ข่าวสาร
N20 เกษตรกลวิธาน
21 ธันวาคม 2564
พัฒนาโดรนพ่นยอดมะพร้าว กำจัดด้วง

รศ.ดร.เกรียงไกร แซมสีม่วง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า แมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญนั้นมีอยู่ 2 จำพวก คือ หนอนหัวดำมะพร้าว ด้วงแรดและด้วงงวงมะพร้าว วิธีการป้องกันกำจัดสามารถทำได้โดยการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชบริเวณส่วนยอดที่เกิดการเจาะเข้าทำลายของตัวด้วง ซึ่งการพ่นบริเวณรอยเจาะของตัวด้วงมีความยากลำบากมาก เนื่องจากความสูงของต้นมะพร้าว และเป้าหมายมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นการทำงานได้ส่งผลให้การพ่นสารกำจัดศัตรูพืชมีประสิทธิภาพต่ำลง สิ้นเปลืองสารฉีดพ่น และการเข้าถึงเป้าหมายของหัวพ่นทำได้ยาก จากปัญหาดังกล่าว นายวีรยุทธ พรหมจันทร์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร จึงได้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์แขนกลพ่นน้ำยาควบคุมระยะไกลแบบติดตั้งกับโดรนสำหรับพ่นยอดมะพร้าวที่โดนด้วงเจาะทำลาย

ผลงานวิจัยดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ การออกแบบและสร้างแขนกลพ่นน้ำยา การออกแบบระบบควบคุมการทำงาน การทดสอบผลในห้องปฏิบัติการ และการทดสอบภาคสนาม โดยอุปกรณ์หลักที่ใช้สำหรับงานวิจัย ประกอบด้วย โดรนพ่นยา ใช้โดรนเกษตรสำหรับติดตั้งอุปกรณ์แขนกลพ่นน้ำยา ซึ่งเป็น โดรนชนิด 8 ใบพัด ระดับเพดานบินสูงสุด 30 เมตร และสามารถบรรทุกน้ำยาได้สูงสุด 5 ลิตรต่อครั้ง กล้อง IP Camera ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเป้าหมายการเจาะทำลายของด้วงมะพร้าวและบันทึกภาพการพ่น เพื่อส่งสัญญาณภาพแบบเรียลไทม์ไปยังสมาร์ทโฟน หัวพ่นน้ำยา Spray Nozzle ชนิดทองเหลือง

"การออกแบบและสร้างแขนกลพ่นน้ำยาควบคุมระยะไกลแบบติดตั้งกับโดรน ประกอบด้วย
1. ตัวโครง ที่ทำด้วยวัสดุอะลูมิเนียมมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด คือ เชือกสลิงและลูกรอก มอเตอร์ขับลูกรอก ปลอกสวม ท่อน้ำยา เดือยแบบสวมใน สลักยึดเชือกสลิง แขนพ่น กล้องและหัวฉีด
2. ชุดแขนกลพ่นน้ำยา สำหรับติดตั้งใช้งานร่วมกับโดรน โดยมีหลักการทำงาน คือ ในขณะที่โดรนขึ้นบิน (Take Off) และโดรนลงจอด (Landing) ชุดแขนกลพ่นน้ำยาจะห้อยตัวอย่างอิสระ เพื่อให้สามารถพับได้ในแนวราบ ส่วนในขณะที่โดรนลอยตัวอยู่กับที่ และในขณะฉีดพ่นน้ำยา ชุดแขนกลพ่นน้ำยาจะถูกล็อกแน่นเข้ากับปลอกสวม เพื่อสะดวกในการควบคุมโดรนและเพิ่มความแม่นยำในการพ่นน้ำยา ขณะที่การทำงานของระบบ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ใช้สำหรับควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของโดรน และสั่งการการฉีดพ่นน้ำยา ส่วนที่ 2 ใช้สำหรับควบคุมแขนกลพ่นน้ำยา สำหรับปล่อยให้อ่อนตัว เพื่อความสะดวกในการขึ้นบินโดรน และการลงจอด รวมถึงสำหรับดึงขึ้นให้ยึดแน่น เพื่อทำการฉีดพ่นน้ำยา"

ส่วนการออกแบบและสร้างชุดแขนกลพ่นน้ำยาควบคุมระยะไกลแบบติดตั้งกับโดรนสำหรับพ่นยอดมะพร้าว ได้คำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด และมีราคาถูก สามารถนำมาประกอบและใช้งานได้จริงสำหรับชาวสวนมะพร้าว เพื่อใช้พ่นน้ำยากำจัดด้วงมะพร้าว ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก คือ ตัวโครง ชุดแขนกลพ่นน้ำยา และระบบควบคุมระยะไกล โดยอุปกรณ์ทั้งหมดนี้จะติดตั้งเข้ากับโดรนพ่นยาขนาด 5 ลิตร เริ่มต้นจากการควบคุมโดรน ไปยังต้นมะพร้าว โดยสามารถตรวจดูได้แบบเรียลไทม์ ด้วยกล้อง IP Camera ที่แสดงผลผ่านสมาร์ทโฟน เมื่อพบรอยเจาะของตัวด้วงจะสามารถสั่งการพ่นน้ำยาโดยการควบคุมผ่านรีโมตที่ภาคพื้นได้แบบทันที ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่มาเสริมการทำงานให้เกษตรกร และเตรียมที่จะพัฒนาต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 08 9641 7532


แหล่งที่มา

นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 ต.ค. 2563
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู