ข่าวสาร
E16 เศรษฐศาสตร์การผลิต
31 พฤษภาคม 2565
'สงคราม-โลกร้อน' ดันเกษตรอินทรีย์ 'เทรดเดอร์' สั่งขาย 'ออฟไลน์-ออนไลน์' สินค้าออร์แกนิคขาดตลาด!

ผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนมีราคาสูงขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้รัสเซียผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับ 1 ของโลก ต้องจำกัดการส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และในเดือนมีนาคม 2565 รัสเซียได้ระงับการส่งออกปุ๋ยและสินค้าอื่น ๆ กว่า 200 รายการ รวมทั้งจีนก็มีนโยบายส่งออกปุ๋ยน้อยลง ส่งผลให้ราคาปุ๋ยทั่วโลก รวมทั้งไทยกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ปัญหาโลกร้อนก็ทำให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนเกษตรกรให้ทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

ที่ผ่านมา ไทยจำเป็นต้องนำเข้าปุ๋ยเคมี เนื่องจากผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีรวม 5.6 ล้านตัน เป็นมูลค่า 73,860.20 ล้านบาท แบ่งเป็นปุ๋ยไนโตรเจน 2.74 ล้านตัน มูลค่า 33,185.24 ล้านบาท ปุ๋ยผสม 1.92 ล้านตัน มูลค่า 30,081.50 ล้านบาท ปุ๋ยโพแทสเซียม 0.98 ล้านตัน มูลค่า 10,558.40 ล้านบาท ปุ๋ยฟอสฟอรัส 4,238.7 ตัน มูลค่า 15.43 ล้านบาท และปุ๋ยอินทรีย์ 490.5 ตัน 19.62 มูลค่า 19.62 ล้านบาท แหล่งนำเข้าปุ๋ยที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย รัสเซีย และกาตาร์ สัดส่วนร้อยละ 22.3 14.5 8.8 7.9 และ 7.0 ตามลำดับ

สำหรับการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เห็นว่าในระยะสั้นควรส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพในสัดส่วนที่เหมาะสมคุ้มค่า และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนให้มากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการกระจายแหล่งนำเข้า โดยอาจนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น และหาแหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยแหล่งใหม่เพิ่มเติม อาทิ ตุรกี (แม่ปุ๋ยไนโตรเจน) และบราซิล (แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม)

ระยะกลาง ควรส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในประเทศให้มากขึ้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้วัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งจากวัตถุดิบในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรในการจำหน่ายวัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตรนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์

และในระยะยาว ควรส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Fertilizer) กำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ถือเป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และส่งเสริมตลาดสินค้าอินทรีย์

คาดราคาปุไยเคมีเพิ่มขึ้นเกือบ 100% รายงานจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ได้คาดการณ์ว่า ปีนี้ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกท้องถิ่นจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทต่อตัน จากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,541 บาทต่อตัน ทำให้ต้นทุนปุ๋ยเคมีของเกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นกว่า 92%

สาเหตุเนื่องจาก 1) ความต้องการปุ๋ยเคมีโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางอาหาร 2) อุปทานการผลิตปุ๋ยเคมีหยุดชะงักจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน 3) ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น 4) จีนและรัสเซียผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร อาทิ การขนส่งสินค้าเกษตร การสูบน้ำ ฯลฯ นับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรให้ลดลง

ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องทำ ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 2) ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ 3) ในกรณีที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ได้แก่ 1) ปรับสัดส่วนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น 2) จัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูกโดยละเอียด อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบต้นทุนการเพาะปลูกทั้งหมดและนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการเพาะปลูกแยกตามลำดับความสำคัญ ตามความสามารถที่เกษตรกรจะสามารถปรับลดเองได้

เทรดเดอร์กว้านซื้อเกษตรอินทรีย์ จากแนวโน้มกระแสการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีและความนิยมในเรื่องสินค้าและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ทำให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีกระแสดีมาก่อนหน้านี้ เป็นที่ต้องการมากขึ้น พิสูจน์ได้จากงานตลาดนัดอินทรีย์ "ORGANIC WEEKEND MARKET 2022" ของ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา หลังเซ็นทรัลพระราม 9 กรุงเทพฯ ให้ผลตอบรับดีเกินคาด เพียง 3 สัปดาห์ มีภาคเอกชนรายใหญ่หลายรายทั้งค้าปลีกและเทรดเดอร์เข้าร่วมเจรจาการค้า ส่งให้มูลค่าการซื้อขายพุ่งสูงกว่า 200 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่ม Horeca (Hotels Restaurants & Catering) เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และห้างค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ได้แก่ LAZADA, Shopee และ Line ในการนำสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่โดดเด่นกว่า 50 รายการ ไปจำหน่ายในช่องทางออนไลน์อีกด้วย

ปัจจุบันเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 3,000,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 20 ต่อปี ตลาดสำคัญในโลก ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 2.ยุโรป มูลค่าประมาณ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐและ 3.โซนอื่น ๆ เช่น เอเชียและออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณ 8 พันกว่าล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนมูลค่าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่งออกประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี มีพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ประมาณ 300,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด มีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 99.8 โดยภาครัฐของไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 6 แสนไร่ และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 3 หมื่นรายภายในปีนี้


แหล่งที่มา

นสพ.สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 9-22 เม.ย. 2565
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู