ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
19 มกราคม 2565
เลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าด้วยอาหารสูตรสมุนไพรต้นทุนต่ำ

เปลี่ยนสวนยางสร้างเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อ เลี้ยงไก่ไข่ในตะกร้าใช้ต้นทุนต่ำด้วยอาหารสูตร “สมุนไพร”

“ไก่ไข่ของลุงนอมที่เลี้ยงมานี่ก็อายุสองปีกว่าแล้วนะ ก็ยังออกไข่ให้ลุงเก็บมาเรื่อย ๆ ทุกวัน ขนาดที่ว่าอายุครบการปลดระวางแล้ว แต่มันก็ยังมีไข่ให้ลุงเก็บกินมาเรื่อย ๆ อยู่ อาจบางวันน้อยบ้างมากบ้างแล้วแต่ ลุงว่าถ้ามันเครียดจริงมันก็คงจะไม่มีไข่ออกมาให้ลุงเก็บหรอก” ขณะที่การเลี้ยงไก่ไข่โดยทั่วไปจะมีอายุของการให้ผลผลิต (ออกไข่) ให้เก็บได้ 52 สัปดาห์ ก็จะต้องปลดระวางแม่ไก่กันแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็มาฟังที่มาที่ไปกันต่อดูซิว่า ลุงนอมคนเก่งของเรามีเคล็ดลับอะไรดี ๆ ที่น่าเอามาลองทำตามบ้าง!

ลุงนอม หรือนายประนอม รักจริง เกษตรกร ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง เล่าให้ฟังว่า เดิมทีมีอาชีพทำสวนยางพาราเช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน แต่ด้วยมีพื้นที่ผลิตน้อยเพียง 4 ไร่ กอปรกับส่วนหนึ่งยังถูกแบ่งมาทำเป็นพื้นที่อยู่อาศัย (บ้าน) ด้วย ก็เลยทำให้ผลผลิตที่ได้มาน้อย ไม่ค่อยเพียงพอต่อการใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของจำนวนสมาชิกในบ้าน แล้วอีกอย่างหนึ่งคือราคายางเองก็ไม่ค่อยแน่นอน ก็เลยพยายามมองหาช่องทางที่จะมาช่วยได้อีกทาง กระทั่งพบว่าแนวทางของพ่อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีการผลิตหลายอย่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อช่วยลดความเสี่ยง

กว่า 10 ปีแล้วที่ยึดถือการปฏิบัติตามแนวทางของ “พ่อ” มาเรื่อย ๆ ภายในพื้นที่เท่าเดิม 4 ไร่ที่มีอยู่ แต่เพิ่มเติมคือ การผลิตที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น พืช 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง เช่น ผักที่ไม่ต้องซื้อกินอีกเลย หรือไผ่ก็ปลูก “ไผ่กิมซุ่ง” ไว้กว่าหลายสิบกอ ที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในแง่ของอาหาร ก็คือ หน่อไม้ ไม้ไผ่ที่นำไปใช้งานได้ตามที่ต้องการ รวมถึงยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อผ้าพลาสติกเพื่อสร้างแหล่งอาหารไว้สำหรับการบริโภคเอง เหลือก็ขายได้อีกทาง เป็นต้น

ลุงนอมบอกด้วยว่า “บ่อปลาดุก” นั้นถือเป็นการเพิ่มการผลิตลงไปในพื้นที่แบบไม่ได้รบกวนหรือสร้างปัญหาใด ๆ ให้แก่พืชหลักอย่างยางพาราเลย แรก ๆ ทดลองเลี้ยงร่วมกันมีทั้งปลาดุกกับปลานิลของพ่อ (สายพันธุ์จิตรลดา) แต่สรุปว่าปลานิลไม่ค่อยดีนักเลี้ยงร่วมกันแบบนี้รู้สึกว่า ปลาไม่ค่อยโตดี ก็เลยมาเน้นเป็นปลาดุกอย่างเดียว เลี้ยงแบบให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปเป็นหลัก พออายุสัก 4 เดือนก็จับได้แล้วสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนในบ้าน หากเลี้ยงเพื่อจำหน่ายให้เหมาะเลยก็คือ 7-8 เดือน เน้นการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เพื่อนบ้านในราคามิตรภาพ เพียง 50 บาท/กก.เท่านั้น จะไม่เน้นการขายแบบยกบ่อหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง

สำหรับการเลี้ยง “ไก่ไข่ในตะกร้า” แต่เดิมเคยเลี้ยงอยู่กับต้นมะพร้าว หลังจากที่ได้ศึกษาหาความรู้ผ่านยูทูบแล้วลงมือปฏิบัติจริง จึงพบว่าระยะทางไกลและต้องเสียเวลาเดินไปดูแลไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ที่ต้นมะพร้าวทุกวัน จึงเปลี่ยนมาสร้างโรงเรือนง่าย ๆ โดยใช้ไม้ไผ่กิมซุ่งที่มีอย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว และได้รับทุนสนับสนุนจากทางราชการมาด้วยส่วนหนึ่ง ก็เลยนำมาซื้อกระเบื้องเพื่อมุงหลังคาให้ไก่ไข่ได้อยู่อาศัยแบบไม่ต้องกลัวแดดกลัวฝน ส่วน “ตะกร้า” ก็ยังคงเป็นอุปกรณ์หลักอยู่เหมือนเดิม ใช้ 2 ใบประกบกัน (บน-ล่าง) ต่อการเลี้ยงแม่ไก่ไข่ 1 ตัว โดยจะเน้นเลี้ยงไก่ไข่สาวที่พร้อมจะออกไข่เลย ซื้อมาในราคาตัวละ 185 บาท ส่วนตะกร้าราคาใบละ 18 บาท ใช้ 2 ใบก็เท่ากับ 36 บาท นี่คือต้นทุนเริ่มต้นหลัก ๆ ในการเลี้ยง แรก ๆ แม่ไก่อาจจะรู้สึกว่ายังแปลกที่ก็เลยไม่ยอมกินอาหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มชินและคงหิวจัดจึงยอมกินอาหารที่จัดเตรียมไว้ให้แต่โดยดี พอได้ประมาณ 10 วัน แม่ไก่ไข่สาวก็จะเริ่มออกไข่ การดูแลต่อจากนั้นก็เพียงให้อาหารวันละ 2 มื้อ (เช้า-เย็น) ก็จะมีเป็นอาหารไก่ไข่แค่ครึ่งเดียวจากปกติที่เลี้ยงกัน! ส่วนที่เหลือก็จะมีเพิ่มเศษอาหาร ข้าวเย็นที่เหลือ ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าสุกงอม ไก่จะชอบมาก ๆ หรือมีหน่อไม้สับผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน รวมถึงต้นกล้วยสับ ใบตำลึง ใบเหลียง และที่ขาดไม่ได้เลยคือ “สมุนไพร” อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ฯลฯ

โดยจะเน้นของที่หาง่ายใกล้ตัวในสวนนำมาให้ไก่ไข่ได้กินด้วย การให้อาหารปริมาณต่อครั้งคือ 1 กำมือ/ตัว/ครั้ง แล้วก็ยังมีน้ำ 2 ครั้ง/วันเหมือนกัน และให้ “น้ำหมักชีวภาพ” ที่มีหยวกกล้วยสับ 3 กก.ต่อกากน้ำตาล 1 กก. หมักไว้ 10 วันแล้วนำน้ำหมักชีวภาพที่ได้มาเจือจางกับน้ำ 1 ถ้วยตวง : น้ำ 20 ลิตร ใส่ในถ้วยไว้ให้ไก่กิน

ข้อดีของการเลี้ยงแบบนี้คือว่า สามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้กว่า 50% แถมไก่ไข่ยังแข็งแรงมาก ๆ ไม่พบการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคระบาดใด ๆ เลย ซึ่งช่วงแรกปรากฏว่าเมื่ออายุครบการปลดระวางแม่ไก่แล้ว แต่ก็ยังหาคนมาซื้อไม่ได้ ระหว่างนี้ก็เลี้ยงต่อมาเรื่อย ๆ และพบว่าแม่ไก่ไข่ก็ยังคงสามารถออกไข่ให้เก็บได้เป็นปกติเหมือนเดิม คือเก็บทุกเช้าจากแม่ไก่ไข่ 70 กว่าตัวที่เหลืออยู่ อายุ 2 ปีกว่าแล้ว ทว่าก็ยังมีไข่ออกมาให้เก็บได้ทุกวัน เฉลี่ยบางวันน้อยบ้าง-มากบ้าง ด้วยต้นทุนผลิตค่าอาหารที่ไม่ได้สูงมากนัก แต่ก็ยังถือว่ามีความคุ้มค่าในการเลี้ยงต่อไปได้

ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร. 08 5069 5121 หรือ สนง.เกษตรอำเภอกันตัง 0 7525 1742

 


แหล่งที่มา

ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/smes/detail/9650000005899
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู