ข่าวสาร
Q60 การแปรรูปผลิตผลเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร
9 สิงหาคม 2564
งานวิจัยชี้โพรโพลิส (Propolis) หรือกาวผึ้ง มีฤทธิ์ต้าน COVID-19

โพรโพลิส หรือกาวผึ้ง เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากรังผึ้งที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางยาตั้งแต่โบราณในยุคกรีก โรมัน โดยมีบันทึกว่ามีการนำโพรโพลิสมาใช้ในการรักษาบาดแผล ดูแลสุขภาพในช่องปาก รวมไปถึงบรรเทาอาการเจ็บคอระคายคอ 

สารสำคัญและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
จากการวิจัยที่ผ่านมา พบว่าโพรโพลิสมีส่วนประกอบของสารสำคัญต่าง ๆ มากกว่า 300 ชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ Galangin กาแลนจิน Caffeic acid phenethyl ester (CAPE) กรดคาเฟอิก ฟีทิล เอสเตอร์ ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น ฤทธิ์ต้านไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ปกป้องตับ และฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอื่น ๆ เช่น เทอร์ปีน ฟีนอลิก เป็นต้น ซึ่งสารที่พบจะมีความแตกต่างหลากหลายไปตามแหล่งอาศัยของผึ้งและชนิดของพืชพันธุ์ในแถบนั้น

จากองค์ความรู้เดิมที่พบว่าการติดเชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ เช่น การสัมผัสละอองจากการไอ จาม น้ำมูก หรือนํ้าลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย มีการศึกษาถึงกลไกของเชื้อผ่านเข้าร่างกาย โดยจากการศึกษาพบว่าด่านหน้าที่สำคัญ ที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย คือช่องปาก ลําคอและจมูก โดยจับกับตัวรับเชื้อโรค ทําให้ร่างกายติดเชื้อและกระจายเชื้อลงปอด ดังนั้นการป้องกันด่านแรกเพื่อไม่ให้เชื้อลงปอดคือการป้องกันหรือลดโอกาสในการจับกับตัวรับทั้งสอง

มีงานวิจัยที่ศึกษาเมาท์ สเปรย์กับน้ำยาบ้วนปาก พบว่าสารสกัดโพรโพลิสเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดโอกาสเชื้อลงปอดได้ จากการศึกษาพบว่าโพรโพลิสลดการจับของเชื้อกับตัวรับเชื้อโรค จึงช่วยป้องกันตั้งแต่ด่านแรกก่อนจะกระจายลงไปในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเฉพาะปอด แต่ถ้าหากเชื้อเข้าร่างกายไปแล้ว โพรโพลิสก็ยังช่วยยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น ยับยั้งการเกิดปอดอักเสบ รวมถึงช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น ส่งผลให้คนป่วยฟื้นตัวได้ดีขึ้นอีกด้วย

ข้อควรระวัง ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่แพ้น้ำผึ้งหรือผลิตภัณฑ์จากผึ้ง เพราะอาจมีโอกาสแพ้โพรโพลิสได้เช่นเดียวกัน หากพบอาการแพ้ที่มีลักษณะเป็นผื่นแดง คันตามร่างกาย ปากบวม ตาบวมหรือหายใจไม่ออก ควรพบแพทย์ทันที รวมถึงหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากภาวะของหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

 


แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู