เปิดความหมาย ดอกไม้ของแม่ ดอกไม้มงคล พรรณไม้ทรงคุณค่า สูงค่าและงดงาม ด้วยพระนาม "สิริกิติ์" ดอกไม้ที่มีนามตามพระนามาภิไธย ดอกไม้นามพระราชทาน และดอกไม้ทรงโปรดของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ซึ่งล้วนต่างเป็นพรรณไม้มงคลทรงคุณค่างดงาม ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง
อ้างอิงภาพ https://www.bangkokbiznews.com/news/news/893063
ดอกไม้ในพระนามาภิไธย มีจำนวน 4 ชนิด ได้แก่
1. กุหลาบควีนสิริกิติ์
2. คัทลียาควีนสิริกิติ์
3. ดอนญ่าควีนสิริกิติ์
4. มหาพรหมราชินี
ซึ่งมีที่มาจากการที่นักวิจัยทางพฤกษศาสตร์ต่างประเทศได้พัฒนาสายพันธุ์ดอกไม้ทั้ง 3 ชนิด จนได้สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีโครงสร้างของลำต้นและองค์ประกอบดอกที่สวยงามสมบูรณ์ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย “สิริกิติ์” ขานท้ายชื่อของดอกไม้ชนิดนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีของไทย
ดอกไม้ที่เกี่ยวข้องจากการได้รับพระราชทานนามมีจำนวน 7 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ที่เกิดขึ้นในทุ่งหญ้า ป่าเขาตามธรรมชาติ บางชนิดเป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่หายาก ซึ่งได้ทอดพระเนตรเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และโปรดเกล้าฯ ให้นักพฤกษศาสตร์ปลูกขยายพันธุ์ดอกไม้ป่าดังกล่าว ภายในบริเวณพระตำหนักที่ประทับ บางชนิดโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามแก่ดอกไม้นั้นตามที่มีผู้ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม และได้ทูลเกล้าฯ ถวายนามดอกไม้ให้ทรงเลือก ซึ่งแต่ละนามที่ทรงเลือกนั้น ล้วนสะท้อนความหมายตามความสวยงาม และลักษณะที่โดดเด่นของดอกไม้แต่ละชนิด ได้แก่
1. ทิพเกสร
2. สรัสจันทร
3. โมกราชินี
4. นิมมานรดี
5. สร้อยสุวรรณา
6. ดุสิตา
7. มณีเทวา
ดอกไม้ทรงโปรด 2 ชนิด จัดเป็นดอกไม้ที่มีสีสันงดงาม มีโครงสร้างของดอกที่อ่อนช้อยละเมียดละไม เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก ได้แก่
1. กุหลาบมอญ
2. ชบาสีฟ้า
รายละเอียดของดอกไม้แต่ละชนิด
กุหลาบควีนสิริกิติ์
อ้างอิงภาพ
https://www.facebook.com/CCRoseShop0810000182/
photos/pcb.2754032364661702/2754023454662593/
กุหลาบ "ควีนสิริกิติ์" อยู่ในวงศ์ ROSACEAE เป็นลูกผสมระหว่างกุหลาบพันธุ์ Konigin der Rosen และ Golden Giant เกิดเป็นพันธุ์ " Peer Gynt " ซึ่งมีความสวยงามระดับโลก ได้นำออกเผยแพร่ในปี 2511 และปี 2513 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่กรุง Belfast ประเทศไอร์แลนด์ นาย Andre' Hendricx ชาวเบลเยี่ยม ผู้อำนวยการเรือนกุหลาบ " Grandes Roseraiea Du Val De Loire " ประเทศฝรั่งเศส จึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" เป็นชื่อของกุหลาบลูกผสมพันธุ์นี้ว่า กุหลาบ "ควีนสิริกิติ์"
กล้วยไม้คัทลียา "ควีนสิริกิติ์"
อ้างอิงภาพ https://mgronline.com/travel/detail/9640000078970
กล้วยไม้คัทลียา "ควีนสิริกิติ์" อยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE เป็นลูกผสมระหว่าง Catleya Bow Bells และ CatleyaObrieniana var. aba ที่บริษัท Black & Flory Ltd. ประเทศอังกฤษเป็นผู้ผสมขึ้น และในปี 2501 ได้จดทะเบียนชื่อพันธุ์ว่า Exquisite คัทลียาลูกผสมนี้มีความสวยงามจนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจาก The Royal Horticulture Society ประเทศอังกฤษ จึงได้มีการกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานพระราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" เป็นชื่อของกล้วยไม้ลูกผสมพันธุ์นี้ว่า "คัทลียา "ควีนสิริกิติ์"
