ข่าวสาร
F01 การผลิตพืช
13 พฤษภาคม 2564
ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ใบด่าง
ทำไมต้นไม้ถึงใบด่าง? ต้นไม้ใบด่างบางต้นก็มีปัจจัยให้เกิดใบด่างตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ เช่น พลูด่าง ไทรด่าง หรือชบาด่าง ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุ และวิธีการดูแลที่ต่างจากต้นไม้ทั่วไป มาค้นพบความลับของต้นไม้ใบด่างกัน
 
ทำไมไม้ด่างถึงราคาแพง
เพราะในธรรมชาติต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีใบสีเขียว การที่ต้นไม้มีใบด่างจะได้สีขาว ครีม เหลือง ชมพู แดง ทำให้สวนมีสีสันสดใสมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นหลักคือ ต้นไม้ด่างนั้นเกิดขึ้นยากในธรรมชาติ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แม้แต่การตัดแต่งพันธุกรรมก็ถือว่าทำได้ยาก เฉลี่ยได้พันธุ์ไม้ด่างที่สวยแค่ 5% เท่านั้น อีกทั้งยังโตช้าและขยายพันธุ์ยาก ส่วนต้นไม้ด่างบางต้นที่ขยายพันธุ์ง่ายและโตเร็วก็จะราคาไม่แพง จึงเป็นอีกทางเลือกให้คนรักสวนได้นำไปใช้ปลูกเพื่อสร้างสีสันได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมต้นไม้ เช่น พลูด่าง ชบาด่าง บาหยาด่าง หนวดปลาหมึกแคระด่าง เป็นต้น
 
สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ใบด่าง
1. ขาดแสงสว่าง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตคลอโรฟิลล์ที่ทำให้ต้นไม้มีใบสีเขียว สังเกตได้จากการนำต้นไม้ปกติไปวางในที่มืด ผ่านไปไม่กี่วันใบก็จะเป็นสีขาวซีดและอ่อนแอ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการเพาะถั่วงอกหรือกุยช่ายให้มีใบสีขาวหรือเขียวอ่อน โดยหากนำมาออกแดดก็จะให้ใบสีเขียวตามเดิม
2. ขาดสารอาหาร สารบางตัวมีผลต่อการสร้างเม็ดสีของใบ โดยหากต้นไม้ขาดแมกนีเซียม ใบจะเป็นสีเหลืองแต่เส้นใยยังเขียวอยู่ ถ้าขาดกำมะถันหรือฟอสฟอรัส ต้นมีจะใบด่างเหลืองทั้งใบ ซึ่งอาการจะหายไปหากได้รับสารอาหารดังกล่าวในดินครบถ้วน
3. เนื้อเยื่อใบมีอากาศมาก อาการดังกล่าวส่งผลให้เมื่อแสงแดดไปตกกระทบใบจะเกิดการหักเหของแสง ทำให้ใบเป็นสีเทาเงิน พบมากในป่าธรรมชาติ อาการดังกล่าวจะเป็นถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สามารถจำแนกเป็นพันธุ์อื่นได้ เช่น พลูลงยา แนบอุรา หรือคล้าบางชนิด
4. ความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระทบโครงสร้างทางพันธุกรรมของต้นไม้ เช่น สารเคมีหรือสารกำมันตภาพรังสี ทำให้ต้นไม้ดังกล่าวกลายพันธุ์จากลักษณะเดิม นอกจากนี้ยังใช้ในวงการตัดแต่งพันธุ์ต้นไม้เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความทนทานหรือมีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่าสายพันธุ์เดิม
5. เกิดจากโรค  หากอาการของต้นไม้ในสวนมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นใบมีลายสีด่างหรือสีเขียวไม่สม่ำเสมอกัน เล็กหรือย่น ส่วนยอดหรือดอกหงิกงอผิดจากรูปทรงเดิมและไม่ติดผล ลำต้นแคระแกร็น มีกิ่งก้านสั้นกว่าปกติ อาจเป็นอาการของโรคใบด่างในต้นไม้ หรือ Mosaic Virus ซึ่งเกิดจากไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและสารคลอโรฟิลล์จนส่วนต่างๆ ของต้นมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมักพบมากในมะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มันฝรั่ง หากตัดแต่งด้วยกรรไกรหรืออุปกรณ์เดียวกันก็สามารถแพร่ไปสู่ต้นอื่นได้
 
นอกจากนี้ ยังมีไวรัส Mottled ที่ทำให้เกิดอาการด่างเป็นจุดๆ และ Vascular ที่ทำให้ด่างเฉพาะเส้นใยอีกด้วย ในบางครั้งโรคดังกล่าวก็ไม่ร้ายแรงมาก เพียงแค่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้าเท่านั้น โรคดังกล่าวไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดด้วยสารเคมี วิธีแก้ไขให้ตัดเอาชิ้นส่วนหรือต้นไม้ที่มีอาการมากไปเผาและทำลาย เพื่อลดการระบาด หรือเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่ต้านทานโรคไวรัส นอกจากนี้ควรกำจัดแมลงพาหะโดยเฉพาะเพลี้ยอ่อน โดยฉีดพ่นด้วยมาลาไทออนหรือเอส 85
 
วิธีดูแลไม้ด่าง
แสง : การเลี้ยงต้นไม้ใบด่างต้องดูแลมากกว่าต้นไม้ธรรมดา แม้ว่าเรื่องโรคและแมลงจะไม่แตกต่างจากต้นเดิม แต่การเติบโตช้ากว่า เพราะใบมีคลอโรฟิลล์น้อย ต้องอย่าให้โดนแดดจัด ควรปลูกในที่ที่พรางแสงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพรรณไม้ด้วย ถ้าเป็นต้นไม้ที่ปกติชอบแสงแดดจัด คงเลี้ยงในที่รำไรไม่ได้ เช่นไทรด่าง มันสำปะหลังด่าง ชบาด่าง เป็นต้น แต่ต้นไม้ด่างทุกต้นขณะที่ยังเล็กอยู่จะอ่อนแอ นำไปปลูกกลางแดดไม่ได้เลยทันที ควรให้ต้นแข็งแรงก่อน
การให้น้ำ : ต้นใหม่ ต้นอ่อน ไม่ว่าจะเกิดจากเมล็ดหรือการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น นอกจากใส่ใจเรื่องแสงที่ไม่ควรมากไปแล้ว ต้องดูแลไม่ให้น้ำมากเกินไปด้วย เพราะใบที่มีคลอโรฟิลล์น้อยกว่าปกติทำให้คายน้ำยาก ใบอาจฉ่ำน้ำหรือกลายเป็นรอยไหม้ได้
ดินปลูก : ในเรื่องของดินนั้นควรเน้นดินที่โปร่งระบายน้ำดี ถ้าจะให้ปุ๋ย ให้เลือกชนิดสลายตัวช้า เช่น ออโมโคทสูตร 6 เดือน
การขยายพันธุ์ : ไม้ด่างนิยมขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด โดยใช้ยอดด่างเสียบต้นตอที่เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันแบบใบเขียวธรรมดา ต้นไม้จะแข็งแรงอยู่รอดได้ดีกว่าเติบโตด้วยตัวเอง
 
การถ่ายทอดลักษณะด่างจากเมล็ด โดยเฉลี่ยจะได้ต้นด่างแค่ 10% นอกนั้นเป็นต้นธรรมดาใบเขียวกับต้นเผือก หรือใบขาว ซึ่งมักจะตายในที่สุด แต่พวกไม้ด่างใบเหลืองทั้งใบ เช่น เทียนทอง มุจลินทร์ ฯลฯ จะไม่ค่อยมีปัญหา
 

แหล่งที่มา

© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู