environmental factors on egg-laying
[อ่านเพิ่มเติมที่ https://li01.tci-thaijo.org/.../article/view/252363/172650]
11. งานวิจัย: การเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly: Hermetia illucens) ด้วยมูลสัตว์เพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกในอาหารสัตว์
[อ่านเพิ่มเติมที่ https://research.rmutsb.ac.th/.../research.rmutsb-2563...]
12. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ ผลิตอาหารปลา BSF High Protein
[อ่านเพิ่มเติมที่ http://202.29.239.235/catnews/attachfile/l714082019.pdf]
13. มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการวิจัยการใช้หนอนแมลงวันลาย พันธุ์ต่างประเทศ มาทำการเพาะเลี้ยงและให้เป็นอาหารกบ [https://www.khawphayao.com/archives/40050]
======================อ้างอิง=================
1. เกษตรกรเลี้ยงหนอนแมลงฯ ทดแทนโปรตีน. (2565). สาส์นไก่และสุกร 20: 31-33
2. รุ่งทิพย์ มาศเมธาทิพย์. (2561). มารู้จัก BSF แมลงวันที่มีประโยชน์. เกษตรอภิรมย์, 4(24), 41-42.
3. (2562). เบทาโกรจับมือ มข. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแมลง ต่อยอดนวัตกรรมโปรตีนคุณภาพสูงในอาหารสัตว์. สัตว์เศรษฐกิจ, 36 (852), 29
4. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2563). การเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=63620 [28 กรกฎาคม 2565]
5. กัลยดา ชุ่มอินทรจักร. (2565). เพาะเลี้ยงหนอนแมลงวัน ต้นทุนต่ำ เปลี่ยนขยะเป็น (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.technologychaoban.com/bullet.../article_212169 [28 กรกฎาคม 2565]
6. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2564). การกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ และลดต้นทุนการผลิต ตําบลปลาโหล อําเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://u2t.ku.ac.th/projects/541 [28 กรกฎาคม 2565]
7. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเกษตร. (2564). พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ งานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.agri.cmu.ac.th/.../info_activity_detail/22194 [28 กรกฎาคม 2565]
8. S. Lievens, G. Poma, J. De Smet, L. Van Campenhout, A. Covaci and M. Van Der Borght (2021). Chemical safety of black soldier fly larvae (Hermetia illucens), knowledge gaps and recommendations for future research: a critical review. Journal of Insects as Food and Feed. 7: 383–396
9. Kimmy Farm. (2021). How Much Protein Is In A Black Soldier Fly Larvae (Online). Available : https://kimmyfarm.com/.../how-much-protein-is-in-a-black... [28 July 2022]
10. มหาวิทยาลัยพะเยาเลี้ยงกบลดต้นทุนอาหารสำเร็จ (ออนไลน์). (2565). สืบค้นจาก : https://www.khawphayao.com/archives/40050 [28 กรกฎาคม 2565]
11. The Rockefeller Foundation (2020). Black Soldier Flies: Inexpensive and Sustainable Source for Animal Feed (Online). Available : https://www.rockefellerfoundation.org/.../black-soldier.../ [28 July 2022]
 

แหล่งที่มา

ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://www.facebook.com/100064430602297/posts/pfbid02NDgeZ9y5mscd3LvFbfrt9jw3jbfHaHJ1Sc7HQX4Y6AUsMp5iaMGHbPXPTwfXqAitl/
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู