ข่าวสาร
P01 การอนุรักษ์ธรรมชาติ/ที่ดิน
20 ตุลาคม 2563
การปลูกพืชบนหลังคาป้ายรถเมล์ พัฒนาสิ่งใกล้ตัวต่อยอดแรงบันดาลใจ 

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศในเขตร้อน มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 19-38 องศาเซลเซียส หากแต่ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิสูงขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียส แต่ถ้าลองสังเกตดี ๆ ไม่ว่าประเทศไทยหรือที่ไหนบนโลก ในช่วงฤดูร้อนจะมีความร้อนสูงขึ้นเรื่อยๆ และยาวนานขึ้น อย่างเช่นช่วงฤดูหนาวในประเทศไทยเริ่มสั้นลง อย่างในกรุงเทพฯ หลายปีที่ผ่านมาช่วงฤดูหนาวจะเกิดขึ้นไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น

ด้วยข้อสังเกตนี้จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น จนต้องมีการรณรงค์ให้ดูแลสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และการปลูกต้นไม้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะสามารถทำให้สภาวะโลกร้อนนั้นลดลง เนื่องจากต้นไม้จะช่วยคายออกซิเจนในเวลากลางวัน ทำให้เราได้อากาศบริสุทธิ์และช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกด้วย รวมทั้งยังให้ร่มเงากันรังสีจากแสงอาทิตย์และเพิ่มแหล่งความชื้นให้กับธรรมชาติโดยรอบและมีส่วนช่วยในการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ด้วย

คุณประโยชน์ดังกล่าว ผนวกกับแนวคิดที่ต้องการจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสังคมเมืองนั้น ทำให้นักเรียนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ได้แก่ นายขวัญพัฒน์ ปุตตวงศ์เกษม และนายเวทิต กัลย์จรัส ต้องการนำเสนอแนวคิดที่มีผู้ศึกษาไว้ในหลายประเทศ แต่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย มาใช้ผ่านการทำโครงงานภายใต้หัวข้อ "การปลูกพืชบนหลังคาป้ายรถเมล์โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร" โดยมี นางสาวพิมพ์ศิริ ด่านพิษณุพันธุ์ ครูสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดูแลโครงการ

นางสาวพิมพ์ศิริ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ยังไม่มีคนทำ นั้นก็คือบนหลังคา แต่ต้องยอมรับว่าหลังคาบ้านของไทยนั้นมีองศาและความทนทานไม่เพียงพอที่จะรับน้ำหนักของพืชและดิน เลยต้องเปลี่ยนสถานที่และมองไปถึงหลังคาของป้ายรถเมล์ที่มีอยู่แพร่หลายในทุกพื้นที่เมือง

การปลูกพืชบนหลังคาโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (ก้อนเห็ด) เป็นแนวคิดที่จะบูรณาการร่วมกันระหว่างการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาปลูกพืชบนหลังคาป้ายรถเมล์ ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ต้องทำการศึกษาใน 2 ส่วนคือ 1.วิธีทำให้วัสดุเหลือใช้หรือก้อนเห็ดสามารถปลูกพืชได้ตามความต้องการ 2.การศึกษาชนิดพืชและวิธีการปลูกบนหลังคา รวมถึงการดูแลรักษาในอนาคต

โดยไอเดียดังกล่าวเกิดจากสังเกตว่า ก้อนเห็ดไม่สามารถนำไปเพาะเห็ดซ้ำได้ เกษตรกรหลายรายจะนำก้อนเห็ดไปผสมปุ๋ยและใช้ในการปลูกพืชอื่น ๆ จึงเป็นแนวคิดที่จะนำวัตถุดิบจากก้อนเห็ดมาใช้ปลูกพืช ซึ่งถือว่าเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ ให้เกิดประโยชน์ใหม่ และไม่ทิ้งเป็นขยะ

ซึ่งจากการศึกษาคือต้องนำดิน แกลบ และก้อนเห็ดที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อเห็ดที่หลงเหลืออยู่ก่อนที่จะนำไปปลูกพืช นำมาหาสัดส่วนความเหมาะสมของดินกับการเจริญเติบโตของพืช ออกแบบหลังคาป้ายรถเมล์ ให้สามารถรองรับพืช และระบายน้ำได้โดยไม่ทำให้วัสดุปลูกไหลไปตามทิศทางของน้ำ จากการออกแบบทางผู้วิจัยต้องการให้น้ำจากหลังคาสามารถระบายลงสู่บ่อกักเก็บด้านล่าง และสามารถปั๊มขึ้นมาใช้รดน้ำในครั้งต่อ ๆ ไปได้ จากการศึกษาพบว่าพืชที่เหมาะสมคือ กลุ่มพืชอวบน้ำ เช่น แพรทอง และแพรหยก

โครงการดังกล่าวมองไปถึงการใช้งานในพื้นที่จริง แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อจำกัดของการปลูกพืชบนหลังคา การดูแลรักษา การรดน้ำหรือใส่ปุ๋ย และปรับการดูแลรักษาให้เข้ารูปแบบการทำงานของทีมผู้ดูแล เพื่อให้ไม่สร้างภาระแก่ผู้ดูแลมากจนเกินไป

หากสามารถนำไปใช้กับป้ายรถเมล์ในเมืองได้จริง ก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ปัญหาโลกร้อนได้เช่นกัน รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มองเห็นได้ง่าย จึงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการปลูกต้นไม้ให้คนทั่วไปได้ด้วย รวมถึงการพัฒนาโครงการดังกล่าวจะเริ่มจากการพัฒนาสิ่งใกล้ตัว เลือกสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้ถูกที่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรจะมีการสนับสนุนมากที่สุด


แหล่งที่มา

ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู