ข่าวสาร
L01 การผลิตสัตว์
2 กุมภาพันธ์ 2564
'อุทัยธานี' หนุนสมาชิกสหกรณ์เลี้ยงกระบือเพิ่มรายได้

นายสมนึก ศรลัมพ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตหนองยายดา จำกัด อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาภัยแล้ง ส่งผลกระทบให้นาข้าวในเขต ต.หนองยายดา ตายแล้งติดต่อกันมา 3 ปี สร้างความเดือดร้อน เกษตรกรขาดรายได้และมีหนี้สิน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก จึงดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกหันมาเลี้ยงกระบือเพื่อเสริมสร้างรายได้ โดยสหกรณ์จัดหากระบือแม่ลูกติดอย่างน้อยครัวเรือนละ 2-4 ตัว ภายในวงเงิน 200,000 บาท ให้สมาชิกนำไปเลี้ยงที่บ้าน โดยดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 9 เดือน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 62 ราย นำกระบือไปเลี้ยงคิดเป็นมูลค่า 10 ล้านบาท มีกำหนดชำระเงินคืนให้กับสหกรณ์ฯ ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากนำกระบือไปเลี้ยง ซึ่งสมาชิกผู้ร่วมโครงการทุกราย จะต้องผ่านการอบรม หลักสูตร การเลี้ยงกระบือจากปศุสัตว์อำเภอทุกราย

นายสมนึก กล่าวอีกว่า หลังสมาชิกนำกระบือไปเลี้ยงแล้วชั่วระยะเวลาเพียง 4-6 เดือน กระบือบางตัว ได้ตกลูกออกมาใหม่ เกษตรกรจึงได้ขายลูกกระบือที่ติดแม่มาตั้งแต่ครั้งแรกและมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อถึงบ้าน บางรายนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ตลาดนัดควายที่ อ.ทัพทัน ซึ่งมีตลาดรองรับภายในพื้นที่ รวมทั้งขายผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งลูกกระบือบางตัวมีลักษณะดี เป็นกระบืองาม ทำให้ขายได้ในราคาที่สูง หลังขายได้เกษตรกรจะนำเงินบางส่วนมาคืนสหกรณ์ และซื้อกระบือตัวใหม่ที่สหกรณ์ได้ขุนเลี้ยงไว้ 60 ตัว ภายในฟาร์มบนพื้นที่ 90 ไร่ นำกลับไปเลี้ยงที่บ้านอีกรอบหนึ่ง เพราะหากในฤดูกาลปลูกข้าวนาปีที่จะมาถึง หากเกิดภาวะภัยแล้งนาข้าวเสียหายขึ้นมาอีก เกษตรกรก็จะยังมีรายได้จากการขายกระบือที่เลี้ยงไว้ เป็นการแก้ไขปัญหาให้อย่างยั่งยืน เพราะกระบือนี้จะกลายเป็นธนาคารอย่างดี ทั้งแม่และลูกก็จะโตวันโตคืน แถมแม่กระบือก็จะให้ลูกเพิ่มขึ้นทุกปี ต่อไปควายจะเลี้ยงคน แต่ทีแรกคนจะเลี้ยงควาย หากฝนแล้งก็ไม่เดือดร้อน เราขายควายใช้หนี้และใช้จ่ายในครัวเรือนได้

ด้านนายวิชาญ เศรษฐีธัญญาหาร สมาชิกสหกรณ์การเกษตร ผู้เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนกระบือ 2 แม่ลูก รวม 4 ตัว มาเลี้ยงที่บ้าน โดยมีกระบือของเดิมที่เลี้ยงเอาไว้ก่อนหน้านี้อีก 3 แม่ รวมทั้งหมด 10 ตัว เลี้ยงเพื่อเสริมรายได้ ปกติทำนาจะพบปัญหาผลผลิตตกต่ำ ข้าวราคาไม่ดี ฝนแล้งติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว หลังนำกระบือ 2 แม่ลูก มาเลี้ยงได้ประมาณ 4 เดือน ตอนนี้ได้ขายลูกตัวเมียที่ติดแม่มา ให้กับผู้ซื้อจากต่างจังหวัดเพื่อนำไปเป็นแม่พันธุ์ จึงนำเงินที่ได้ไปใช้หนี้สหกรณ์แล้วซื้อควายจากสหกรณ์ นำกลับมาเลี้ยงใหม่ ส่วนแม่ได้พัฒนาสายพันธุ์ให้มีโครงสร้างใหญ่ เป็นควายงาม ก็จะขายได้ในราคาดี เคยขายได้ถึงตัวละ 100,000 บาท โครงการนี้ ถือเป็นโครงการที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกรได้

การเลี้ยงกระบือไม่ได้ยุ่งยากเพียงช่วงเช้านำกระบือปล่อยลงทุ่งให้แทะเล็มหญ้า เนื่องจากสภาพอากาศยังไม่ร้อน พอสายหน่อยก็นำกระบือลงแช่ในปลักน้ำประมาณ 30 นาที แล้วจึงนำเข้าคอกให้อาหารฟาง พอช่วงบ่าย จะปล่อยลงทุ่งให้แทะเล็มหญ้าและกินน้ำในวงบ่อ อีกครั้งก่อนนำเข้าคอก สำหรับกระบือถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจของ จ.อุทัยธานี เกษตรกรนิยมเลี้ยงมากในเขต อ.ทัพทัน อ.หนองฉาง อ.หนองขาหย่าง และ อ.เมือง มีประมาณ 15,000 ตัว โดยกระบือ พ่อ-แม่พันธุ์บางตัวที่มีลักษณะดี สามารถจำหน่ายได้ในราคาตัวละหลายล้านบาท จนทำให้ จ.อุทัยธานี มีชื่อเสียงในการพัฒนาสายพันธุ์ในระดับแนวหน้าของประเทศ


แหล่งที่มา

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู