ท่ามกลางวิกฤต "โควิด-19" ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา "พอดี ฟาร์ม" เลขที่ 33 บ้านบ่อเงิน ม.9 ต.สร้างก่อ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี ได้นำเกษตรทฤษฎีใหม่มาผสมผสานกับภูมิปัญหาท้องถิ่น จนประสบความสำเร็จกับการปลูกข้าวญี่ปุ่น "โคชิฮิคาริ"
นายเศกสรรค์ โพธิสาร อายุ 43 ปี เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า ภรรยา (นางนิ่มนวล วงศ์ศรีชา) เคยไปเย็บเสื้อผ้าที่ญี่ปุ่น 1 ปี ใช้ที่บ้านเปิดร้าน "ไนซ์บูติก" และ "ปลูกผักไฮโดโปรนิกส์" ส่วนตนเคยไปทำงานเกษตรที่ญี่ปุ่นตามโครงการรัฐจัดส่งไปฝึกงาน ได้ประสบการณ์ปลูกพืชผักทั้งระบบเปิดและระบบปิด ได้เงินมา สร้างบ้านและซื้อที่ดิน 3 แปลง 32 ไร่ ห่างจากบ้านราว 3 กิโลเมตร เมื่อกลับมาได้ไปทำงานเป็น "ชิปปิ้ง" ที่จังหวัดระยอง 2 ปี
"อาศัยช่วงวันหยุดยาวกลับบ้านมาออกแบบวางผังปรับพื้นที่ ซึ่งเดิมเป็นไร่อ้อย-ไร่มันสำปะหลัง-นาข้าว ไม่มีระบบชลประทาน ยึดตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 และเริ่มปรับพื้นที่ตามแผน ปลูกต้นไม้ ทำสวนกล้วย และนาข้าว เมื่องานเรือกสวนไร่นามากขึ้นก็ตัดสินใจลาออกกลับบ้าน เข้ารับการอบรมหลายครั้ง จึงตัดสินใจเตรียมพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าว 4 ไร่ นำข้าวหลายพันธุ์มาปลูก ทั้งที่กินเองและเอาไว้ขาย จนนึกถึงข้าวญี่ปุ่นที่เคยกินตอนไปทำงาน
สองปีก่อนพบในเพจมีผู้นำเข้าเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งพันธุ์โคชิฮิคาริ พันธุ์ข้าวอันดับ 1 แต่ราคาแพงมาก กิโลกรัมละ 16,000 บาท ก็สั่งซื้อมา 1 ขีด นำมาปลูกในโรงเรือนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ จากนั้นเริ่มปลูกแปลงแรก 2 งาน ใช้ภูมิปัญหาแบบไทย ๆ ได้ผลผลิตราว 700 กิโลกรัม/ไร่ คุณภาพไม่ต่างจากที่ญี่ปุ่น จึงทดลองปลูกในแปลงต่อ ๆ มา
เจ้าของ "พอดี ฟาร์ม" ได้จำลองแนะนำการปลูกแบบไม่หวง เริ่มจากการนำเมล็ดพันธุ์ ที่ผ่านมาคัดความสมบูรณ์ และหม่าน้ำมาแล้ว 2 วัน (ภูมิปัญหาไทย) พอเริ่มเห็นรากเอามาเพาะในถาดหลุม หลุมละ 3 เม็ด กลบด้วยวัสดุปลูกจากครั้งแรก "เถ้าแกลบ" เปลี่ยนเป็น "ดินไส้เดือนละเอียด" นำไปเก็บไว้ในเรือนเพาะชำนาน 2 สัปดาห์, นำถาด เพาะกล้ามาไว้ที่แปลงปลูก แช่น้ำตากแดดไว้ให้ปรับสภาพอีก 2 สัปดาห์ แล้วปักดำแบบไทยๆ ห่างกัน 1 ฟุต ดูแลนาข้าวแบบไทยๆ แต่เป็นอินทรีย์จนเก็บเกี่ยว
"แปลงนา 8 แปลง แปลงละ 2 งาน ใช้น้ำภายในสระและน้ำบาดาลใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ป้องกันสารเคมีจากนอกพื้นที่ จะปลูกหมุนเวียนชุดละ 2 งาน เก็บเกี่ยวแล้วตากดิน ปรับปรุงดิน ต้นกล้าข้าวญี่ปุ่นต้องเตรียมให้พร้อม ในนาข้าววันนี้ก็จะมีแปลงเตรียมเกี่ยว 1 แปลง, แปลงกำลังตั้งท้อง 1 แปลง, แปลงกำลังจะปักดำ 1 แปลง ที่เหลือก็เป็นแปลงที่จะไถกลบ-ตากแดดปรับปรุงดิน ข้าวที่เก็บเกี่ยวก็นำไปตาก เก็บไว้รอคำสั่งซื้อที่เข้ามาทุกวัน นำมาสีด้วยเครื่องสีข้าวครัวเรือน บรรจุถุงส่งตรงไปถึงบ้าน"
นายเศกสรรค์กล่าวต่อว่า ตลาดข้าวญี่ปุ่นพอดีฟาร์มจะเป็นกลุ่มคนเคยไปทำงาน หรือเคยกินข้าวญี่ปุ่นมาแล้ว เมื่อรู้ว่าเราปลูกได้จริง ทั้งจากปากต่อปากและจากโลกออนไลน์ก็จะสั่งซื้อไปลองชิมก่อน ส่วนใหญ่ก็สั่งซื้อมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยข้าวจาก "พอดี ฟาร์ม" เป็นข้าวปลอดภัย (GAP) อยู่ระหว่างรอผลตรวจรอบสอง เพื่อรับรองเป็นข้าวอินทรีย์ มีจำหน่ายทั้งข้าวเปลือก กก.ละ 500 บาท และข้าวสาร กก.ละ 100 บาท ทั้งข้าวไม่ขัด และข้าวขัด ราคาเดียวกัน ผู้สนใจสั่งซื้อผ่านเพจ "เศกสรรค์ โพธิสาร" ได้โดยตรง หรือเกษตรกรสนใจสามารถติดต่อขอดูงาน และรับคำแนะนำได้เช่นกัน