ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
2 พฤษภาคม 2565
ด้วงสาคูหรือด้วงงวงมะพร้าว แมลงกินได้

ด้วงสาคูหรือด้วงงวงมะพร้าว แมลงกินได้

แมลงกินได้กำลังเป็นที่นิยมรับประทานกันมากขึ้นเนื่องจากแมลงมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสูง การบริโภคผลิตภัณฑ์จากแมลงแทนผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ทั่วไปอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ปัจจุบันนอกจากจิ้งหรีดที่สามารถผลิตส่งออกต่างประเทศได้แล้วแล้ว ยังมีแมลงที่น่าสนใจอีกชนิดคือ ด้วงสาคูในระยะตัวหนอน ที่ในอนาคตอาจมีการส่งออกต่างประเทศได้

ด้วงสาคู มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Rhynchophorus ferrugineus Olivier วงศ์ Curculionidae

ชื่อสามัญ Red palm weevil, Red stripe weevil, Asiatic palm weevil, Sago palm weevil, Coconut weevil

ด้วงสาคู มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น ด้วงงวงมะพร้าว ด้วงไฟ ทางภาคใต้เรียกว่า ด้วงลานหรือแมงหวัง เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว ต้นสาคู หรือต้นลาน ปัจจุบันเป็นแมลงเศรษฐกิจมีความสำคัญเป็นแมลงกินได้และแหล่งอาหารโปรตีน ประเทศไทยสามารถเลี้ยงด้วงสาคูได้ทุกภาค ทุกฤดูกาล สามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบธรรมชาติและการเลี้ยงแบบประยุกต์ เช่นการเลี้ยงในกะละมัง โรงเรือน ตู้กระจก การใช้ทางมะพร้าวเลี้ยง ด้วงสาคูเพาะพันธุ์และเลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้เวลาเพียงเดือนกว่า ก็สามารถจำหน่ายได้ มีแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้เพราะมีสภาพอากาศเหมาะกับการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์

ลักษณะทั่วไป

ด้วงสาคู มีขนาดลำตัวยาว ประมาณ 2.2-3.5 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลอมส้มหรือสีน้ำตาลปนดำ ปากยาวแบบบาง มีงวงโค้ง มีจุดแต้มสีน้ำตาลเข้มด้านบนของอกปล้องแรก จุดแต้มนี้มีหลากหลายรูปแบบ  ปีกคู่หน้ามีริ้วรอยเป็นเส้น ๆ ตามความยาวของปีก ปีกคลุมไม่มิดลำตัว เห็นส่วนปลายท้อง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกัน โดยตัวผู้จะมีขนเป็นแนวที่ส่วนกลางตามความยาวของงวง ตัวเมียมีปลายงวงยาวเรียว

วงจรชีวิต (150-259 วัน)

ด้วงสาคูมีวงจรชีวิต 4 ระยะดังนี้

  1. ระยะไข่ 2-3 วันก็จะฟักมาเป็นตัวหนอน
  2. ระยะตัวหนอน 35-39 วัน เป็นระยะเก็บผลผลิตด้วงสาคู
  3. ระยะสร้างรัง (3-7 วัน)-อยู่ในรัง (6 วัน)
  4. ระยะเข้าดักแด้ (9-10วัน)-ออกดักแด้ (5-10 วัน)
  5. ระยะตัวเต็มวัย มีอายุประมาณ 90-184 วัน

สภาพแวดล้อมการเลี้ยง

  1. โรงเรือน ควรมีหลังคาและตาข่ายมุ้งลวดโดยรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันตัวเต็มวัยเล็ดลอดไปในธรรมชาติและน้ำไม่ท่วมขัง
  2. การจัดการเลี้ยงเน้นความสะอาด มีระบบการป้องกันศัตรูด้วงสาคู

 

การเลี้ยง

  1. การเลี้ยงด้วงสาคูแบบธรรมชาติหรือแบบดั้งเดิม

อุปกรณ์การเลี้ยง

  1. ท่อนสาคูจากต้นสาคู (Metroxylon sagus Rottb.) ชนิดยอดแดง ไม่มีหนาม ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคใต้ เกิดบริเวณป่าพรุ หรือพื้นที่บริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้น แกนต้นสาคูแก่ซึ่งมีแป้งสาคูเป็นที่อาศัยของด้วงสาคูและใช้เป็นอาหารด้วงสาคูโดยตัดลำต้นความยาวท่อนละ 50 ซม.
  2. พ่อ-แม่พันธุ์ด้วงสาคู ตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 4 ตัว
  3. ฝักบัวหรือสายยางสำหรับรดน้ำ
  4. สถานที่สำหรับวางท่อนสาคูอาจเป็นลานกว้างหรือโรงเรือนก็ได้

วิธีการเลี้ยง

  1. เตรียมท่อนสาคู ความสูงท่อนละ 40-50 ซม. วางตั้งตรงเรียงไว้บริเวณที่จะเลี้ยง มีความห่างพอเหมาะแก่การดูแล
  2. นำพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคูปล่อยลงในท่อนสาคู อัตราตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 4 ตัว จากนั้นปิดด้านบนของท่อนสาคูด้วยใยมะพร้าวสด
  3. รดน้ำด้วยฝักบัว หรือสายยางรดน้ำ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 40-45 วัน จะสามารถจับตัวหนอนด้วงสาคูออกจำหน่ายได้ โดยท่อนสาคู 1 ท่อน ให้ผลผลิตด้วงสาคูประมาณ 1-2 กก.
  4. การเลี้ยงแบบพัฒนา

อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วย

  1. กะละมังพร้อมฝาปิด
  2. สาคูบด กิ่งปาล์มสดบด หัวอาหารผสม เช่น อาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
  3. เครื่องบดสับทางปาล์ม
  4. ถังหมัก
  5. สูตรอาหารเสริม
  6. พ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู
  7. เปลือกมะพร้าวสด
  8. 8. อุปกรณ์อื่น ๆ

2.1 การผลิตพ่อแม่พันธุ์ (ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร)

  1. เตรียมอาหารผสม คือ ต้นสาคูบด 10 กิโลกรัม ผสมกับอาหารเลี้ยงสัตว์ 0.5 กิโลกรัม
  2. นำส่วนผสมอาหารดังกล่าว ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่รองก้นกะละมังหนาประมาณ 1 นิ้ว
  3. นำเปลือกมะพร้าวสดทั้งเปลือกแช่น้ำ แล้วนำมาวางเรียงในกะละมัง และใส่อาหารผสมดังกล่าว ลงไปตามช่องว่างของเปลือกมะพร้าวให้ทั่ว ทำอย่างนี้ให้ได้ 2 ชั้น ใน 1 กะละมัง
  4. คัดเลือกตัวหนอนด้วงสาคูที่โตได้ขนาดอายุหนอนประมาณ 35-40 วัน ใส่ในกะละมังที่เตรียมไว้ ประมาณ 100 ตัว/กะละมัง
  5. ปล่อยทิ้งไว้รอให้ตัวหนอนด้วงสาคู เข้าฝักดักแด้ประมาณ 20-30 วัน
  6. เก็บฝักดักแด้ออกมารวบรวมกันอีกกะละมัง เพื่อรอให้ตัวด้วงเจาะออกจากฝักดักแด้ประมาณ 5-10 วัน
  7. จับตัวด้วงตัวเต็มวัยที่ได้รวบรวมอีกกะละมังเพื่อคัดแยกเพศรอการผสมพันธุ์ก่อนนำไปปล่อยในกะละมังผลิตขยายหนอนด้วงสาคูต่อไป

 

2.2 การผลิตหนอนด้วงสาคู

 

วิธีที่ 1

  1. นำกิ่งทางปาล์มสดปลอกเปลือกและเข้าเครื่องสับบด
  2. นำกิ่งทางปาล์มสดสับละเอียดแล้วนำมาหมักในถังหมัก ไม่น้อยกว่า 3 วัน
  3. นำกิ่งทางปาล์มสดสับที่หมักแล้ว ผสมกับสูตรอาหารเสริมพอประมาณ คลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุใส่กะละมังอัดให้แน่นพอประมาณ ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู 5 คู่ อัตรา ตัวผู้ 5 ตัว ตัวเมีย 5 ตัว
  4. หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคูแล้ว ทิ้งไว้ 25-30 วัน ก็สามารถจับหนอนด้วงสาคูออกจำหน่ายได้

วิธีที่ 2

  1. เตรียมสูตรอาหารและสูตรอาหารเสริมผสมทางปาล์มสดสำหรับผลิตหนอนด้วงสาคู 1 กะละมัง ดังนี้

สูตรอาหาร (ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร)

-ต้นสาคูบด 10 กิโลกรัม

-อาหารเลี้ยงสัตว์ (อาหารหมูรุ่น) 0.5 กิโลกรัม

-เปลือกมะพร้าวสดสับ 1 กิโลกรัม

-น้ำ 2 ลิตร

-กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ

สูตรอาหารเสริมผสมทางปาล์มสด (ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร)

– EM 1 ช้อนโต๊ะ

– กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ

– อาหารเลี้ยงสัตว์ (อาหารหมู) 0.5 กิโลกรัม

– น้ำ 2 ลิตร

– รำข้าว 0.5 ลิตร

  1. นำกากน้ำตาล น้ำ และอาหารเลี้ยงสัตว์ ตามอัตราส่วนที่กำหนด ผสมแช่น้ำเตรียมไว้ก่อน 20-30 นาที เพื่อให้อาหารเลี้ยงสัตว์ละลายเข้ากัน
  2. นำส่วนผสม คือ ต้นสาคูบด และเปลือกมะพร้าวสดสับ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นจึงนำส่วนผสมกากน้ำตาล น้ำ และ อาหารเลี้ยงสัตว์ที่เตรียมไว้ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง
  3. นำส่วนผสม (ข้อ 3.) ที่ได้ใส่ในกะละมังอัดให้แน่นพอประมาณ ก็จะได้อาหารผสมสำหรับการผลิตหนอนด้วงสาคูที่มีประสิทธิภาพแล้ว 1 กะละมัง
  4. นำพ่อ-แม่พันธุ์ด้วงสาคู จำนวน 5 คู่ ปล่อยลงในกะละมังเลี้ยง (หลังแยกคู่ผสมพันธุ์แล้ว 1-2 วัน) ปิดฝา
  5. หลังจากปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ด้วงสาคูแล้ว ทิ้งไว้ 25-30 วัน ก็สามารถจับตัวหนอนด้วงสาคู ออกจำหน่ายหรือบริโภคได้

การเก็บผลผลิตด้วงสาคู

ทำการเก็บผลผลิตด้วงสาคูในระยะตัวหนอนวัยสุดท้ายก่อนเข้าด้กแด้ สีของตัวด้วงจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล โดยน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีตัวด้วงประมาณ 200 ตัว การเลี้ยง 1 กะละมัง จะเก็บผลผลิตตัวด้วงได้ ประมาณ 1 กิโลกรัม โดยจะทำการเก็บผลผลิตได้ประมาณ 4-5 ครั้ง จากนั้นจะนำวัสดุไปทำปุ๋ยหมัก และกะละมังก็สามารถทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้เลี้ยงด้วงใหม่

 

ตัวอย่างอาหารเพาะเลี้ยงด้วงสาคูจากเกษตรกร

  1. อาหารด้วงสาคู เช่นสาคูบด กิ่งปาล์มสดบด หัวอาหารผสม เช่น อาหารหมู
  2. การใช้มันบด ขุยมะพร้าว อาหารสุกรมาคลุกใส่น้ำให้เข้ากันแล้วนำกล้วยน้ำว้าที่สุกงอมมาเลี้ยงด้วงสาคูที่เป็นพ่อ-แม่พันธุ์
  3. การนำมันสำปะหลังเหลือทิ้งนำมาแปรรูป ตากแห้งผสมกับวัสดุอื่นเป็นอาหารเลี้ยงด้วงมะพร้าว ใส่ไว้ในกะละมังเพาะเลี้ยงด้วงสาคู สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงได้
  4. ใช้ทางมะพร้าว/ทางปาล์ม ขุยมะพร้าวและกากมะพร้าว ผสมรำกับมันสำปะหลังป่น โดยผสมให้สัดส่วนเท่าๆ กัน แล้วใส่ลงในท่อนสาคู/ท่อนลาน หรือท่อนมะพร้าวที่ด้วงอาศัยอยู่ หลังจากนั้นให้นำใบสาคูมาคลุมไว้
  5. การนำขุยมะพร้าว กากมะพร้าว รำข้าว และมันสำปะหลัง ผสมกันในอัตราส่วน 1:1:1:1 อย่างละ 1 ส่วน ในปริมาณเท่ากันเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงในกะละมังหรือท่อนสาคูธรรมชาติก็ได้เพื่อให้ผลผลิตเป็นด้วงอ่อน
  6. การให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงด้วงสาคู ในปัจจุบันได้มีการผลิตอาหารเสริมประเภทเม็ดสำเร็จรูปพร้อมใช้สำหรับการเลี้ยงด้วงสาคูเป็นฟาร์ม

การตลาด

ตลาดในประเทศ ผลผลิตด้วงสาคู 1 กิโลกรัม มีประมาณ 200 ตัว จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท ส่วนดักแด้จำหน่ายกิโลกรัมละ 250-300 บาท

ตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันทางองค์การอาหารและยาของไทยยอมรับและอนุญาตให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้

สำหรับตลาดโลกที่รองรับการส่งออกด้วงสาคูนั้นมีอยู่หลายประเทศ ได้แก่ อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย เม็กซิโก และอีกหลายประเทศในสหภาพยุโรป ยอมรับว่าด้วงสาคูสามารถกินได้ นอกจากนี้ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้วงสาคูกระป๋อง สามารถส่งขายต่างประเทศได้

          การบริโภค

  1. ก่อนนำมาปรุงอาหารบริโภค ให้นำตัวหนอนด้วงสาคูเลี้ยงในอาหารกากมะพร้าวขูด 1-2 วัน
  2. นำตัวหนอนมาล้างน้ำและแช่เกลือทิ้งไว้ 10-30 นาที เพื่อล้างสิ่งสกปรกทั้งภายในและภายนอกตัวหนอนออกแล้วล้างด้วยน้ำปูนใสอีกครั้ง
  3. นำมาลวกน้ำร้อนก่อนนำไปผัดโดยไม่ต้องใส่น้ำมัน ให้น้ำมันสีดำๆ ในตัวหนอนด้วงออกให้หมด จนกว่าน้ำมันจากตัวหนอนด้วงเป็นสีใส แล้วนำไปล้างน้ำอีกครั้ง
  4. นำไปปรุงอาหาร เช่น คั่วเกลือ ทอดน้ำมัน ผัดขี้เมา เป็นต้น และถ้าปรุงอาหารเสร็จแล้วเก็บไว้ในตู้เย็นจะได้ตัวหนอนด้วงที่มีรสชาติดีขึ้น

 

แหล่งข้อมูล

  1. อาพร คงอิสโร. (2554). การเลี้ยงด้วงสาคูเป็นการค้า. หนังสือพิมพ์กสิกร, 84 (5), 85-88
  2. กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร ส่วนส่งเสริมสินค้าเกษตร กลุ่มส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ. (2555). ด้วงสาคู/ด้วงลาน เลี้ยงง่ายโปรตีนสูง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร. เกษตรก้าวหน้า, 25(1), 26-32
  3. ไม่ปรากฏผู้แต่ง. (2557). การเพาะเลี้ยงและการส่งออก ด้วงงวง. กรุงเทพฯ. 144 หน้า
  4. การุณย์ มะโนใจ. (2564). ด้วงสาคูสินค้าเกษตรทางเลือกให้ในยุคโควิด-19 เตรียมโกอินเตอร์. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 33 (747), 75-77
  5. เทคนิคเลี้ยงด้วงสาคูในกะละมัง ผสมอาหารยังไง มีอุปกรณ์อะไรบ้าง. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_119953
  6. กฤช เหลือลมัย. (2560). สาคูต้น เรื่องของ คน ด้วง และแป้ง. มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน, 30 (660),114-115
  7. ด้วงมะพร้าว ราคาพุ่ง 2 พันบาท/กิโลกรัม. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2565. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/business/991762
  8. ด้วงสาคู. สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2565. เข้าถึงได้จาก: http://www.aopdb03.doae.go.th/home/wp-content/uploads/2018/12/ด้วงสาคู.pdf
  9. Red Palm Weevil. Retrieved 12 April 2022 from https://cisr.ucr.edu/invasive-species/red-palm-weevil
  10. ธิดารัตน์ พันโท. (2563). แมลงกินได้: คุณค่าทางโภชนาการ และการแปรรูปเพื่อนำไปใช้ประโยชน์. วารสารอาหาร, 50(1), 5-12

แหล่งที่มา

ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://kukrdb.lib.ku.ac.th/doc/sago.pdf
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู