ข่าวสาร
E80 คหกรรมศาสตร์
27 พฤษภาคม 2565
เพิ่มมูลค่า "ผ้าทอเบญจศรี" ย้อมติดสีไว ให้กลิ่นหอมดอกลำดวน

กระทรวง อว. ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) สารชีวภาพที่ผลิตได้จากเชื้อจุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี ที่ช่วยทำความสะอาดเส้นใย และเพิ่มประสิทธิภาพการติดสีธรรมชาติได้ดีขึ้น ทำให้ลดเวลาการย้อมสีและลดต้นทุนในการฟอกย้อม รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้นำนาโนเทคโนโลยีเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้ผ้าทอมีกลิ่นหอมของดอกลำดวน ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ผ้าทอเบญจศรีของดีศรีสะเกษให้พิเศษเพิ่มขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ จากเดิมย้อมผ้าด้วยมะเกลือซึ่งให้สีดำ กว่าจะย้อมผ้าได้สีดำสนิทต้องจุ่มผ้ากับมะเกลือแล้วก็เอาไปตาก ทำแบบนี้สลับไปเรื่อย ๆ ใช้เวลากว่า 2 เดือน พอมาใช้เอนไซม์เอนอีซในการทำความสะอาดผ้าก่อนการย้อม ก็ช่วยให้การย้อมผ้าติดสีไวดีขึ้น จากต้องตากถึง 60 แดด 300 จุ่ม เหลือแค่ 30 แดด ประมาณ 1 เดือน

นอกจากนั้น อัตลักษณ์ที่สำคัญคือ ศรีสะเกษ เป็นเมืองดอกลำดวนบาน กระทรวง อว. ยังได้เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องกลิ่นหอมให้ผ้าทอ โดยใช้นาโนเทคโนโลยีมาเคลือบกลิ่นดอกลำดวนไว้บนผ้า ทำให้เวลาเราสวมใส่ เราสัมผัส หรือเวลาเดิน ผ้าจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกลำดวนด้วย ถือเป็นอีกอรรถรสหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าทอเบญจศรีของดีศรีสะเกษได้ดียิ่งขึ้น

นับเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผสมผสานภูมิปัญญา พัฒนาผ้าทอของทุ่งกุลาร้องไห้ ให้มีเสน่ห์และคงความเป็นอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ


แหล่งที่มา

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
https://www.nstda.or.th/home/news_post/bcg-delight-tung-kula-cloth/?fbclid=IwAR3k2hHC9_WF_P7ykgDxPJYLn0k2dDsDQzS7QGWsh3KGdHhFakqVupSNsQk
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู