ข่าวสาร
P06 พลังงานทดแทน
17 มกราคม 2565
นวัตกรรมโซลาร์เซลล์จากพืชผักเหลือทิ้ง
เมื่อของเหลือทิ้งกลายเป็นขุมทรัพย์ด้านพลังงาน นวัตกรรมโซลาร์เซลล์จากพืชผักเหลือทิ้ง ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ลดปัญหาขยะ  
เมื่อมีเทศกาลฉลองย่อมต้องมีอาหาร ปัญหาที่ตามมาบ่อย ๆ ก็คือ “ปัญหาขยะจากอาหารเหลือทิ้ง” อีกหนึ่งต้นเหตุของภาวะโลกร้อน โดยรายงานปัญหาขยะทั่วโลกจาก UNEP บรรยายไว้ว่า “ปริมาณขยะโดยประมาณเพียงพอให้รถบรรทุกขนาด 40 ตันบรรทุกเต็มที่ได้ถึงจำนวน 23 ล้านคัน สามารถจอดต่อกันรอบโลกได้ 7 รอบ” ซึ่งขยะอาหารส่วนใหญ่จะถูกฝังกลบจนกลายเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน แล้วเราจะสามารถนำอาหารเหลือทิ้งเหล่านี้ไปทำอะไรได้บ้าง คำตอบก็คือการแปรรูปขยะเป็นพลังงานทดแทน หรือแปรรูปเป็นวัสดุใหม่เพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในนวัตกรรมดังกล่าวก็คือ “แผงโซลาร์เซลล์จากเศษผักเหลือทิ้ง” นั่นเอง
 
โซลาร์เซลล์จากผักเหลือทิ้ง ถูกคิดค้นโดยวิศวกรชาวฟิลิปปินส์ที่มีไอเดียมาจากความต้องการแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตรที่ได้รับผลกระทบของสภาพอากาศ จึงคิดค้น “แผงโซลาร์เซลล์ AuREUS” นอกจากจะมีจุดเด่นที่ทำมาจากเศษผักหรือผลผลิตเหลือทิ้งแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- ทนทาน ให้ความโปร่งใส
- ขึ้นรูปได้หลากหลายรูปแบบ
- สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แม้ในภาวะที่มีแสงจำกัด
 
“โซลาร์เซลล์ AuReus” ใช้อนุภาคเรืองแสงที่สกัดจากพืชผักเพื่อดูดซับรังสี UV ในชั้นบรรยากาศที่สายตามองไม่เห็น หรือจากรังสีที่สะท้อนออกมาจากตึก ถนน และสิ่งปลูกสร้างรอบข้าง จากนั้นแสงที่ถูกดูดซับเข้ามาจะถูกแปลงเป็นไฟฟ้าด้วยเซลล์โฟโตวอลเทอิก (Photovoltaic) และจะถูกจัดเก็บเป็นพลังงาน โดยแผงโซลาร์เซลล์จากผักเหลือทิ้งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 48% เมื่อเทียบกับแผงโซลาร์ทั่วไปที่ผลิตออกมาได้ประมาณ 10-25%
 
ปัจจุบัน “แผงโซลาร์เซลล์ AeReus” ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในระดับครัวเรือน รวมทั้งผลิตเป็นหน้าต่างและผนังบนอาคาร นอกจากนี้ยังอยู่ในช่วงวิจัยทดลองสำหรับการนำไปใช้ติดตั้งกับรถยนต์ เรือ และเครื่องบิน อีกด้วย การพัฒนาในครั้งนี้นอกจากเป็นการช่วยลดจำนวนขยะอาหารที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจากผลผลิตที่เสียหายได้อีกด้วยครับ
ที่มา https://bit.ly/33nV4Q4 , https://bit.ly/34tnAjw

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู