ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
26 มีนาคม 2565
จิ้งหรีด (Crickets): แมลงกินได้ (Edible insects) อนาคตของความมั่นคงด้านอาหาร

          จิ้งหรีด (Crickets): แมลงกินได้ (Edible insects) อนาคตของความมั่นคงด้านอาหาร
แมลงมีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ แมลงหลายชนิดอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมันดี แคลเซียม ธาตุเหล็กและสังกะสีสูง นอกจากนี้ในด้านสิ่งแวดล้อม แมลงได้รับการส่งเสริมให้เป็นอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) น้อยกว่าปศุสัตว์ จากรายงานการศึกษาของ FAO พบว่า แมลงที่รับประทานได้โดยทั่วไป ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่มด้วง (Coleoptera) 31 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มผีเสื้อ (Lepidoptera) 18 เปอร์เซ็นต์ กลุ่ม ผึ้ง ต่อ แตน และมด (Hymenoptera) 14 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มตั๊กแตน (Orthoptera)
13 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มมวน (Hemiptera) 10 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มปลวก (Isoptera) 3 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มแมลงปอ (Odonata) 3 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มแมลงวัน (Diptera) 2 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มอื่น ๆ ของแมลงกินได้อีก 5 เปอร์เซ็นต์ พบว่า พลังงาน (energy values) ที่ได้จากแมลงอยู่ระหว่าง 8-1,272 กิโลแคลอรี โดยคิดจากน้ำหนักสด 100 กรัม ซึ่งเป็นการคำนวณกลับจากน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ขึ้นกับชนิดของแมลง เช่น หนอนไหม
ให้พลังงานประมาณ 94 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสุด 100 กรัม แมลงดานา 165 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสด 100 กรัม จิ้งหรีด 120 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสด 100 กรัม ตั๊กแตนข้าว 149 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสุด 100 กรัม ตั๊กแตนปาทังก้า 89 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสุด 100 กรัม มดเขียว 1,272 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสด 100 กรัม เป็นต้น

การศึกษา ของ Xiaoming และคณะ เมื่อปี 2010 ในรายงานของ FAO ได้วิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนของแมลงในอันดับ (Order) ต่าง ๆ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้งพบว่าแมลงอันดับ Coleoptera/กลุ่มด้วง มีปริมาณโปรตีนประมาณ 23-66 เปอร์เซ็นต์ ในระยะตัวเต็มวัยและตัวอ่อน

อันดับ Lepidoptera/กลุ่มผีเสื้อ มีปริมาณโปรตีนประมาณ 14-68 เปอร์เซ็นต์ ในระยะดักแด้และตัวอ่อน
อันดับ Hemiptera/กลุ่มมวน มีปริมาณโปรตีนประมาณ 42-74 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเต็มวัยและตัวอ่อน
อันดับ Homoptera/จักจั่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย มีปริมาณโปรตีนประมาณ 4-57 เปอร์เซ็นต์ ใน
ระยะตัวเต็มวัย ระยะตัวอ่อน และระยะไข่ 

อันดับ Hymenoptera/กลุ่ม ผึ้ง ต่อ แตน และมด ให้ปริมาณโปรตีนประมาณ 13-77 เปอร์เซ็นต์ ในทุกระยะการเจริญเติบโต
อันดับ Odonata/กลุ่มแมลงปอ มีโปรตีนประมาณ 46-65 เปอร์เซ็นต์ ในระยะตัวเต็มวัยและตัวและอ่อน
และอันดับ Orthoptera/กลุ่มตั๊กแตน มีโปรตีนประมาณ 23-65 เปอร์เซ็นต์ ในระยะตัวเต็มวัยและตัวอ่อน
แมลงจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก แมลง 100 กรัม มีโปรตีน สูงถึง 9-28% ซึ่งสูงพอ ๆ กับเนื้อสุกรแต่ใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่าประมาณ 3 เท่า นอกจากนี้แมลงยังเป็นแหล่งของกรดไขมัน ธาตุอาหารรอง วิตามิน และแร่ธาตุ ต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม และฟอสฟอรัส อีกด้วย

แมลงสามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนจากแหล่งอื่นได้ โดยความต้องการบริโภคแมลงเป็นอาหาร
ดังกล่าว หลาย ๆ ประเทศได้กำหนดนิยามคำว่า อาหารใหม่ (Novel Food) เป็นอาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทาง
นวัตกรรม โดยประเทศ/กลุ่ม กำหนดนิยามของอาหารใหม่ไว้คล้ายคลึงกันหลายประเด็น เช่นสหภาพยุโรป อาหารใหม่เป็นอาหารที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน หรือเป็นอาหารที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่ไม่ได้ใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิมหรือเป็นอาหารที่ปรับแต่งโดยกระบวนการผลิตแบบใหม่เช่น การใช้นาโนเทคโนโลยีรวมถึงแหล่งอาหารใหม่ เช่น แมลง สาหร่ายและยีสต์ สำหรับออสเตรเลียและ นิวชีแลนด์ อาหารใหม่เป็นอาหารที่ไม่ใช่อาหารดั้งเดิม/ท้องถิ่น/พื้นบ้าน (Non Traditional Food) ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาให้ประเมินด้านสาธารณสุขและความปลอดภัย เช่น ความเป็นไปได้ในการเกิดผลข้างเคียง ต่อมนุษย์ ส่วนประกอบหรือโครงสร้างของอาหาร กระบวนการเตรียมอาหาร แหล่งที่มา เป็นต้น ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาพิจารณาจากข้อกำหนด สารที่ไม่เข้าข่ายในกลุ่ม GRAS (Generally Recognized As Safe)/กลุ่มสารเคมีที่เติมลงไปในอาหารแล้วปลอดภัยภายใต้ Code of Federal Regulations Title 212)
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel Food เมื่อ
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ซึ่งเกิดจาก การนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการ การประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ กล่าวคือ
(1) อาหารใหม่ หมายถึง วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามี
ประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี
(2) อาหารใหม่ หมายถึง วัตถุที่ใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่
กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น ๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบโครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้น
เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต
(Metabolism) หรือระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์ (Level of undesirable substances) และ
(3) อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุ (1) หรือ (2) เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปน
อาหาร และอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม


จากรายงานของ FAO คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 15 ปีข้างหน้า ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราขยายตัว 23.8 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2018-2023 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมปศุสัตว์ขานรับนโยบายสนับสนุนการส่งออกจิ้งหรีด เป็นทางเลือกเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งโปรตีนแหล่งอื่น เช่น เนื้อวัว มีโปรตีน ระหว่าง 19-26 กรัม/100 กรัม ของน้ำหนักสดและเนื้อปลา มีโปรตีน ระหว่าง 18-28 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ในหน่วยวัดเดียวกัน พบว่าจิ้งหรีด มีโปรตีนระหว่าง 8-25 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ตัวไหม มีโปรตีนระหว่าง 10-17 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ซึ่งใกล้เคียงกับแหล่งโปรตีนจากแหล่งอื่น นอกจากจิ้งหรีดเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนแล้ว จิ้งหรีดยังมีวิตามิน แร่ธาตุ ไขมันไม่อิ่มตัว กรดไลโนเลอิก กรดโอเลอิก กรดอะมิโน แมกนีเซียม วิตามินบี 12 โอเมก้า-3 เส้นใยโปรไบโอติกและเส้นใยอาหารที่เรียกว่าไคตินอีกด้วย จิ้งหรีดจึงเป็นทางเลือกที่ที่น่าสนใจ สำหรับ Novel Food ของประเทศไทย

                ================= ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับจิ้งหรีด =================
จิ้งหรีด (Crickets) หมายถึง แมลงที่อยู่ในวงศ์ Gryllidae อันดับ Orthoptera มีรูปร่างลักษณะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1. ส่วนหัว ประกอบด้วย ตา หนวด ปาก คอ และรอยต่อกะโหลกศีรษะ มีตารวมใหญ่และตาเดี่ยว 3 ตา หนวด
ยาวแบบเส้นด้าย และมีปากแบบปากกัด
2. ส่วนอก มี 3 ปล้อง คือปล้องแรกมีขาหน้า 1 คู่, ปล้องกลางมีขาคู่กลาง 1 คู่ และมีปีกคู่หน้า 1 คู่ ซึ่งปีกนี้ใช้แยกเพศของจิ้งหรีดได้ด้วย โดยจิ้งหรีดตัวผู้มีปีกนอกคู่หน้ามีลวดลายหยักมีที่ทำเสียง ส่วนตัวเมียจะมีปีกผิวเรียบ และปล้องหลังมีขาคู่หลัง และยังมีปีกคู่หลัง ซึ่งเวลาหุบจะซ่อนอยู่ด้านใน
3. ส่วนท้อง เมื่อเติบโตเต็มที่แล้วจะมีปล้องจำนวน 11 ปล้อง

วงจรชีวิตจิ้งหรีด

จิ้งหรีดมีระยะการเจริญเติบโต แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะไข่ (Egg): ไข่จิ้งหรีด โดยทั่วไป ไข่มีสีเหลืองอ่อน ๆ หรือขาวครีม ลักษณะยาวเรียว คล้ายเมล็ดข้าวสาร
2. ระยะตัวอ่อน (Nymph): ตัวอ่อนจะมีลักษณะคล้ายมด มีอวัยวะภายนอกครบเหมือนจิ้งหรีดตัวเต็มวัยแต่ยังไม่มีปีก จิ้งหรีดมีการลอกคราบ 8 ครั้ง จึงจะเป็นตัวเต็มวัย
3. ระยะตัวเต็มวัย (Adult): จิ้งหรีดมีอวัยวะครบทั้งเพศผู้และเพศเมีย จิ้งหรีดเพศผู้ ปีกคู่หน้าย่น มีหนาม ไว้ทำเสียง (file) เพศเมีย มีปีกเรียบ และมีอวัยวะวางไข่ (ovipositor) ยาวแหลมยื่นออกมาจากส่วนปลายของท้อง อายุตัวเต็มวัยของจิ้งหรีดประมาณ 45-50 วัน


จากนโยบายสนับสนุนการส่งออกจิ้งหรีดของประเทศไทย จิ้งหรีดจะต้องเลี้ยงในฟาร์มที่ผ่านการรับรอง
มาตรฐาน GAP (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560) คลอบคลุม
จิ้งหรีด 3 ชนิด คือ
- จิ้งหรีดทองดำ (จิโหลน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gryllus bimaculatus de Geer หรือ African cricket,
Mediterranean field cricket, Two-spotted cricket เป็นจิ้งหรีดขนาดกลางถึงใหญ่ สีดำหรือน้ำตาลปนดำ
ทั้งตัว โตเต็มวัยยาวประมาณ 2.8-3.0 ซม. โคนปีกมีสีเหลืองแกมหรือแต้มสีเหลือง 2 จุด
- จิ้งหรีดทองแดง (จินาย จิ้งหรีดนิล จิ้งหรีดพม่า) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Teleogryllus mitratus (Burmeister)
(ชื่อพ้อง T. testaceus (Walker)), T. occipitalis (Serville) เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง โตเต็มวัยยาวประมาณ 2.5 -2.8 ซม. ลำตัวทุกส่วนสีน้ำตาลเข้ม บริเวณหัวเหนือขอบตามีแถบสีน้ำตาลเข้มรูปตัว V
- จิ้งหรีดทองแดงลาย (แมงสะดิ้ง จิ้งหรีดบ้าน จิ้งหรีดขาว ทองลาย) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acheta domesticus (L.) ป็นจิ้งหรีดขนาดเล็กกว่าอีก 2 ชนิด โตเต็มที่ยาวประมาณ 2.0-2.5 ซม. ตัวเมียมีสีน้ำตาลปนเหลือง ตัวผู้มีสีลำตัวเข้มกว่าตัวเมีย และมีลายแต้มที่หัว ปลายท้องมีแพนหาง
จิ้งหรีด 3 ชนิดนี้ ชอบอาศัยตามกองไม้ กองใบไม้ ร่องดิน ออกหากินในเวลากลางคืน และไม่ขุดรูอาศัย

                     == มาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด (มาตรฐาน GAP) และขั้นตอนในการส่งออกจิ้งหรีด ==
จิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย โดยการยกระดับมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงที่ฟาร์ม การแปรรูปที่โรงงาน ตลอดจนการส่งออกเพื่อตรวจสอบและรับรอง กำกับ ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้มีความปลอดภัยอาหารและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า โดยขั้นตอนในการส่งออกจิ้งหรีด ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ฟาร์มได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จากกรมปศุสัตว์ ตาม
มกษ. 8202-2560 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (Good Agricultural Practices for
Cricket Farm) ขอบข่ายในจิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง และจิ้งหรีดทองแดงลายหรือสะดิ้งหรือจิ้งหรีดบ้าน
ข้อกำหนด 5 ข้อ ประกอบด้วย
1) องค์ประกอบฟาร์ม ได้แก่ สถานที่ตั้ง ผังและลักษณะฟาร์ม และโรงเรือน: สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่
เหมาะสมไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอันตรายที่จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของจิ้งหรีดและผู้บริโภค พื้นที่ฟาร์มมีขนาดเพียงพอและเหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของจิ้งหรีดและสิ่งแวดล้อม มีวัสดุล้อมรอบพื้นที่การเลี้ยงจิ้งหรีด มีการวางผังฟาร์มที่ดีและจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน มีโรงเรือนที่สร้างด้วยวัสดุที่คงทน แข็งแรง ง่ายต่อการทำความสะอาดและบำรุงรักษา มีการระบายอากาศที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและจิ้งหรีด สามารถป้องกันศัตรูจิ้งหรีดไม่ให้เข้าสู่บริเวณโรงเรือน

2) การจัดการฟาร์ม ได้แก่ คู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์ม: มีคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์มที่แสดง
รายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์มได้แก่ ระบบการเลี้ยง การจัดการอาหารและน้ำสำหรับจิ้งหรีด การทำความสะอาดและบำรุงรักษา การจัดการด้านสุขภาพจิ้งหรีด การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และแบบบันทึกข้อมูล

3) สุขภาพสัตว์ ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรค การบำบัดโรค ควบคุมการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม: โดยมีการป้องกันและฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ และบุคคลก่อนเข้า-ออกจากฟาร์ม รวมถึงมีการจดบันทึกการผ่านเข้าออกจากฟาร์มของบุคคลภายนอกที่สามารถตรวจสอบได้ กรณีเกิดโรคระบาดหรือสงสัยว่าเกิดโรคระบาด ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และคำแนะนำของกรมปศุสัตว์

4) สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูลและน้ำ: มีการกำจัดหรือจัดการขยะมูลฝอย ของเสีย และมูล
จิ้งหรีดด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกฟาร์ม

5) การบันทึกข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลผลการปฏิบัติงาน การจัดการด้านบุคลากร ด้านการผลิต: มีการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ผลผลิตและการควบคุมโรค และมีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี มีการตรวจสอบจากสัตวแพทย์ประจำโรงงาน

ขั้นตอนที่ 2 การขึ้นทะเบียนโรงงานเพื่อการส่งออก กับกรมปศุสัตว์ในขอบข่ายแมลงและผลิตภัณฑ์
จากแมลงได้การรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่
ต้องควบคุม (HACCP) มีการแยกกระบวนการผลิตระหว่างส่วนดิบและส่วนสุกที่ชัดเจน
ขั้นตอนที่ 3 การขอใบรับรองสุขอนามัย Health certificate จากกรมปศุสัตว์ มีเอกสารครบถ้วน
และผ่านการตรวจสอบและรับรองจากกรมปศุสัตว์และมีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องตามระเบียบและ
ข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า

          ========== การเลี้ยงจิ้งหรีด =============
1. การเตรียมสถานที่เพาะเลี้ยง/โรงเรือน
• ควรมีพื้นที่กว้างและบริเวณก่อสร้างโรงเรือนควรเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมขัง
• สถานที่ต้องป้องกันฝนและแสงแดดจัดได้ โดยมีแสงแดดส่องผ่านประมาณ 30-40 % ในช่วงเช้าและสาย
มีอากาศถ่ายเทสะดวก
• ไม่ควรเป็นสถานที่มีโรคและแมลงศัตรูพวกมด ไร
• ควรมีแหล่งอาหารธรรมชาติหาได้ง่าย เช่น หญ้าจากธรรมชาติ ผักตบชวา เป็นต้น
• โรงเรือนควรอยู่ห่างไกลชุมชนเพราะจิ้งหรีดจะส่งเสียงดังรบกวน และอาจจะมีกลิ่นอับ เพราะกลิ่นรำข้าว
และอาหารที่นำมาเลี้ยง
• ควรทำร่องน้ำรอบบริเวณที่เลี้ยงเพื่อป้องกันไม่ให้มดเข้ามารบกวน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้จิ้งหรีดตายได้
• ควรมีที่หลบภัยใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว เพราะจิ้งหรีดมักหลบซ่อนตามซอกมุมใต้กองวัสดุต่าง ๆ เช่นถาดไข่
กระดาษอัด ไม้ไผ่ตัดป็นท่อน ๆ หรือกระเบื้องหลังคาเก่า ๆ
2. การเตรียมบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด
• วัสดุที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ เช่น บ่อซีเมนต์ ถัง กะละมัง ปี๊บ กล่องกระดาษ กรงตาข่าย กล่องทำจาก
ไม้อัด หรือกล่องเลี้ยงจิ้งหรีดที่ผลิตเอง
• บ่อจิ้งหรีดสำหรับการเลี้ยงจำนวนมาก นิยมใช้บ่อชีมนต์กลม โอ่ง ถังน้ำ บ่อก่อปูนเป็นรูปสีเหลี่ยมที่ใช้
เลี้ยงปลา หรือสัตว์เลี้ยงอื่นก็ใช้ได้
• ถ้าเลี้ยงไม่มากอาจใช้กล่องพลาสติกโดยเจาะรูที่ฝาด้านบนเพื่อระบายอากาศ หรือเจาะเป็นช่อง ติดมุ้งลวด
ก็ยิ่งดี
3. การเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์การเลี้ยงอื่น ๆ
• เทปกาวชนิดผิวนอกลื่นความกว้าง 5 ซม. ขึ้นไป เพื่อใช้ติดรอบวงในด้านบนเพื่อป้องกันจิ้งหรีดไม่ให้ออก
จากบ่อเลี้ยง
• ตาข่ายพลาสติกสีฟ้า/ตาข่ายไนล่อนสีขาว สีเขียวหรือสีดำ เพื่อใช้คลุมปากบ่อด้านบนสำหรับป้องกันศัตรู
เช่น จิ้งจก หนู งู เป็นต้น
• ยางรัดขอบบ่อในกรณีที่บ่อเลี้ยงเป็นบ่อซีเมนต์ นิยมใช้ยางในรถจักรยานหรือรถจักรยานยนต์ สาหรับรัด
ตาข่ายพลาสติกไนล่อนกับขอบบ่อทางด้านนอกเพื่อป้องกันศัตรูเข้าทำลายจิ้งหรีดและป้องกันไม่ให้จิ้งหรีด
หนีออกจากบ่อ
• วัสดุหลบซ่อนที่เหมาะสมที่สุด ได้แก่ แผงวางไข่ไก่ชนิดที่ทำจากกระดาษสำหรับจิ้งหรีดหลบซ่อนตัวใน
เวลากลางวันและเวลาลอกคราบ
• อุปกรณ์ให้น้ำ/ภาชนะใส่น้ำนั้นมีหลายแบบ เช่น ที่ให้น้ำไก่ ขวดพลาสติก ฟองน้ำ เป็นต้น
• อุปกรณ์ให้อาหาร ภาชนะใส่อาหารนั้นมีหลายแบบ เช่น ถาดพลาสติกต่าง ๆ จานอาหารชนิดผิวหยาบ,
กระป๋องน้ำมันเครื่องผ่าครึ่งหรือกระดาษที่ใช้ทั่ว ๆ ไป
• ถาดใส่อาหารอาจจะเป็นถาดไม้ ถาดพลาสติก ถาดสังกะสี หรือถาดกระเบื้องที่ไม่ลึกมากสี่เหลี่ยมหรือหรือ
กลมก็ได้เพื่อให้จิ้งหรีดได้กินอาหารได้สะดวก
• ภาชนะสำหรับวางไข่ เช่น ขันพลาสติก แกลลอนน้ำมัน ถาดพลาสติก
• วัสดุวางไข่ เช่น แกลบเผา
• วัสดุปูรองพื้นบ่อ ใช้แกลบใหม่ ๆ รองพื้นหนาประมาณ 1 ฝ่ามือ
4. ปัจจัยสภาพแวดล้อม (Environmental factors)
4.1 อุณหภูมิ(Temperature): อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ถ้ามีอากาศหนาว
ควรติดตั้งหลอดไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ห้ามอุณหภูมิสูงกว่า 36 องศาเซลเซียส
• ควรติดตั้งพัดลมช่วยระบายอากาศและฉีดน้ำบ่อยขึ้นในเวลากลางวันเพื่อคลายร้อนและเพิ่มความชื้น
• บ่อเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ควรให้โดนแสงแดดส่องโดยตรงเพราะอุณหภูมิจะสูงเกินไป

4.2 ความชื้น (Relative humidity): ควรก็บรักษาไข่จิ้งหรีดไว้ที่มีความชื้นสูง 80-90 % ถาดหรือกล่องเก็บไข่
ควรมีฝาปิด ที่ฝาเจาะรูเล็ก ๆ หรือเจาะเพื่อให้อากาศถ่ายเทและเก็บรักษาความชื้นได้
• จิ้งหรีดที่ฟักออกมาในสัปดาห์แรกก็ยังต้องการความชื้นสูงอยู่
• ตัวอ่อนจิ้งหรีดที่มีอายุมากขึ้นต้องการอยู่ในที่แห้งมากขึ้น ควรลดความชื้นต่ำกว่า 50 %
• การเลี้ยงจิ้งหรีดที่แออัดในปริมาณมากเกินไปต่อบ่อ และการมีน้ำเปียกในบ่อทำให้สกปรกและความชื้น
สูงขึ้น จิ้งหรีดจะเริ่มมีสีคล้ำหรือเป็นสีดำและเริ่มอ่อนแอ มีการตายให้เห็น
4.3 แสง (Light): ไม่ควรให้โดนแสงแดดส่องโดยตรงเพราะอุณหภูมิจะสูงเกินไป


5. การคัดเลือกพันธุ์
• อาจคัดพ่อ-แม่พันธุ์ โดยใช้จิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง หรือทองดำแท้ หรือพันธุ์ผสมระหว่างสองพันธุ์นี้
• คัดจิ้งหรีดตัวผู้และตัวเมียที่เป็นตัวโตเต็มวัยสุด มีอายุไม่น้อยกว่า 5 สัปดาห์หรือ 35 วัน ขึ้นไป
• ขนาดความยาวลำตัวไม่รวมหนวดและแพนหางยาว 25-35 มม.
• คัดพ่อแม่พันธุ์เอาแต่ตัวใหญ่ แข็งแรง ว่องไว และมีอวัยวะครบสมบูรณ์ โดยเฉพาะตัวเมียจะต้องมีอวัยวะ
พิเศษคือท่อวางไข่ปลายแหลมยื่นออกมา

6. การนำจิ้งหรีดลงบ่อเลี้ยง
บ่อซีเมนต์เลี้ยงจิ้งหรีดควรป้องกันมดโดยใช้เชือกเส้นโตหรือผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกรอบก้นภายนอกของภาชนะเลี้ยงหรือใช้ชอล์คขีดกันมด พร้อมติดเทปกาวที่ปากบ่อด้านในเพื่อป้องกันจิ้งหรีดไต่หน

7. การจัดการอาหารและน้ำ
7.1 อาหารจิ้งหรีด ใช้ได้ทั้งอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป
• อาหารหลัก: อาหารจิ้งหรีดโดยตรง/อาหารไก่เล็ก อาจจะนำมาผสมกับปลาป่นและรำข้าวโดยนำเข้า
เครื่องย่อยหรือบดให้ละเอียด
• อาหารเสริม: อาหารสดจากวัชพืช ผักและผลไม้ เช่น ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี คะน้า
ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง ผักกาดหอม หญ้ามาเลย์หญ้าขน ใบฟักทอง ควรล้างให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมี
7.2 การให้น้ำ
• ในระยะที่เป็นตัวอ่อน ควรใช้ฟองน้ำ เศษผ้าสะอาด หรือกระดาษซับน้ำให้ชุ่มแล้ววางในถาด ก่อนนำไป
วางในตู้หรือบ่อเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อให้ตัวอ่อนจิ้งหรีดมาดูดกินน้ำ
• ไม่ควรให้น้ำโดยใส่ถ้วยหรือจาน เพราะจะทำให้จิ้งหรีดตัวอ่อนจมน้ำตาย
• ภาชนะให้น้ำสำหรับจิ้งหรีดขนาดโตขึ้นมา อาจจะใช้ที่ให้น้ำสำหรับลูกไก่และต้องมีหินหรือแผ่นฟองน้ำวาง
ไว้สำหรับให้จิ้งหรีดเกาะได้ เพื่อป้องกันลูกจิ้งหรีดตกน้ำตายและควรทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำเสมอ
• ควรใช้วิธีฉีดพ่นน้ำเสริมวันละ 1-2 ครั้งโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศร้อน

8. การเตรียมภาชนะให้จิ้งหรีดวางไข่และการเก็บไข่
กรณีใช้วงปูนเลี้ยงควรวางเรียงกันเป็นแถวแต่ละวงให้ห่างกันเล็กน้อย (ประมาณ 3 นิ้ว) แต่ละแถวควรห่างกันพอที่ผู้ดูแลจะปฏิบัติงาน ได้สะดวก ไม่ควรจะวางห่างกันมากนักเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ เมื่อวางวงปูนแล้วจะต้องเทพื้นหนาประมาณ 1/2 - 1 นิ้ว เพื่อป้องกันมดจากใต้ดินเข้ามาทาลายไข่ และตัวจิ้งหรีด สำหรับรองวงด้านนอกจะต้องป้องกันมดด้วยทำร่องน้ำล้อมรอบโรงเรือน หรือใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบวงด้านล่าง จำนวนวงปูนจะวางมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ขนาดความกว้างยาวของโรงเรือน


การดูแลจิ้งหรีดระยะต่าง ๆ
8.1 การดูแลระยะไข่
ไข่ของจิ้งหรีดมีสีเหลืองอ่อน หรือขาวนวล ลักษณะเรียวยาวคล้ายเม็ดข้าวสาร ผิวเรียบเป็นมัน ไข่เมื่อใกล้ฟักตัวอ่อน สีจะเข้มขึ้น และจะเห็นจุดดำซึ่งเป็นสีของตาจิ้งหรีด อุณหภูมิมีผลต่อการฟักไข่มาก ปกติไข่จะฟักใน 13-14 วัน ไข่ที่ได้ในฤดูหนาว จะฟักใน 20-26 วัน ดังนั้นการชะลอการฟักของไข่ เพื่อรอการขายและขนส่ง จึงควรเก็บไว้ในที่เย็นกว่าอุณหภูมิห้องตามปกติหรือที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส กรณีที่ไม่ต้องรอการขายและขนส่งควรเก็บไข่ไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และปิดฝากล่องที่บรรจุไข่เพื่อรักษาความขึ้นให้สูงไว้ และป้องกันศัตรูไม่ให้ลงมากินไข่ ไม่ควรให้กล่องบรรจุไข่โดนแสงแดด
8.2 การดูแลตัวอ่อน
จิ้งหรีดมีการเจริญเติบโตแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย การเจริญเติบโตหลังจากไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อนที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวเต็มวัยมากเพียงแต่อาจจะยังไม่มีปีก หรือมีปีกที่ออกมาสั้น ๆ ตัวอ่อนแต่ละวัยมีนิสัยแตกต่างกัน จิ้งหรีดวัยแรกในธรรมชาติค่อนข้างปราดเปรียวเดินได้ว่องไวมาก ตัวอ่อนวัยแรก ๆ ต้องการความขึ้นสูงกว่าในระยะหลัง ๆ ไม่ควรเลี้ยงจิ้งหรีดต่างขนาดกันมากในบ่อเดียวกัน และไม่ควรเลี้ยงจิ้งหรีดต่างชนิดกันในบ่อเดียวกันเด็ดขาดเพราะจิ้งหรีดตัวใหญ่ หรือจิ้งหรีดบางชนิดกินจิ้งหรีดตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร ระยะที่จิ้งหรีดอ่อนแอที่สุดที่ไม่ควรรบกวนคือช่วงที่กำลังลอกคราบ
8.3 การดูแลตัวเต็มวัย
ช่วงนี้จิ้งหรีดต้องการกินอาหารที่มีโปรตีนสูงเพื่อบำรุงไข่ จิ้งหรีดตัวเมียจะยังไม่มีการวางไข่จนกว่าจะได้รับการผสมพันธุ์ เมื่อจิ้งหรีดเริ่มผสมพันธุ์ก็ควรเตรียมขันใส่ขี้เลื่อยหรืออุปกรณ์ในการวางไข่อื่น ๆ เพื่อให้จิ้งหรีดได้วางไข่ต่อไป

9. การจัดการด้านสุขภาพจิ้งหรีด
9.1 การเฝ้าระวังโรค การจัดการจิ้งหรีดเป็นโรคหรือจิ้งหรีดตาย
เชื้อโรค (Pathogens) บางชนิดพบว่าอาจเป็นสาเหตุการตายของจิ้งหรีดได้ เช่น
• เชื้อไวรัสจิ้งหรีด (Cricket paralysis virus)
• เชื้อรา เช่นเชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae), เชื้อ Entomophthora sp., Sorosporella sp.
พบในกระเพาะส่วนกลางของจิ้งหรีด, เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส Aspergillus sp. และเชื้อราขาว บิวเวอร์เรีย
(Beauveria bassina) การที่มีเชื้อราอยู่ในตัวจิ้งหรีดอาจจะไม่ทำให้จิ้งหรีดถึงตาย แต่มีผลทำให้การ
เจริญเติบโตช้าลง และการสร้างถุงน้ำเชื้อในเพศผู้ลดลง
• เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) เช่น Serratia sp. พบในจิ้งหรีดและแมลงกระชอน เชื้อแบคทีเรียชนิด
Serratia marcescens เป็นแบคที่เรียแกรมลบ มีรูปร่างเป็นท่อน เจริญได้ทั้งในภาวะที่มีออกชิเจนและไม่
มีออกชิเจน ไม่สร้างสปอร์ จิ้งหรีดบ้านและจิ้งหรีดทองดำตายด้วยเชื้อนี้ได้อย่างช้าๆ และยังเป็นพาหะ
ถ่ายทอดโรคได้ทางมูล และซากที่มีจิ้งหรีดตัวอื่นกินเข้าไป
สำหรับการป้องกันโรค ควรระวังการติดเชื้อโรค เน้นการทำความสะอาดตู้เลี้ยง บ่อเลี้ยง และล้างภาชนะต่าง ๆ ที่เลี้ยงให้สะอาด ควรล้างมือให้สะอาดก่อนเปลี่ยนอาหารให้จิ้งหรีด การนำอาหารสดมาใช้เป็นอาหารเช่นใบพืชต้องตรวจดูว่าไม่มีโรค ไม่เก็บใบพืชที่เหี่ยวเฉา หรือเก็บพืชมาสำรองไว้ซึ่งจะทำให้พืชไม่สดเพราะโรคอาจจะติดมากับพีช และโรคในพืชบางชนิดเป็นโรคกับจิ้งหรีดได้

9.2 การควบคุมแมลงและสัตว์พาหะ
สัตว์ศัตรูของจิ้งหรีดมีหลายชนิด เช่น
• มด มดจะมากินอาหาร ทำร้ายจิ้งหรีดจนตายและกัดกินซากจิ้งหรีด โรงเลี้ยงจิ้งหรีดควรทำร่องน้ำโดยรอบ
เพื่อป้องกันไม่ให้มดเข้าไปได้ ควรหลีกเสี่ยงการใช้สารฆ่าแมลงทุกชนิดในโรงเลี้ยง
• สัตว์อื่น ๆ เช่น มด จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า แมงมุม กบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก งู นกบางชนิดบินลงมาจิกกิน
และคาบจิ้งหรีดในบ่อเลี้ยง ควรป้องกันโดยการใช้ตาข่ายคลุมให้มิดชิด

• แมลงที่กินแมลงด้วยกัน (predators) เช่นตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตนหนวดยาวบางชนิด ด้วงก้นกระดก และ
ด้วงดินเป็นสัตว์ตัวห้ำ กินจิ้งหรีดเป็นอาหารได้ แมลงตัวห้ำ เช่น มวนพิฆาตและมวนเพชฌฆาต ก็ใช้ปาก
เจาะดูดกินจิ้งหรีดเช่นเดียวกัน
• นอกจากนี้ยังมีแมลงเบียน (parasites) มีหลายชนิด เช่น ต่อเบียน แตนเบียน และแมลงวันก้นขนเป็นต้น
แมลงเบียนวางไข่ที่ไข่จิ้งหรีด หรือตัวจิ้งหรีด หนอนแมลงเบียนที่ฟักออกมาจะกัดกินไข่ หรือกินอยู่ในตัว
จิ้งหรีดซึ่งจะทำให้จิ้งหรีดตายในที่สุด
• ไร เช่น ไรแดง ไรขาว ไรขานกที่ติดมากับอาหารและวัสดุที่ใช้ในการเลี้ยง อาจจะกำจัดด้วยการแช่แข็ง
หรือทำให้ร้อน ภาชนะพวกถาดวางไข่ซึ่งต้องใส่ขี้เสื่อย ขี้เถ้าแกลบหรือดิน ควรทำความสะอาดวัสดุต่าง ๆ
ที่จะนำมาใช้ให้ดี นำไปวางตากแดดเพื่อฆ่าไรก่อนนำมาใช้ซ้ำ หมั่นเก็บซากจิ้งหรีดที่ตายออกเพราะจะเป็น
ที่อาศัยของไร
10. การเก็บจิ้งหรีดเพื่อจำหน่าย
เมื่อเลี้ยงลูกจิ้งหรีดจนอายุประมาณ 45-50 วัน ขึ้นไป จิ้งหรีดโตพร้อมที่จะจับจำหน่ายได้ โดยพฤติกรรมของ
จิ้งหรีดแล้ว ตอนกลางวันจิ้งหรีดจะหาที่หลบซ่อน พอมืดค่่ำจิ้งหรีดจะออกหาอาหาร การเก็บจิ้งหรีดให้ใช้กระบอก
ไม้ไผ่ หรือท่อพลาสติกก็ได้ ตัดเป็นท่อนๆ วางไว้กับพื้นบ่อ จิ้งหรีดจะเข้าไปหลบอาศัย เวลาจะเก็บก็ยกกระบอกไม้
ไผ่ หรือท่อพลาสติก เคาะใส่ในถุงหรือกาละมังที่จัดเตรียมไว้โดยไม่ต้องยุ่งยากใช้มือไล่จับทีละตัว


                ========= ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูป =========
1. อาหารมนุษย์ได้แก่
• จิ้งหรีดในรูปแบบสด จิ้งหรีดแช่แข็ง
• ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารว่างจากจิ้งหรีดเช่น จิ้งหรีดทอด จิ้งหรีดคั่ว จิ้งหรีดบรรจุกระป๋อง น้ำพริกตา
แดงจิ้งหรีด ข้าวเกรียบจิ้งหรีด ทอดมันจิ้งหรีด แกงอ่อมจิ้งหรีด
• ผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีด นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น คุกกี้จิ้งหรีด เค้กจิ้งหรีด มักกะโรนีจิ้งหรีดเส้นบะหมี่จิ้งหรีด พาสต้าแป้งจิ้งหรีด
2. อาหารสัตว์น้ำแปรรูป เช่น อาหารปลา อาหารกุ้ง
                                    ====== แหล่งข้อมูล =======
1. พัชราภรณ์ ถิ่นจันทร์. (2561). แมลงกินได้: อาหารโปรตีนสูงแห่งอนาคต. วารสารข่าวฝ่ายวิจัย คณะ
ทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัด
สกลนคร, (2), 29-30.
2. มาริษา ภู่ภิญโญกุล, ภูวดล หมอกยา และ วิชชา ตรีสุวรรณ. (2563). การศึกษาลักษณะทางกายภาพ
องค์ประกอบทางเคมีของจิ้งหรีดทองแดงลาย และการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์คุ้กกี้จีน. เรื่องเต็มการประชุมวิชาการบัณฑิตศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 10 เรื่อง การยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21.
การประชุมวิชาการบัณฑิตศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 10 เรื่อง การยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21. (หน้า 1-8). มหาวิทยาลัยศิลปากร บัณฑิตวิทยาลัย.
3. Bawa, M., Songsermpong, S., Kaewtapee, C. & Chanput, W. (2020). Nutritional, sensory, and
texture quality of bread and cookie enriched with house cricket (Acheta domesticus) powder.
Journal of Food Processing and Preservation, 44(8).
4. พิสุทธิ์ เอกอำนวย. (2556). การเลี้ยงจิ้งหรีด: โลกของตั๊กแตน จิ้งหรีด 1. เชียงใหม่: ม.ป.พ.
5. อังคณา สุวรรณกูฏ. (2565). อาหารใหม่ แมลงกินได้. สัตว์บก, 29 (345), 61-66
6. กรมปศุสัตว์. (2564). กรมปศุสัตว์ยกระดับมาตรฐานส่งออกจิ้งหรีดแมลงเศรษฐกิจมุ่งไทยเป็นฮับแมลงโลกแหล่งโปรตีนไทยส่งออกทั่วโลกใน 3 ขั้นตอนจบ. สัตว์บก, 28 (343), 57-60
7. กัมปนาจ เภสัชชาม, บุรารัตน์ เภสัชชา, กฤติกา ชุณห์วิจิตรา และเมธา วรรณพัฒน์. (2564). ผลของอาหารในท้องถิ่นต่อสมรรถนะการผลิตและองค์ประกอบทางโภชนะของจิ้งหรีด. สืบค้น 19 มีนาคม 2565, จาก https://li01.tci-thaijo.org/index.php/agkasetkaj/article/view/250681/173247
8. พิทักษ์ ชายสม. (2563). มาตรฐาน (Good Agricultural Practices: GAP) และเงื่อนไขการส่งออกโปรตีนจากแมลงไปต่างประเทศ. สืบค้น 19 มีนาคม 2565, จาก https://www.opsmoac.go.th/loei-dwl-files432791791230
9. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. (2560). แนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 8202(G)-2560. สืบค้น 20 มีนาคม 2565, จาก
http://certify.dld.go.th/certify/images/laws/standard_farm/StandardFarm62/3/27.PDF
10. มาลี จิรวงศ์ศร. (2562). ขี้นทะเบียนอาหารใหม่ (Novel Food) อย่างไรให้ผ่านการพิจารณา. สืบค้น 20
มีนาคม 2565, จาก https://www3.rdi.ku.ac.th/wp-contents/uploads/2019/11/เอกสารบรรยายขึ้น
ทะเบียนอาหารใหม่.pdf
11. Food and Agriculture Organization of the United Nations. (2013), Edible insects: Future
prospects for food and feed security. Retrieved 20 March 2022 from
https://www.fao.org/3/i3253e/i3253e00.htm
12. กรมส่งเสริมการเกษตร. (2563). จิ้งหรีด (Cricket). สืบค้น 20 มีนาคม 2565, จาก
https://esc.doae.go.th/wp-content/uploads/2020/04/cricket2.pdf
13. Animal spot. (2022). Types of Crickets. [Image]. Retrieved from
https://www.animalspot.net/wp-content/uploads/2021/12/Types-of-Crickets.jpg
=================================================================


แหล่งที่มา

https://kukrdb.lib.ku.ac.th/doc/crickets.pdf
https://kukrdb.lib.ku.ac.th/doc/crickets.pdf
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู