ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
18 มกราคม 2565
มะละกอพันธุ์ครั่ง มะละกอส้มตำแสนอร่อยแห่งที่ราบสูง

มะละกอพันธุ์ครั่ง เริ่มจากได้มีการนำพันธุ์จากบ้านคุยเชือก ตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มาปรับปรุงพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ภายใต้การควบคุมของกรมส่งเสริมการเกษตร (ชื่อเดิม ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ) ในปี พ.ศ. 2545 และได้รับการรับรองพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2549

โดยลักษณะประจำพันธุ์คือ เมื่ออายุ 1-3 เดือน จะมีจุดสีแดงอมม่วง (สีเลือดครั่ง) ตามลำต้น ก้านใบ และเมื่ออายุประมาณ 5 เดือน จุดจะจางหายไป จึงเป็นที่มาของคำว่า “ครั่ง”
จุดเด่นของมะละกอครั่ง คือ เมื่อติดผลแต่ละช่อจะมี 1-5 ผล มีความยาวเฉลี่ย 47 เซนติเมตร บางผลยาวถึง 60 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 9 เซนติเมตร น้ำหนักผลเมื่อผลเริ่มมีสีเหลือง 25 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 1.9 กิโลกรัมต่อผล จำนวนผลเฉลี่ย 38 ผลต่อต้น โดยผลดิบเนื้อจะมีสีขาวขุ่น กรอบ มีรสหวานเล็กน้อยเป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับทำส้มตำ ผลสุกมีสีเหลืองอมส้ม รสหวาน ความหวานเฉลี่ย 12.7 องศาบริกซ์ เป็นมะละกอพันธุ์เบาติดผลเร็วและยังมีความทนทานต่อโรคและแมลง สามารถปลูกได้ทุกสภาพดินและปลูกได้ตลอดทุกฤดูกาล

การผลิตเมล็ดพันธุ์มะละกอพันธุ์ครั่ง
การขยายพันธุ์ ส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เนื่องจากทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับผลผลิตที่จะได้รับและสามารถผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก

การช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มปริมาณและความสมบูรณ์ของเมล็ด
การผลิตเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธ์ุจำนวนมาก และตรงตามพันธุ์เป็นสิ่งจำเป็น โดยปกติการผสมปล่อยตามธรรมชาติอาจไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดน้อย การช่วยผสมเกสรดอกมะละกอจะช่วยเพิ่มผลผลิต จำนวนเมล็ดในผลเพิ่มขึ้น และเมล็ดมะละกอมีความสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งวิธีการช่วยผสมเกสรมะละกอเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์จะต้องเป็นเมล็ดที่ได้จากต้นสมบูรณ์เพศเท่านั้น เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่มี 3 เพศ คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมีย และต้นสมบูรณ์เพศ ในการผสมเกสรจะใช้ดอก Reduced Elongata ซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ทำหน้าที่เป็นดอกตัวผู้ นำมาผสมกับดอกสมบูรณ์เพศชนิด Elongata ซึ่งเป็นดอกที่จะทำให้มะละกอมีรูปร่างผลยาว

ลักษณะดอกที่พร้อมผสมเกสร
- ดอก Reduced Elongata คือดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่เป็นดอกตัวผู้ มีลักษณะกลีบดอกแข็ง มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมียขนาดเล็ก ดอกชนิดนี้ไม่มีการติดผล ดอกที่พร้อมจะนำไปผสมได้ กลีบดอกจะเป็นสีครีมทั้งหมด มีละอองเกสรติดอยู่ที่ปลายของก้านชูละอองเกสรเป็นดอกที่บานแล้ว
- ดอก Elongata คือดอกสมบูรณ์เพศ (กะเทย) ที่ให้ผลยาว มีลักษณะรังไข่ขนาดยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เรียงเป็น 2 วง เกิดบนขอบกลีบดอกด้านใน ดอกที่พร้อมจะผสมได้จะมีลักษณะสีขาวทั้งหมด หรือเป็นสีครีม ถ้าดอกชนิดที่ยังอ่อนกลีบดอกจะเป็นสีเขียวอ่อน ดอกที่พร้อมจะผสมจะเป็นดอกที่กำลังจะบาน คือ ก่อนบาน 1 วัน

วิธีผสมเกสร
- ในระยะที่ปลายกลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเริ่มแย้มออกแต่ยังไม่บาน ให้เด็ดดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่ดอกตัวผู้จากต้นเดียวกัน หรือจากต้นสมบูรณ์เพศใกล้เคียงมา เพื่อเป็นแหล่งของละอองเกสรตัวผู้ โดยเด็ดกลีบดอกออกเหลือไว้เพียงช่ออับละอองเกสรตัวผู้ที่แก่เต็มที่ (เมื่อเคาะลงบนฝ่ามือจะเห็นเป็นละอองคล้ายแป้งสีเหลืองอ่อน)
- ป้ายเบา ๆ ลงบนยอดเกสรตัวเมียของดอกสมบูรณ์เพศ
- เวลาในการช่วยผสมเกสร ควรเป็นช่วงเวลาเช้า ก่อนเวลา 10.00 น.

การเก็บและทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์
- เก็บผลผลิตเมื่อผลมะละกอปรากฏสีเหลือง 25-30% หรือมีสีเหลืองหนึ่งในสี่ของผล นำมาบ่มไว้ 2-3 วัน จนมะละกอสุกเต็มที่ แล้วผ่าขูดเอาเมล็ดออก
- นำเมล็ดที่ได้มาแช่ในน้ำสะอาดให้ท่วมเมล็ด หมักไว้ 1 คืน ไม่ควรหมักเมล็ดไว้นาน เพราะจะทำให้เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ
- ล้างเมล็ดโดยนำเมล็ดมาใส่ถาดที่มีรูหรือตาข่ายสีเขียว สวมถุงมือขยี้หรือใช้ยางบดเบา ๆ เพื่อแยกเอาเยื้อหุ้มเมล็ดออก

วิธีการปลูก
- การเลือกพื้นที่ปลูกให้ห่างจากแปลงมะละกอพันธุ์อื่นอย่างน้อย 800 เมตร เพื่อป้องกันพันธุ์ปน จากการผสมข้าม
- การเตรียมดิน ไถและพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืช ถ้าดินมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ในอัตรา 200-300 กิโลกรัม/ไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วทิ้งไว้ 10-15 วัน หลังจากนั้น ไถยกร่อง สูง 20-30 เซนติเมตร กว้าง 1.5 ม. (ระยะระหว่างกลางสันร่อง 2.5-3.0 เมตร) เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณหลุมปลูก
- การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูก ขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 2.0-2.5 เมตร ใส่แกลบดิบและแกลบเผาอย่างละ 5 กิโลกรัม ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม หินฟอสเฟตบด 1 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 จำนวน 150 กรัม ผสมดินในหลุมปลูกกับวัสดุปรับปรุงดิน รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี หว่านเชื้อไตรโคเดอร์มา 50-100 กรัม/หลุม เพื่อลดการสูญเสียจากโรครากเน่าโคนเน่า คลุมบริเวณหลุมด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน จึงปลูกได้
- การเพาะกล้าและย้ายกล้าปลูก คลุกเมล็ดพันธุ์มะละกอด้วยสารกำจัดเชื้อราริโดมิล เพาะเมล็ดในถุงพลาสติก ขนาด 4×6 นิ้ว 3 ต้น/ถุง เมื่อต้นกล้าอายุ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ปลูกต้นกล้าที่เตรียมไว้หลุมละ 3 ต้น ไม่ควรปลูกลึกจะทำให้รากเน่า
- การคัดเพศเมื่อมะละกอแสดงเพศแล้วจึงถอนแยกให้เหลือต้นกะเทยผลยาวไว้หลุมละ 1 ต้น

การปฏิบัติดูแลรักษา
- การใส่ปุ๋ย ก่อนติดผลใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 12-24-12 อัตรา 1.2 กกโลกรัม/ต้น/ปี โดยแบ่งใส่เดือนละครั้ง ครั้งละ 50-150 กรัม/หลุม แล้วแต่อายุพืช หลังติดผลใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 อัตรา 150 กรัม/หลุม เดือนละครั้ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งต้นใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 150-200 กรัม/ต้น/เดือน นอกจากนี้ อาจให้ปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารรองพ่นทุกสัปดาห์ วิธีใส่ปุ๋ย หว่านรอบโคนต้นภายในทรงพุ่มและพรวนดินเบา ๆ อย่าให้กระทบกระเทือนราก
- การให้น้ำและการระบายน้ำ ในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดอย่าให้ดินแห้ง ในช่วงฤดูฝน ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องให้น้ำ แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น โดยเสริมร่องปลูกให้สูงอยู่เสมอ
- การกำจัดวัชพืช ไม่ควรใช้จอบถางบริเวณโคนต้น เพราะรากจะถูกตัดขาด โรคเข้าทำลายได้ แต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีวัชพืชขึ้น นอกทรงพุ่มต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้น ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอจะช่วยลดวัชพืชและรักษาความชื้นในดิน
- การป้องกันกำจัดโรคแมลง ในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังปลูกมักพบโรครากเน่าและโคนเน่าจึงควรราดโคนต้นด้วยสารเคมีริโดมิลหรือเทอร์ราคลอซูเปอร์เอ็กซ์ ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกันจะมีโรครากเน่า โคนเน่าระบาดมาก แม้มะละกอจะออกดอกหรือติดผลแล้ว จึงต้องราดโคนด้วยสารเคมีทุก ๆ 15 วัน การหว่านเชื้อไตรโคเดอร์มาก่อนปลูกและหว่านซ้ำทุก ๆ 4 เดือน จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่ง การพ่นสารเคมีทางใบเพื่อป้องกันกำจัดแมลงหรือเชื้อรา ต้องระมัดระวังเนื่องจากใบมะละกออาจไหม้ได้จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
- การเก็บเกี่ยวมะละกอ เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีสีผิวเปลี่ยนจากเขียว เป็นเขียวอ่อน หรือเมื่อปรากฏแต้มสีเหลืองบริเวณปลายผล


© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู