ควินัว (Quinoa): พืชอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Super functional food)
ควินัว (Chenopodium quinoa Willd.) หรือที่เรียกว่า คีนัว หรือ คีนวา เป็นพืชในวงศ์ Chenopodiaceae วงศ์เดียวกับ ซูการ์บีท บีทรูท และผักโขม ควินัวเป็นพืชพื้นเมืองในเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ มีฉายาว่า แม่ของธัญพืชทั้งหมด (Mother of all grains) และ ทองคำของชาวอินคา (Gold of the Incas) มีแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในประเทศโบลีเวีย เปรู และชิลี ควินัว จัดเป็นธัญพืชเทียม (Pseudocereal) แตกต่างจากธัญพืชเช่น พืชตระกูลหญ้า เนื่องจากควินัวเป็นพืชใบเลี้ยงคู่แต่มีการใช้เมล็ดในการบริโภค ควินัวได้ถูกประกาศเป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบสำหรับมนุษยชาติโดยยูเนสโก และเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมสำหรับความต้องการทางโภชนาการของมนุษย์ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
ลักษณะทั่วไป
ควินัวเป็นพืชล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลักษณะใบเลี้ยงคู่ ข้อแรกของลำต้นคือใบเลี้ยง มี 2 ใบ ข้อถัดไปจะเกิดเป็นใบจริงคู่แรก จัดเรียงตัวลักษณะตรงข้ามกัน ถัดจากใบจริงคู่แรกคือใบประกอบลักษณะเป็นแฉกแบบลอนคลื่น มีขนหรือไม่มีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป สีลำต้น มีสีเขียว ม่วง หรือแดง ขึ้นกับลักษณะประจำพันธุ์ ช่อดอกมีสีแตกต่างกันไปตามจีโนไทป์ ส่วนใหญ่พบสีเหลืองและแดง ดอกมีลักษณะแบบช่อแขนง (panicle) โดยจัดเรียงอยู่บนส่วนยอด หรือระหว่างกิ่งก้าน ควินัวเป็นพืชผสมตัวเอง (self fertilization) ผลหรือเมล็ดควินัว มีขนาดประมาณ 1.8-2.6 มม. เมล็ดมีหลากสีตามสายพันธุ์ เช่นเมล็ดสี เขียว เหลือง ม่วง และแดง มีระบบรากแก้วและรากแขนง หน้าที่ในการดูดใช้น้ำและธาตุอาหารจากดิน
สภาพแวดล้อมการเจริญเติบโต
การเจริญเติบโตขึ้นกับชนิด พันธุ์และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมคือสภาพอากาศที่เย็นและมีอุณหภูมิแตกต่างกันระหว่าง -4 องศาเซลเซียส (25 องศาฟาเรนต์ไฮต์) ในเวลากลางคืน จนถึง 35 องศาเซลเซียส (95 องศาฟาเรนต์ไฮต์) ในเวลากลางวัน บางชนิดสามารถทนต่ออุณหภูมิที่ต่ำได้ ยกเว้นในระยะการออกดอก ควินัวต้องการปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกันตั้งแต่ 300-1,000 มม. ต่อปี ปริมาณน้ำฝนที่กระจายตัวดีในช่วงแรกของระยะพัฒนามีผลต่อการเจริญเติบโตที่ดี ควินัวต้องการสภาวะแห้งในระยะสุกแก่ของเมล็ดและระยะการเก็บเกี่ยว ควินัวสามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด รวมถึงดินที่มีปริมาณธาตุอาหารต่ำ โคยส่วนใหญ่แล้วควินัวเป็นพืชชอบดินทราย ระบายน้ำได้ดี มีความเค็มปานกลาง และมีค่าความเป็นกรค-ด่าง 6.0-8.5 แต่ควรมีการเตรียมแปลงปลูกเป็นอย่างดี และมีการระบายน้ำที่ดีเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง ควินัวเป็นพืชกลุ่มพืช C3 ที่สามารถปรับตัวได้ในสภาพภูมิประเทศที่มีความสูงระดับน้ำทะเลถึงความสูง 4,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ได้หลากหลาย เช่น สภาพแห้งแล้ง มีความชุ่มชื้นสูง พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ดินเค็มและดินกรด
การปลูกควินัวในประเทศไทย
ควินัวถูกนำมาปลูกครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง สถานเอกอัครราชทูตชิลี ประจำประเทศไทยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ. ดร. ปิติพงษ์ โตบันลือภพ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้เริ่มต้นการวิจัยเพื่อศึกษาความสามารถในการปรับตัวของควินัวภายใต้สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันของประเทศไทย โดยได้รับความอนุเคราะห์เชื้อพันธุกรรมจากสถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี ทีมวิจัยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ควินัวที่เหมาะสมได้สองสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แดงห้วยต้ม และ พันธุ์เหลืองปาดะ โดยสามารถปลูกคีนัวทั้งสองสายพันธุ์ได้ในช่วงปลายฤดูฝน-ต้นฤดูหนาว ถึง ปลายฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ม.ค./ก.พ. ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย สูงสุด 20-30 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 21 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 25.93 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 100.86 มิลลิเมตร เป็นเวลา 10.4 วันต่อเดือน จำนวนประชากรพืชที่เหมาะสม คือ 32,000 ต้นต่อไร่ อัตราธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่เหมาะสมคือ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่
การส่งเสริมการปลูกควินัวในประเทศไทยเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-ชิลี ซึ่งเริ่มขึ้นจากการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีชิลี นายเซบัสเตียน ปิเญรา เมื่อปี 2556 ซึ่งชิลีได้มอบเมล็ดพันธุ์ควินัวให้แก่ประเทศไทยเพื่อทำการศึกษาวิจัยและทดลองปลูก อาจารย์ปิติพงษ์ได้รับมอบหมายจาก ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝ่ายกิจการพิเศษ (ขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิโครงการหลวง ให้เริ่มต้นงานวิจัยควินัวในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ซึ่งต่อมา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประสบผลสำเร็จจนสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีในประเทศไทย และได้ขึ้นทะเบียน 2 สายพันธุ์ในนามมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ 1) สายพันธุ์แดงห้วยต้ม และ 2) สายพันธุ์เหลืองปางดะ และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกควินัว ทั้งสองสายพันธุ์ในเชิงการค้า โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับควินัว อย่างต่อเนื่องและปัจจุบันกำลังศึกษาวิจัยและเตรียมขึ้นทะเบียนควินัวเมล็ดสีดำและเมล็ดสีน้ำตาลแดง อีก 2 สายพันธุ์ที่กำลังรอขึ้นทะเบียนคือ สายพันธุ์นิลเกษตรหลวง และสายพันธุ์โกเมนเกษตรหลวง ซึ่งเป็นควินัวเมล็ดสีดำและแดง รวมทั้งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากควินัวและห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการสนับสนุนทุนจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้ให้ทุนเริ่มต้น มูลนิธิโครงการหลวงผู้ให้ทุนวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี และสำนักงานวิจัยแห่งชาติที่ให้ทุนสนับสนุน พ.ศ. 2564-2565
การปลูกควินัวในประเทศไทย (ปิติพงษ์ โตบันลือภพ และคณะ, 2562)
ควินัวมีแหล่งผลิตในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นหลัก และมีการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปหลายพื้นเช่น จังหวัดสกลนคร นครราชสีมา และสุราษฎร์ธานี ฤดูปลูกคือช่วงปลายฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกุมภาพันธ์ คีนัวตอบสนองได้ดีต่อสภาพอุณหภูมิต่ำประมาณ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นในดินและบรรยากาศสูงในระยะต้นกล้า จนถึงระยะการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ แต่ไม่เหมาะสมที่จะปลูกควินัวในสภาพความชื้นในบรรยากาศสูงเมื่อเข้าสู่ระยะออกดอกจนถึงระยะพร้อมเก็บเกี่ยวผลผลิต
- การเตรียมคิน
ควรเตรียมดินให้ร่วนซุย และมีโครงสร้างดินที่โปร่ง จะช่วยให้เมล็ดพันธุ์ควินัวงอกได้ดี และมีความสม่ำเสมอมากขึ้น การเตรียมดินเบื้องต้นทำได้ดังนี้
- การไถครั้งแรกหรือการไถดะ ทำการพลิกดินตากแดดเพื่อกำจัดวัชพืชโดยอุปกรณ์ไถได้แก่ ไถหัวหมู ไถจาน ไถระเบิดดินดานเพื่อให้พลิกดินเป็นต้น
- การไถครั้งที่สองหรือการไถพรวน เป็นการย่อยดินทำให้ดินมีความละเอียดและร่วนซุยมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เมล็ดควินัวสามารถงอกได้ง่ายและสม่ำเสมอมากขึ้น อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ จานพรวน ไถพรวนจาน และพรวนจอบหมุน เป็นต้น
- การปลูก
- โรยเมล็ดพันธุ์เป็นแถว ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 70-100 ซม. เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา เช่น การใส่ปุ๋ยและการกำจัดวัชพืช
- พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 500 กรัม อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 1 กรัมต่อความยาวแถว 5 เมตร
- กลบเมล็ดพันธุ์ด้วยแกลบพอประมาณ
- การใส่ปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยเคมีให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตราประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแบ่งการใส่ปุ๋ยตามระยะการเจริญเติบโตดังนี้ ดังนี้ อายุ 15-20 วันหลังปลูก (หรือมีใบจริงประมาณ 4 คู่ใบ), อายุ 30-35 วันหลังปลูก, อายุ 45-50 วันหลังปลูก และ อายุ 60-65 วันหลังปลูก
- การใส่ปุ๋ยใช้วิธีการโรยเป็นแถว ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 ซม. และกลบดินภายหลังการโรยปุ๋ยแล้ว
- การใส่ปุ๋ยอินทรีย์สามารถใช้ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีได้ อัตราการใช้ปุ๋ยประมาณ 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นกับชนิดและปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยอินทรีย์นั้น ๆ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ปรับปรุงโครงสร้างดิน และช่วยในการกักเก็บน้ำในดิน
- อาจมีการเสริมธาตุอาหารรอง เช่นธาตุแคลเซียม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของลำต้นเพราะเมื่อควินัวอายุประมาณ 60-70 วันหลังปลูก จะเข้าสู่ระยะการสะสมอาหารของเมล็ด ซึ่งจะทำให้รวงมีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจจะทำให้ลำต้นหักได้ วิธีการแก้ไขเบื้องต้น คือ การปักไม้กับลำต้น หรือการตรึงแนวเชือกสาหรับพยุงลำต้น เพื่อป้องกันการหักล้ม
- การให้น้ำ
ควินัวมีความต้องการใช้น้ำตลอดทั้งฤดูกาลปลูกค่อนข้างน้อย ประมาณ 100-200 มิลลิเมตร แต่น้ำยังเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการงอกของเมล็ดควินัว
- ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในสัปดาห์แรกของการปลูก เพื่อรักษาระดับความชื้นในดินให้เพียงพอต่อการงอกที่ดี
- หลังการหว่านเมล็ดประมาณ 2-3 สัปดาห์ สามารถลดความถี่ในการให้น้ำที่ 5-7 วันต่อครั้ง
- ห้ามขาดน้ำในระยะการผสมเกสรและการพัฒนาเมล็ด จะมีผลต่อผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ต่ำ
- เมื่อควินัวมีอายุ 75-85 วันหลังการปลูก เมล็ดควินัวจะพัฒนาสมบูรณ์แล้ว สามารถงดการให้น้ำจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
- การให้น้ำที่มากเกินไปหรือสภาวะน้ำท่วมขังจะทำให้ผลผลิตของคีนัวลดลงเนื่องจากไม่มีการระบายอากาศในดิน
- การเก็บเกี่ยว
- ควินัวมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 95-110 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม การเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน หรือเครื่องจักร แต่การใช้เครื่องจักรอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตได้จึงยังไม่เป็นที่นิยม
- ดัชนีการเก็บเกี่ยวสังเกตุได้จากการเปลี่ยนสีของใบ ลำต้น และกลีบดอก กลีบดอกจะแห้งทำให้เห็นส่วนของเมล็ดชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อสัมผัสเมล็ดจะพบว่าเมล็ดมีเนื้อสัมผัสที่แข็ง
- หากพบว่ามีส่วนใดของต้นพืชยังมีความชื้นอยู่ ให้ลดความชื้นในแปลงปลูกก่อนเก็บเกี่ยวก่อนที่จะนำไปแยกเมล็ดออกจากรวง
- การตลาด: ผลผลิตราคาประมาณ 100-150 บาทต่อกิโลกรัม
โรคพืช
1. โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย (Downy mildew)
- เชื้อสาเหตุ: เชื้อรา Peronospora farinosais ซึ่งพบมากในพื้นที่ที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง
- อาการของโรค: ระบาดรุนแรงในระยะต้นกล้า ถึงอายุประมาณ 1 เดือน โดยจะทำให้ยอดมีข้อถี่ ต้นแคระแกร็น ใบเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน เหลือง หรือขาว จะพบผงสปอร์สีขาว เป็นจำนวนมากที่บริเวณใต้ใบ ในช่วงเวลาเช้ามืดที่มีความชื้นสูง ถ้าระบาครุนแรงจะส่งผลให้ใบ ต้น หรือทั้งต้นแห้งตาย แต่ถ้าต้นนั้นอยู่รอดจะไม่มีการติดดอกและเมล็ด
- การป้องกันโรค: การไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ จากแหล่งที่พบการระบาดของโรคราน้ำค้าง ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเมตาแลกซิล อัตรา 7 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เมื่อพบต้นพืชที่แสดงอาการควรถอนแยก และเผาทำลายนอกแปลงปลูก ทำลายและควบคุมการกระจายของวัชพืชต่าง ๆ ที่เป็นที่ของเชื้อสาเหตุโรค และฉีดพ่นด้วยสารควบคุมโรคราน้ำค้าง เอพรอน เมทาแลกซิล 35 % ทุก ๆ 5-7 วัน
- โรครากและลำต้นเน่า
- เชื้อสาเหตุ: เช่น Rhizoctonia damping off, Seed rot and damping off (Sclerotium rolfsii, Pythium zingiberum) และ Brown stalk rot (Phoma exigua var. foveata)
- อาการของโรค: จุดสีดำเล็ก ๆ จำนวนมากที่ระบบรากและลำต้น ซึ่งต่อมาใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแห้งตาย โดยอาการดังกล่าวจะลามจากส่วนรากขึ้นสู่ส่วนบนของลำต้น และต้นพืชจะยืนต้นตายในที่สุด เชื้อสาเหตุโรคนี้จะสามารถแพร่กระจายไปกับเมล็ดพันธุ์ได้ สามารถเกิดการระบาดของโรคได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของควินัว
- การป้องกันโรค: การใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่ไม่พบการระบาดของโรค คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีเบนโนมิลร่วมกับไทแรม (เบนเลท-ที) อัตรา 2 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม และฉีดพ่นสารเคมีดังกล่าวทุก ๆ 5-7 วัน เมื่อพบอาการของโรค
- โรคอื่น ๆ ที่พบ เช่น Fusarium wilt, Leaf spot (Ascochyta hyalospora)
แมลงศัตรูพืช
1. เพลี้ยอ่อน และเพลี้ยไฟ: ใบแสดงอาการหักงอ บิดเบี้ยวแห้ง กรอบ ดอกร่วง และไม่ติดเมล็ด มักพบการระบาดของโรคในช่วงที่ฝนเริ่มทิ้งช่วงและอากาศแห้งแล้ง ควบคุมโดยการฉีคพ่นสารคาร์โบฟูราน 20 อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบการเข้าทำลาย
2. หนอนม้วนใบ หนอนเจาะลำต้น: หนอนจะกัดกินใบอ่อน ลำต้น และช่อดอก หากมีการระบาดมาก จะทำให้ยอดอ่อนและช่อดอกเสียหาย ผลผลิตลดลง ควบคุมโดยการหมั่นตรวจดูตามยอดอ่อน และช่อดอก หากพบให้ทำลายด้วยมือ หรือหากพบการระบาครุนแรง ควรฉีดพ่นสารไพรีทรอยด์ อัตรา 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
3.มวน เป็นแมลงปากดูด: ทำลายบริเวณใบ และยอดอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีรอยแผลไหม้เป็นวงเล็ก ๆ หรือเป็นจุด ๆ ทำให้ยอดอ่อนและดอกอ่อนหักงอ พัฒนาไม่สมบูรณ์ได้ ควบคุมโดยการใช้สารคาร์โบซัลแฟน 20 % อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาด และพ่นซ้ำตามการระบาคของโรค
4. มด และปลวก: กัดกินลำต้นและระบบรากใต้ดิน ทำให้การเจริญเติบโตต้นควินัวชงักและผลผลิตลดลง พบการทำลายได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต และมักพบการระบาคเมื่อลักษณะภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง สามารถควบคุมด้วยการฉีดพ่น หรือคลุกสารเคมีทางดินก่อนการปลูก
=================================
งานวิจัยเกี่ยวกับควินัว
รศ. ดร. ปิติพงษ์ โตบันลือภพ และ ดร. ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะวิจัย ได้ดำเนินการวิจัยด้านศักยภาพการผลิตคีนัวเชิงพาณิชย์ ในปัจจุบันนั้นสามารถคัดเลือกแหล่งเชื้อพันธุกรรมควินัวที่สามารถปรับตัวได้ดีภายใต้สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทย จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Moradas และ Verdes ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นั้นสามารถให้ผลผลิตได้ถึงโดยเฉลี่ยประมาณ 280-350 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยที่เป็นแหล่งกำเนิดเดิม จากการศึกษาต่อเนื่องถึงคุณภาพของผลผลิตเมล็ดควินัว พบว่า เมล็ดคีนัวที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นมีคุณภาพเชิงกายภาพและทางเคมีไม่แตกต่างจากแหล่งต้นกำเนิดเดิม แต่พบว่ามีปริมาณโปรตีนในเมล็ดที่สูงกว่า โดยขณะนี้คณะวิจัยได้รวบรวมแหล่งเชื้อพันธุกรรมควินัวได้เป็นจำนวนหนึ่ง และ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี ประเทศชิลี ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการศึกษาและพัฒนาเป็นการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ดีนัวที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกภายใต้สภาพพื้นที่สูงและพื้นที่ราบของประเทศไทยต่อไป ปัจจุบันทีมวิจัยไทยได้ขึ้นทะเบียนควินัวไปแล้ว 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แดงห้วยต้ม และ สายพันธุ์เหลืองปางดะ โดยยังมีอีก 2 สายพันธุ์ที่กำลังรอขึ้นทะเบียนคือ นิลเกษตรหลวงและโกเมนเกษตรหลวง ซึ่งเป็นควินัวเมล็ดสีดำและแดง ผลผลิตจากเกษตรกรที่ปลูกควินัวในประเทศไทยพบว่าผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 620 กิโลกรัม ส่วนงานวิจัยได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 380-420 กิโลกรัม โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของควินัวมีหลายประการ ตั้งแต่การใส่ปุ๋ย ภูมิอากาศ นอกจากนี้ ปริญญา การสมเจตน์และคณะ (2557) รายงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวและอัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนต่อผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ควินัว พันธุ์ Moradas และ พันธุ์ Verdes พบว่า ระยะเวลาการเกี่ยวที่ 90 วันหลังปลูก และมีการจัดการปุ๋ยไนโตรเจนที่อัตรา 125 Kg/ha เหมาะสมต่อการให้ผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์
การใช้ประโยชน์
ควินัวใช้ทำอาหารและขนมได้หลายอย่าง สามารถใช้ได้ทั้งในรูปเมล็ด หรือบดให้ละเอียดเป็นแป้ง แต่ส่วนใหญ่นิยมนำมาต้มสุกแล้วแบ่งมาทำอาหารตามชอบ ควินัวที่ผ่านการต้มจะมีเนื้อสัมผัสนิ่มและมีรสชาติคล้ายถั่ว อร่อยมากจนคนส่วนใหญ่ติดใจ แค่นำมาหุงแบบข้าวก็พร้อมรับประทานใน 15 นาที
- เมล็ดควินัวจะมีสารซาโปนิน (Saponin) เคลือบอยู่โดยรอบเมล็ด โดยสังเกตได้จากเมล็ดควินัวจะมีสีน้ำตาลอ่อน-ครีม ทำให้เมล็ดควินัวมีรสชาติฝาดและขม ดังนั้นก่อนนำเมล็ดควินัวไปใช้จะต้องมีการล้างเพื่อกำจัดสารซาโปนินโดยการล้างด้วยน้ำเปล่า คล้ายกับวิธีการล้างซาวข้าว
- ผลิตภัณฑ์ควินัวแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ เช่น ข้าวผัดควินัว สลัดควินัว น้ำควินัว หรือทำขนมปัง คีนัวใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ และธัญพืชบางชนิค รวมถึงอาหารจากสัตว์ทะเล
- ควินัวสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารหลักแทนข้าวได้ หรืออาจจะทำเป็นซีเรียลสามารถนำไปต้มเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับทารกได้ เมล็ดที่นำมาต้มจะนำไปทำเป็นซุปหรือโจ๊ก
- เมล็ดควินัวสามารถนำไปคั่วคล้ายกับข้าวโพดคั่ว
- ต้นอ่อนสามารถรับประทานร่วมกับสลัดได้
- แป้งควินัวสามารถนำไปผสมกับเป้งข้าวโพดหรือแป้งสาลี เมื่อรวมกันแล้วจะได้แป้งที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้นนำไปทำเป็นพาสต้าและบิสกิตหวานเพื่อบริโภค แป้งที่ได้จากเมล็ดคีนัวสามารถนำไปทำเส้นบะหมี่ได้
- การแปรรูปในต่างประเทศ โดยการนำไปสกัดเป็นกลุ่มอะมิโนจำเป็น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน เช่น กรดอะมิโนสำหรับเด็กวัยกำลังเติบโต กรดอะมิโนสำหรับวัยชรา หรือกรดอะมิโนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องในการดูดซึมโปรตีน โดยทั้งหมดถูกแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารว่าง นมสำหรับเด็ก หรือ Ready-to-Eat-Quinoa
- การแปรรูปควินัวเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
คุณค่าทางโภชนะของควินัว
- ควินัว มีคุณค่าทางโภชนะซึ่งสูงกว่าธัญพืชหรือถั่วบางชนิด เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนสำหรับบุคคลและเด็กที่เป็นโรคแพ้โปรตีนจากสัตว์หรือธัญพืชบางชนิด
- มีโปรตีนปริมาณสูงมากถึงร้อยละ 16-18 ของน้ำหนักแห้งเมล็ดซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพดีและมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณที่สูงถึง 9 ชนิด สามารถใช้ทดแทนโปรตีนนมได้
- ประกอบด้วยเส้นใยอาหาร และธาตุอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 (ไทอะมีน) และ วิตามินบี 9 (โฟเลต)
- เป็นอาหารที่ย่อยได้ง่าย ปราศจากกลูเต็น และให้พลังงานสูง
- มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและดัชนีน้ำตาล (Glycemic index, GI) ต่ำ
ประโยชน์ของควินัวที่มีต่อสุขภาพ (Health benefit)
นักโภชนาการยกให้ Quinoa เป็นอาหารมีคุณค่าลำดับที่ 4 จาก 10 ชนิดอื่น ๆ เช่น สวิสชาร์ด อัลมอนต์ พริกหยวก ไข่ อโวคาโด โยเกิร์ต เกรฟฟรุต กระเทียมและชาเขียว Quinoa มีประโยชน์หลากหลายเช่น
-ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในควินัวมีเส้นใยอาหารมากถึง 16 กรัมซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล
-ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยังช่วยยัยยั้งการผลิตสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย
- มีแคลเซียมสูง บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
-ลดระดับไขมันในเลือด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
-สามารถบริโภคแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จึงเหมาะสาหรับผู้ที่บริโภคอาหารมังสวิรัติ ลดความอ้วน หรือกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้น้ำตาลแลคโตส (lactose) และกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานเพื่อไม่ให้ขาดโปรตีน
แหล่งข้อมูล
- ปิติพงษ์ โตบันลือภพ, ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ และ เบ็ญจารัชด ทองยืน. การคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ควินัวที่มีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์ภายใต้สภาพของประเทศไทย: รายงานฉบับสมบูรณ์ ประจำปี 2562 โครงการวิจัยที่ 3020-A091. มูลนิธิโครงการหลวง, 2562.
- ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์, ปิติพงษ์ โตบันลือภพ, นพ ตัณมุขยกุล, ปาริชาติ พรหมโชติ, สุจินต์ เจนวีรวัฒน์, เบ็ญจารัชด ทองยืน, ศิวาภรณ์ หยองเอ่น และ ปิ่นปินัทธ์ จันทร์แหง. (2559). การประเมินการผลิต การวิเคราะห์การเจริญเติบโต ผลิตภาพ และคุณภาพผลผลิตควินัว ในเขตพื้นที่ศึกษามูลนิธิโครงการหลวง: รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยควินัว ประจำปีงบประมาณ 2556-2558. มูลนิธิโครงการหลวง.
- ทิสยา ทิศเสถียร. (2564). คีนัวพันธุ์ดีปลูกได้ในไทย: แดงห้วยต้มและเหลืองปางดะ (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=68298 [6 พฤษภาคม 2565]
- Laosatit, K., Taytragool, S., Pimsaythong, K., Somta, P. & Tanadul, O. U. M. (2021). Genetic diversity of quinoa (Chenopodium quinoa Willd.) germplasm as revealed by sequence-related amplified polymorphism markers. Agriculture and Natural Resources, 55(3), 341-348.
- กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ. (2565). การศึกษาดูงานด้านการวิจัยและปลูกพืชควินัวที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://tica-thaigov.mfa.go.th/th/content/การศึกษาดูงานด้านการวิจัยและปลูกพืชควินัวที่สถานีเ?cate=5d7da8d015e39c3fbc007415 [6 พฤษภาคม 2565]
- วโรดม เตชศรีสุรี. (2565). การเดินทางสู่ความสำเร็จของเมล็ดพันธุ์ควินัว ความร่วมมือไทย-ชิลี ที่ถูกส่งต่อเป็นเกษตรทางเลือกและอาหารเพื่อสุขภาพ (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://readthecloud.co/quinoa-from-chile-to-thailand/?fbclid=IwAR2671qEgQI6d5hk1MWaYWhdY11vMG3GxCfH8ckTxIXPg3gu8p8FNoVnecs [12 พฤษภาคม 2565]
- Suracheth Prommarak. (2557). Response of Quinoa to Emergence Test and Row Spacing in Chiang Mai-Lumphun Valley Lowland Area (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.mcc.cmu.ac.th/Seminar/pdf/p255709002.pdf [13 พฤษภาคม 2565]
- ดวงจันทร์ เฮงสวัสดิ์. (2556). คิโนอา สุดยอดของธัญพืชในอนาคต. วารสารอาหาร, 43(4), 17-19.
- ควินัว คืออะไร ดีกับร่างกายอย่างไรบ้าง. (2563). (ออนไลน์). สืบค้นจาก https://www.healthandhospitalcommission.com/ควินัว-คืออะไร/ [13 พฤษภาคม 2565]
- Taylor Jones. (2021). What Is Quinoa? One of The World's Healthiest Foods (Online). Available : https://www.healthline.com/nutrition/what-is-quinoa [13 May 2022]
- Bhargava, Atul & Srivastava, Shilpi. (2013). Quinoa: Botany, Production and Uses. 10.1079/9781780642260.0000.
- Solveig Danielsen, Alejandro Bonifacio & Teresa Ames (2003) Diseases of Quinoa (Chenopodium quinoa), Food Reviews International, 19:1-2, 43-59, DOI: 10.1081/FRI-120018867