ดอนญ่า ควีนสิริกิติ์
อ้างอิงภาพ https://rpplant.royalparkrajapruek.org/FrontPlant/Index_slide2?id0=3954&id1=3831&id2=3894&id3=5039&id4=5120&id5=4715&id6=3954
ดอนญ่า "ควีนสิริกิติ์" อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นลูกผสมระหว่าง Mussaenda Luz และ M.philipica 'Aurorae' ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ผสมขึ้น ในปี 2506 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระนามาภิไธย "สิริกิติ์" เป็นชื่อของดอนญ่าลูกผสมพันธุ์ใหม่นี้ว่า ดอนญ่า "ควีนสิริกิติ์"
มหาพรมราชินี
อ้างอิงภาพ http://qsbg.org/Database/Botanic_Book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2453
มหาพรมราชินี เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก อยู่ในสกุลมหาพรมซึ่งค้นพบโดย ดร.ปิยะเฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยพบว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณยอดเขาสูงชัน ที่ระดับสูง 1,100 เมตร ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการตรวจรับรองพรรณไม้ดังกล่าวจาก Dr. Aruna Weerasooriya ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้สกุลมหาพรมแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง ข้อมูลพรรณไม้ดังกล่าวลงตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany แห่งประเทศเดนมาร์ก โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ว่า มหาพรมราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora siriketiae Weerasooriya ,Chalermglin & M.K.R.Saunders เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2547
ทิพเกสร
อ้างอิงภาพ http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1392
ทิพเกสร เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ LENTIBULARIACEAE เป็นไม้ล้มลุกกินแมลง สูง 10-30 ซม. ลำต้นเล็กมากอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว และมีใบที่เปลี่ยนเป็นถุงสำหรับดักจับแมลงเป็นอาหาร ดอกสีม่วงอ่อนแกมชมพู ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ พบในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ขึ้นตามบริเวณพื้นที่โล่ง ชุ่มชื้น ในประเทศไทยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
สรัสจันทร
อ้างอิงภาพ http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/Picture/book7/Burm_coel_2.jpg
สรัสจันทร เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ BURMANNACEAE เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูง 10-30 ซม. ลำต้นเล็ก เรียว ดอกสีชมพูจนถึงสีม่วงอ่อนอมฟ้า ส่วนปลายมีสีเหลืองหรือสีครีมออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ผลเป็นผลแห้งไม่แตกเมื่อแก่ พบตามบริเวณทุ่งหญ้าเปิด ริมหนองน้ำและบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ
โมกราชินี
อ้างอิงภาพ https://oer.learn.in.th/search_detail/result/137184
โมกราชินี เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 6 เมตร ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ ผลเป็นฝักคู่สีน้ำตาล แก่แล้วแตกตามยาว เมล็ดแบนรี เป็นไม้ถิ่นเดียว พบเฉพาะในประเทศไทย ตามบริเวณเขาหินปูน ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีสถานภาพเป็นไม้หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข และ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ได้ค้นพบและเก็บตัวอย่างไว้ ต่อมาได้มีการทบทวนตรวจสอบความถูกต้องร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ และยกขึ้นเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก
สร้อยสุวรรณา
อ้างอิงภาพ https://www.thai-tour.com/thai-tour/northeast/ubon/images/namtok-soi-sawan/tung-dok-mai/pic-soi-suwanna/DSC01406.jpg
สร้อยสุวรรณา เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ LENTIBULARIACEAE เป็นไม้ล้มลุก กินแมลง ขึ้นเป็นกอเล็กๆ สูง 10-15 ซม. อายุปีเดียว มีอวัยวะจับแมลงเกิดตามข้อของไหลหรือบนใบรูปกลมขนาดเล็ก มีก้านชูสั้นๆ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อ ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ พบในอินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และอินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ดุสิตา
อ้างอิงภาพ https://pantip.com/topic/39381377
ดุสิตา เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ LENTIBULARIACEA เป็นไม้ล้มลุกกินแมลง อายุปีเดียว ขึ้นเป็นกอเล็ก สูง 10-20 ซม. มีใบที่เปลี่ยนเป็นถุงสำหรับดักจับแมงขนาดเล็ก ดอกสีม่วงเข้มออกเป็นช่อ ผลเป็นผลแห้งชนิดแตกเมื่อแก่ พบในอินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบตามพื้นที่โล่งและชุ่มชื้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
มณีเทวา
อ้างอิงภาพ https://www.bangkokbiznews.com/news/news/893063
มณีเทวา เป็นดอกไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานชื่อไว้ อยู่ในวงศ์ ERIOCAULACEAE เป็นไม้ล้มลุกลักษณะเป็นกอขนาดเล็กคล้ายหญ้า สูง 2-6 ซม. ดอกสีขาวออกเป็นช่อ ตั้งจากโคนกอสูง 5-15 ซม. ลักษณะเป็นก้อนกลมที่ปลายยอด ผลเป็นผลแห้ง ชนิดเมื่อแก่แล้วไม่แตก ขึ้นตามพื้นที่โล่งชุ่มชื้นหรือชายป่าโปร่ง ในภาคตะวันออกและตะวันออเฉียงเหนือของประเทศไทย
กุหลาบมอญ
อ้างอิงภาพ https://www.disthai.com/17226056/%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%8D
กุหลาบมอญ เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรด ด้วยมีกลิ่นหอม อยู่ในวงศ์ ROSACEAE มีบันทึกกล่าวไว้ว่า ได้มีการนำกุหลาบมอญเข้ามาปลูก ราวปี 2112 - 2133 ในกรุงศรีอยุธยา กุหลาบมอญเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม จึงสามารถนำมาสกัดเป็นหัวน้ำหอมได้
ชบาสีฟ้า
อ้างอิงภาพ https://m.facebook.com/ChumchnKhnRaksPhrrnMi/photos/a.2318873961468282/2318874028134942/
ชบาสีฟ้า (Genus Hibiscus Blue) เป็นดอกไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดสี ไม้ชนิดนี้นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2503 และศาสตราจารย์พิเศษ ประชิด วามานนท์ ได้เขียนเล่าไว้ว่าใน 2509 ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงรับสั่งให้ ศ.ดร.ประชิด วามานนท์ ทำการขยายพันธุ์ชบาสีฟ้าให้มากๆ
นิมมานรดี
อ้างอิงภาพ https://www.thainewsonline.co/lifestyle/838786
นิมมานรดี อยู่ในวงศ์ ORCHIDACEAE ชื่อสามัญว่า Eria amica Rchb.f. เป็นกล้วยไม้ที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพรรณไม้ที่บริเวณโคกนกกะบา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2534 เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ออกดอกเป็นช่อ ยาว 12-15 ซม. ก้านดอกมีขนนุ่มสีขาว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาว มีขีดตามยาว สีแดงเข้ม กลีบปากที่ปลายมีพื้นสีเหลืองเข้มและมีแต้มสีแดงเข้มที่โคนกลีบ พบในอินเดียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
สามารถดูตัวอย่างดอกไม้ ได้จาก http://www.rspg.or.th/homklindokmai/queen_flora/queen4.htm