ข่าวสาร
F50 โครงสร้างของพืช
25 มิถุนายน 2564
กัญชา

กัญชา ความหวังของมนุษยชาติในการรักษาโรคร้าย หรือใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ 􀁎
จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ยังคงต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยกันต่อไปเพื่อให้สามารถใช้กัญชาได้อย่างปลอดภัย มาทำความรู้จักกัญชากับบทความนี้กันค่ะ

􀀭กัญชา หรือ Cannabis 
มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Cannabis sativa L. subsp. indica เป็นพืชวงศ์ Cannabaceae

􀁷ลักษณะทั่วไป
• ลำต้น ต้นเตี้ย ลำต้นสูงไม่ถึง 2 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม
• ปล้องหรือข้อจะสั้น ระยะห่างของใบบนลำต้นแคบทำให้ทรงของต้นเป็นพุ่มทึบ
• กิ่ง เกาะกันเป็นพุ่ม
• ใบ ใบของกัญชาจะเล็กกว่าใบของกัญชงเล็กน้อย การเรียงตัวของใบจะชิดกัน ใบกัญชามีลักษณะมน แฉกลึกเข้าไปทางก้าน ใบมีสีเขียวจัด ใบประดับช่อดอกจะเป็นกลุ่มแน่นชัดเจน
• ดอก ช่อดอกตัวผู้และช่อดอกตัวเมียอยู่ต่างต้นกัน
• เมล็ด มีขนาดเล็ก ผิวมีลักษณะมันวาว 
• เปลือกและเส้นใย บาง ลอกยาก และให้เส้นใยคุณภาพต่ำ
• ช่อดอก/ยาง มักมียางเหนียวติดมือ
• ราก เป็นระบบรากแก้ว (Tap root system) และมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก

􀁷องค์ประกอบทางเคมี
สารสำคัญในกัญชาแบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก 3 กลุ่ม คือ
• สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids)📌
สารสำคัญในดอกและใบกัญชาเป็นสารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) เก็บสะสมไว้ในไตรโคมหรือต่อมขนที่มีอยู่มากบริเวณดอกกัญชาตัวเมีย ได้แก่ สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ ทีเอชซี/THC/สารเมา ประมาณ 1-20 % เป็นสารที่ทำให้ผ่อนคลาย กระตุ้นให้อยากอาหาร ประโยชน์ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง และสารสำคัญอีกชนิดคือสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือ ซีบีดี/CBD เป็นสารที่ลดการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบ ปวด บวมของแผล/เนื้องอก ระงับเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโต ระงับการเกร็ง/ชักกระตุก และสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ระบบประสาท
• สารเทอร์ปีน (Terpenes)
เป็นสารประกอบอะโรมาติก (Aromatic)  เป็นสารที่ทำให้มีกลิ่นเฉพาะตัวเช่น กลิ่นส้ม เบอร์รี่ มิ้นต์ ฯลฯ, สาร Linalool, limonene
• สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) 
มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) สารสำคัญในกัญชาที่เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มากถึง 20 ชนิด เช่น Apigenin, Luteolin, Quercetin, Kaempferol, Cann-f lavin A-B-C, Vitexin, Orientin, Catechins

􀁷ผลิตภัณฑ์กัญชา
ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาเช่น THC oil/น้ำมันกัญชา ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และรักษาโรคภายใต้การควบคุม มีหลายรูปแบบเช่น
• แบบแคปซูลใช้กิน เป็นรูปแบบน้ำมันจากสารสกัดแคนนาบินอยด์ THC และ CBD บรรจุลงในแคปซูลเมื่อถูกกลืนแคปซูลแตกตัวออก ยาจึงปล่อยออกมาดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้
• แบบไอระเหย  ใช้วิธีการสูดไอระเหยด้วยเครื่องพ่นไอระเหยทางการแพทย์เพื่อดูดซึมยาเข้าไปในกระแสเลือดผ่านทางปอด 
• แบบสเปรย์ สำหรับฉีดพ่นในช่องปาก และหยอดใต้ลิ้น  
• แบบน้ำมัน โดยการกลืนทางปากหรือหยดใต้ลิ้น ยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหาร
• แบบเหน็บทวาร เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาทางปากได้ เช่นในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

􀁷พันธุ์/สายพันธุ์
พืชสกุลแคนนาบิส (Cannabis) แบ่งสายพันธุ์ได้เป็น 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ซาติว่า (Sativa), อินดิก้า (Indica) และรูเดอราริส (Ruderalis)
พันธุ์ไทย ได้แก่
• พันธุ์หางกระรอก/ ไทยสติ๊ก (Thai Stick) ลักษณะเด่นคือช่อดอกใหญ่และยาวคล้ายหางกระรอก ต้นสูง 2-2.5 เมตร
• พันธุ์อิสระ 01 ที่พัฒนาคัดเลือกพันธุ์โดยกรมการแพทย์, กรมวิชาการเกษตร, มูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์
• พันธุ์ฝอยทอง จาก มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร
พันธุ์กัญชาที่ปลูกกันทั่วไป มีปริมาณสารออกฤทธิ์ THC และ CBD มากน้อยแตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น สายพันธุ์สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ การเขตกรรมเป็นต้น

􀁷วิธีปลูกกัญชา
การปลูกกัญชาต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และมีการควบคุมสภาพแวดล้อมเช่น อุณหภูมิให้มีสภาพอุ่นและชื้น มีระยะโตเต็มวัยประมาณ 60-90 วัน 
- แบ่งตามสภาพแวดล้อมการปลูก
1. การปลูกกลางแจ้ง/Outdoor ลงทุนน้อย ควบคุมสภาพแวดลอมไม่ได้ ให้ผลผลิตรอบเดียว การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชทำได้ยาก
2. การปลูกในร่ม/Indoor เช่น ในบ้าน โรงเรือน หรือในเต็นท์ ต้องลงทุนสูง ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ให้ผลผลิตได้หลายรอบ การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชทำได้ง่าย
- แบ่งตามวัสดุที่ใช้ในการปลูก
1. การปลูกในดิน ลงทุนน้อย แต่ถ้าจะให้ผลผลิตดีต้องลงทุนสูงขึ้นในการบำรุงดินใส่ปุ๋ย จัดการโรคที่มากับดินได้ยาก
2. การปลูกแบบไม่ใช้ดิน ลงทุนสูง จัดการธาตุอาหารได้ง่าย เติบโตอย่างรวดเร็วให้ผลผลิตสูงต้องการความใส่ใจมาก เช่น
• การปลูกในสารละลายธาตุอาหาร หรือที่เรียกกันว่าการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ มีการเติมอากาศในสารละลายธาตุอาหารตลอดเวลาเพื่อให้รากของต้นกัญชาได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
• ปลูกในวัสดุปลูกที่ไม่ใช่ดิน เช่น ขุยมะพร้าว ทราย เพอร์ไลท์ ฯลฯ รากของต้นกัญชาจะอาศัยวัสดุปลูก โดยอาศัยน้ำและธาตุอาหารจากสารละลายธาตุอาหารในการเจริญเติบโต

*** มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีได้มีการศึกษาวิจัย การทดลองปลูกกัญชาทั้งในระบบปิด กรีนเฮาท์ และระบบเปิด พบว่า ระบบปิดได้กัญชาที่มีมาตรฐานมากที่สุด

􀁷การปลูกกัญชาในระบบโรงเรือนแบ่งเป็น
• โรงเรือนระบบปิด (Indoor) การปลูกกัญชาในโรงเรียนระบบปิด สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งอุณหภูมิ แสง และความชื้น ทำให้ได้กัญชาที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกับลดความเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืชต่ำ ผลผลิตสูงทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถควบคุมความคงที่ของผลผลิตทั้งในเชิงสารสำคัญและปริมาณผลผลิต ที่สำคัญสามารถวางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี ผลผลิตมีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุด
• โรงเรือนแบบกรีนเฮาท์ (Greenhouse) การปลูกในระบบกึ่งเปิด คือการปลูกในโรงเรือนโดยใช้แสงธรรมชาติหรือแสงจากหลอดไฟเทียมและอาจมีการควบคุมสภาพแวดล้อมอื่น ๆ 
• โรงเรือนระบบเปิด (Outdoor) คือการปลูกแบบแปลงปลูกกลางแจ้ง

􀀵กฎหมาย
• กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
• กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 % และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2 %

􀀶ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ทำอย่างไร
ผู้ที่สนใจปลูกกัญชา ต้องปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น โดยยื่นคำขออนุญาต ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และต้องมีคุณสมบัติเป็น
• หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด
• แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง เภสัชกร แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน
• สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
• วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ หรือ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
• ในช่วง 5 ปีแรก นับแต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (19 กุมภาพันธ์ 2562-2567) ผู้ขออนุญาตปลูกต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตข้างต้น

􀁷สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชา     
• ผู้ยื่นคำขอฯ ต้องไม่เคยมีประวัติการถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
• สถานที่ปลูก มีเลขที่ตั้งและที่อยู่ชัดเจน มีระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัย พื้นที่เพาะปลูกใช้วัสดุในการสร้างที่มีความมั่นคงแข็งแรงและปิดกั้นเพื่อป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก
• ต้องแสดงหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองของสถานที่ปลูก หรือหนังสือให้ความยินยอมจากผู้ให้เช่า หรือผู้ให้ใช้ที่ดิน ในกรณีขอเช่าหรือขอใช้ที่ดินของบุคคลอื่นในการเพาะปลูก
สถานที่จัดเก็บ เมล็ดพันธุ์กัญชา ผลผลิตกัญชาที่ได้ภายหลังจากการเก็บเกี่ยว รวมถึงส่วนที่เหลือของกัญชาเพื่อรอทำลาย ควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัย แยกเก็บเป็นสัดส่วนและไม่ปะปนกับวัตถุอื่น ๆ
• แผนการผลิต แผนการจำหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์
• วิธีการดำเนินการ เช่น รายละเอียดและแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ วิธีการปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ระยะเวลาในการดำเนินการ เป็นต้น

􀁷หน้าที่ของผู้รับอนุญาตภายหลังได้รับอนุญาตแล้ว
• ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ป้องกันมิให้มีการรั่วไหลออกจากระบบการควบคุม และจัดทำรายงานและบัญชีรับ-จ่าย ตามแบบที่กฎหมายกำหนด

􀁷ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาได้หรือไม่
ปัจจุบันกฎหมายยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาได้เอง อย่างไรก็ตาม สามารถรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาได้ ทั้งนี้ กรณีปลูกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดต้องระวางโทษ  จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท   ถึง 1,500,000 บาท

􀁷กัญชากับการรักษาโรคมะเร็ง
ในร่างกายมนุษย์สามารถสร้างสารแคนนาบินอยด์เองได้เรียกว่า Endocannabinoid system (ECS) /ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ มีหน้าที่รักษาความสมดุลของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติโดยการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ สามารถถูกกระตุ้นได้โดย เอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่มีอยู่ในร่างกาย, เอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่อยู่ในกัญชา/ไฟโตแคนนาบินอยด์ และแคนนาบินอยด์สังเคราะห์

􀁷องค์ประกอบของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1.  สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น
2.  ตัวรับหรือ Receptor
3.  เอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างและสลาย
สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์สร้างมาจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า 6 การรับประทานอาหารที่สมดุลระหว่างโอเมก้า 6 และโอเมก้า  3 จะทำให้ร่างกายได้ประโยชน์สูงสุด สารนี้สร้างบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ ออกฤทธิ์บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์และจะถูกสลายไปไม่มีการเก็บไว้

􀁷การทำงานของระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์
ร่างกายมีการสร้างและส่งสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ไปจับกับตัวรับ หรือ Cannabinoid Receptor/CB แบ่งเป็นตัวรับชนิด CB1 อยู่บริเวณสมองส่วนกลาง และตัวรับชนิด CB2 อยู่ในระบบข้อต่อและกระดูก ระบบผิวหนัง ม้าม สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์จะออกฤทธิ์กระตุ้น/ยับยั้งที่ตัวรับ เมื่อทำหน้าที่เสร็จแล้วก็จะถูกสลายไปอย่างรวดเร็ว

􀁷งานวิจัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ทำวิจัยเกี่ยวกับกัญชาดังนี้
• วิจัยเกี่ยวกับกัญชาเพื่อการแพทย์
• วิจัยกัญชาสายพันธุ์หางกระรอก
• นักวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมการเกษตรและคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ กำลังพัฒนาทำอาหาร พัฒนาสูตร ผงปรุงรส น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว เครื่องสำอาง ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการปลูกกัญชาที่มีประสิทธิภาพและมีคู่มือพร้อมจัดอบรมแก่รัฐวิสาหกิจชุมชนหรือผู้ที่สนใจ

􀁷งานวิจัยต่างประเทศ
• วารสาร Life ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการต้านไวรัส Covid-19 ของสาร Terpene และ Cannabidiol ในกัญชาเรื่อง In Vitro Evaluation of the Activity of Terpenes and Cannabidiol against Human Coronavirus E229 : doi:10.3390/life11040290

เอกสารอ้างอิง
1. พรรณนีย์ วิชชาชู. (2563). กัญชง-กัญชา. น.ส.พ. กสิกร, 93(6), 54-62.
2. บังอร ศรีพานิชกุลชัย. (2562). การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน, 15(4), 1-26.
3. รู้จักกับกัญชง กัญชา และเทรนด์ตลาดในสหรัฐฯ. (2562). สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaibicusa.com/2019/05/10/กัญชง-กัญชา-เทรนด์ตลาดใน/
4. สารสำคัญในกัญชา มีอะไรบ้าง. (2563). สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://masakigarden.com/สารสำคัญในกัญชา/
5. วิธีปลูกกัญชา. (2563). สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://masakigarden.com/วิธีปลูกกัญชา/
6. รูปแบบยากัญชา. (2563). สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://cucans.in.th/knowledge-base/รูปแบบ-ยากัญชา/
7. แนะปลูกกัญชาระบบปิดสร้างมาตรฐานชูเป็นวาระแห่งชาติ. (2564). สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/925146
8. ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายทำอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.medcannabis.go.th/blog/ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายทำอย่างไร
9. เกี่ยวกับกัญชา. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://cannabis.fda.moph.go.th/
10. ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ทำงานอย่างไรในร่างกาย. (2563). สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.medicinalthaicannabis.com/content/6251/ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์-ทำงานอย่างไรในร่างกาย
11. สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกาย สร้างมาจากอะไร?. (2562). สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.medicinalthaicannabis.com/content/5192/สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ในร่างกาย-สร้างมาจากอะไร
12. นานาสาระการใช้กัญชาทางการแพทย์. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://resmd.kku.ac.th/web/siteinfo/cannabis_show
13. จับตาความร่วมมือ อภ.-มข. พัฒนาผลิตภัณฑ์ กัญชาเมดิคัลเกรดรูปแบบหลากหลาย. (2562). สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.gpo.or.th/view/46
14. อาคม กาญจนประโชติ. (2550). กัญชง : Hemp. เชียงใหม่
15. ศตนันท์ สุริยฉาย, และสาวบางแค 22. (2564). อย. แนะวิธีการขออนุญาตปลูกกัญชาทางการแพทย์. สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_179300
16. Chatow, L., Nudel, A., Nesher, I., Hayo Hemo, D., Rozenberg, P., Voropaev, H., … Eyal, N. (2021). In Vitro Evaluation of the Activity of Terpenes and Cannabidiol against Human Coronavirus E229. Life, 11(4), 290. doi:10.3390/life11040290
17. เอ็นโดแคนนาบินอยด์: สารแคนนาบินอยด์ที่ร่างกายมนุษย์ผลิตได้เอง. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2564. เข้าถึงได้จาก: https://www.medibis.shop/post/endocannabinoid


แหล่งที่มา

นักเอกสารสนเทศ ฝ่ายสารสนเทศ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://timeline.line.me/post/1162452011208019842
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู