ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
18 มกราคม 2565
ปลูกมะละกอแขกนวลดำเนิน มีตลาดรองรับไม่ขาดสาย

มะละกอแขกนวลดำเนิน เป็นมะละกอที่ตลาดมีความต้องการสูง เป็นมะละกอที่มีเนื้อสีขาว กรอบ เหมาะกับการนำไปตำส้มตำมากกว่าทุกสายพันธุ์ จึงเป็นมะละกอสายพันธุ์กินดิบที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกเพื่อสร้างรายได้

"การที่จะทำให้มะละกอมีผลผลิตดก ไม่ควรปล่อยต้นนานเกิน 2 ปี ระยะ 2 ปี มะละกอยังเป็นมะละกอสาวให้ผลผลิตดก แต่ถ้าหลังจากนี้ไปแล้วต้นจะเริ่มโทรม ทางที่ดีคือไม่ควรปล่อยต้นไว้เกิน 2 ปี ครบ 2 ปีให้โค่นทิ้งแล้วปลูกแซมเลยจะดีกว่า" คุณธงชัย ศิริโภคารัตนา หรือ คุณแบงค์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่องานสวนมะละกอ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

วิธีปลูกและดูแล
การปลูกมะละกอ ปุ๋ยถือเป็นเรื่องสำคัญและขาดไม่ได้ การดูแลเมื่อของเก่าหมดรุ่นให้เริ่มดูแลใส่ปุ๋ยบำรุงต้นใหม่ช่วงแรกต้นอายุ 1-4 เดือน ใส่ปุ๋ยยูเรียก่อน 46-0-0 เร่งให้ต้นโต ต้นน้อยก็ใส่น้อยเป็นกำมือ เมื่อต้นอายุ 4-5 เดือน จะเริ่มใส่ 16-16-16 เพื่อให้สะสมอาหารและฉีดฮอร์โมนทางใบ และแคลเซียมโบรอนก็ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วลูกจะปูดบวม ผิวตะปุมตะป่ำ ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกปูดบวมนอกจากแคลเซียมโบรอนยังมีตัวของไวรัสวงแหวนอีกอย่างที่ส่งผลให้ลูกปูดบวม ผิวไม่สวย

ปุ๋ยที่ใช้อาจจะต้องเลือกปุ๋ยยี่ห้อที่เข้ากับพืชได้ดี เพราะที่สวนเคยมีการทดลองใช้ปุ๋ย 2 ยี่ห้อ ยี่ห้อที่ 1 พืชดูดซึมปุ๋ยได้ดีต้นเจริญเติบโต ส่วนยี่ห้อที่ 2 เป็นสูตรเสมอเหมือนกันแต่พืชไม่กิน อันนี้เป็นเรื่องที่แปลกมาก ถือว่าต้องใช้ประสบการณ์และการสังเกตของผู้ปลูกโดยเฉพาะ

มะละกอเป็นพืชใช้น้ำเยอะ จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1 รอบ ยิ่งถ้าวันไหนอากาศร้อนต้องให้ ที่สำคัญคือมะละกอต้องห้ามรดน้ำตอนกลางวันเพราะจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดน้ำในบ่อก็จะร้อน ถ้าเราใช้น้ำรดโดนดอก ดอกจะร่วงเยอะมาก แล้วผลจะไม่ติด เพราะฉะนั้น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำคือช่วงตี 5-9 โมงเช้า อย่าให้เกินเที่ยง ปริมาณการรดน้ำดูตามความเหมาะสม ถ้าใส่ปุ๋ยไปเมื่อวาน รดน้ำแค่ 2 วันแรก วันที่ 3 ให้งด เพื่อให้ดินแห้ง เทคนิคของผมคือถ้าใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำซ้ำเยอะๆ ปุ๋ยจะไหลหนี

“เทคนิคการให้น้ำสูตรนี้ได้มาจากพ่อ คือที่เรือรดน้ำตรงหัวกะโหลกที่ดูดน้ำขึ้นจะมีรูดูดน้ำน้อย ๆ พ่อผมใช้เทคนิคปุ๋ยยูเรียน้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยยูเรียเกือบครึ่งกิโลเทลงไปแล้วคนในน้ำ ปุ๋ยยูเรียมันเย็น แล้วเอาสายที่ดีดูดน้ำหย่อนลงไปและพ่นออก ผมใช้เทคนิคนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมา มะละกอไม่ขาดคอเลย ต่างจากสวนข้าง ๆ ที่มะละกอขาดคอ อันนี้ถือเป็นวิธีของพ่อเลยครับ” คุณแบงค์เล่า

ผลผลิตต่อรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาผลผลิตได้ไม่เท่ากัน คำนวณเป็นเดือน 1 คันรถ ผลผลิต 3-3.5 ตัน 30 ไร่ เก็บแบบปูพรมทั้งหมดได้ 4 คันรถ ประมาณ 13 ตัน ใน 1 รอบการเก็บ 20-25 วัน…ที่นี้จะมีช่วงดกมาก ๆ พายเรือเข้าไปร่องเดียวก็ได้มะละกอมาแล้ว ลำเรือหนึ่งเท่ากับ 1 ตัน ซึ่งมะละกอดกไม่ดกจะเป็นช่วงอยู่ที่การบำรุง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่มะละกอขาดตลาดเกษตรกรจะได้ราคาดี

สถานการณ์ราคามะละกอดิบ ผันผวนตลอดเวลา เกษตรกรต้องเรียนรู้และใช้ไหวพริบ
“ตลาดมะละกอดิบราคาค่อนข้างผันผวนแบบวันต่อวันหรือชั่วโมงต่อชั่วโมง เกษตรกรที่จะอยู่ให้ได้คือต้องใช้ไหวพริบ หรือพยายามมีตลาดรับซื้อหลายที่ หากตลาดที่ 1 ราคาถูก ตลาดที่ 2 ราคาอาจจะแพงขึ้น ข้อนี้เกษตรกรต้องรู้เพื่อความอยู่รอด ข้อดีของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างผมคือรู้เรื่องเทคโนโลยีและรู้จักต่อรอง เราสามารถเช็คราคาสินค้าได้ตลอดเวลาว่าตลาดที่นี่เป็นอย่างไรแล้วเทียบกับตลาดที่อื่นเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของเราด้วย” คุณแบงค์ แนะนำ

การตลาดมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ตอนนี้มีทั้งหมด 4 ที่ด้วยกัน 1. ตลาดทางภาคอีสาน โคราช 2. ขอนแก่น 3. ตลาดสี่มุมเมือง 4. ตลาดไท ลักษณะการส่งขายจะเก็บผลผลิตมาแพ็กใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ราคาส่วนใหญ่อิงจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเป็นคนกำหนด ถึงเวลาพ่อค้าจะมารับซื้อถึงที่แล้วเอาไปขายที่สี่มุมเมืองแล้วจึงค่อย โทร.ตกลงราคากันทีหลัง แต่สวนผมจะไม่ทำแบบนั้น คือต้องตกลงราคากันก่อน เพราะว่าผมรู้สึกว่าเอาของไปแล้วไม่รู้ราคาเราเสียเปรียบ เกษตรกรต้องรู้จักเจรจาให้เป็น ทำอย่างไรก็ได้ให้เราเสียเปรียบพ่อค้าคนกลางให้น้อยที่สุด คุณแบงค์กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาการตลาดและเทคนิคการปลูกมะละกอแขกนวลดำเนิน ติดต่อคุณแบงค์ ได้ที่ โทร. 08 3167 6282


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_119412
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู