ข่าวสาร
A50 วิจัยเกษตร
25 สิงหาคม 2563
“กล้วยไข่ต้นเตี้ย” พัฒนาจาก กล้วยไข่ GI กำแพงเพชร แก้ปัญหากล้วยไข่หักล้มจากลมพายุ

“กล้วยไข่ต้นเตี้ย” พัฒนาจาก กล้วยไข่ GI กำแพงเพชร ผลทดลองสำเร็จ โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) “ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์” ตัดปัญหากวนใจ กล้วยไข่หักล้ม จากลมพายุ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร ได้นำความรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยพัฒนาต้นกล้วยไข่ให้เตี้ยลง หรือ ย่อส่วนจากต้นที่สูง ก็ทำให้มันเตี้ยลง เพื่อหลบลมพายุ ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรภาคเหนือ (กล้วยไข่)”

จากการเปิดเผยของ ดร. กุศล เอี่ยมทรัพย์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ ระบุว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา เนื่องจากจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสินค้า GI ของจังหวัดกำแพงเพชร ได้ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย กล้วยไข่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเริ่มทดลองและทำการวิจัยไปพร้อมๆ กัน ในปี 2562 ภายใต้แนวคิดในการลดความสูงของต้นกล้วยไข่ (กล้วยเตี้ย) โดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เพื่อแก้ปัญหาต้นกล้วยไข่หักล้มจากลมพายุ

ขั้นตอนการทดลองเป็นการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ชื่อว่า สารพาโคลบิวทราโซล เพื่อลดความสูงและเพิ่มความแข็งแรงของต้นกล้วยไข่ โดยใช้ในอัตราส่วน 5 กรัม หรือครึ่งช้อนแกง โดยราดหรือโรยสารพาโคลบิวทราโซลลงดินบริเวณโคนต้นกล้วยไข่ จากนั้นรดน้ำตามในช่วงอายุกล้วยไข่ 3-5 เดือน ซึ่งมีความเหมาะสมในด้านความสูง ประมาณ 1.0-1.5 เมตร จึงราดสารพาโคลบิวทราโซล

ผลของการราดสารที่ว่านี้ จะทำให้ต้นกล้วยไข่หยุดชะงักในด้านความสูง หรือชะลอการยืดตัวของลำต้น ลำต้นกล้วยส่วนบนก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น (ทรงกระบอก) และมีความแข็งแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ต้นกล้วยที่ราดสารจะมีผลผลิตเร็วกว่ากล้วยปกติ 2-3 สัปดาห์ และความสูงก็จะหยุดอยู่เพียงแค่ 1.0-1.5 เมตร เมื่อเทียบกับต้นกล้วยไข่ที่ไม่ได้ราดสารก็จะมีความสูงไปตามปกติ สูงได้มาก 2.5-3.0 เมตร

เมื่อควบคุมด้านความสูงในระยะแรกของต้นกล้วยไข่ได้แล้ว ระยะต่อมาคือ การเพิ่มขนาดและน้ำหนักผลกล้วยไข่ โดยการพ่นสารจิบเบอเรลลิน ความเข้มข้น 50-100 ppm หลังจากตัดปลีออก ให้ฉีดพ่นไปที่ผลกล้วยอ่อน จำนวน 3 ครั้ง เว้นระยะ 4 วัน ต่อครั้ง เพื่อขยายขนาดของผลกล้วยไข่ และผลลัพธ์ที่ได้ทำให้กล้วยมีขนาดผลใหญ่ ยาวขึ้น และน้ำหนักมากขึ้น และยังช่วยแก้ปัญหากล้วยไข่นอกฤดูที่มีผลขนาดเล็ก ให้มีความสมบูรณ์ผลใหญ่ขึ้นได้อีกด้วย

ขั้นตอนวิธีการปรับปรุงกล้วยไข่ทรงเตี้ย ซึ่งไม่มีความยุ่งยากอะไร ก็เหมือนกับการปลูกกล้วยไข่ตามปกติ จากแปลงกล้วยไข่ 15 ไร่ แบ่งมาทำแปลงทดลอง 2 ไร่ โดยเริ่มจากการไถกลบปรับปรุงดินเพื่อเตรียมปลูกกล้วยไข่ตามปกติ จากนั้นนำหน่อกล้วยไข่ลงปลูกเพื่อการทดลอง จำนวน 750 ต้น ช่วงเดือนธันวาคม 2561 กล้วยไข่ก็จะเจริญเติบโตตามปกติ จนเข้าสู่เดือนที่ 4 เดือนมีนาคม 2562 จึงนับเป็นการเริ่มต้นการทดลอง ด้วยการราดสารพาโคลบิวทราโซล ที่โคนต้นกล้วยไข่ ตามคำแนะนำของนักวิจัย ในปริมาณ 5 กรัม หรือครึ่งช้อนแกง ราดเพียงครั้งเดียว ความสูงของกล้วยไข่ก็จะหยุดอยู่เพียง 1.0-1.5 เมตร จากนั้นก็ดูแลกล้วยไข่ใส่ปุ๋ยตามปกติ คือสูตรเสมอ 15-15-15 สองถึงสามครั้งต่อเดือนแล้วแต่โอกาส

จนผ่านไปอีก 4 เดือน กรกฎาคม 2562 เมื่อกล้วยออกหวีจนสุดปลี จึงตัดปลี จากนั้นก็ฉีดพ่นสารจิบเบอเรลลิน ที่ผลอ่อนเครือกล้วยไข่ โดยฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 4 วัน ต่อครั้ง ซึ่งการฉีดสารตัวนี้ช่วยให้กล้วยไข่มีผลใหญ่และยาวขึ้น พร้อมๆ กับการใส่ปุ๋ย สูตร 16-8-8 ต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ต่อเดือน แล้วแต่โอกาส เพื่อช่วยในการเร่งลูก เร่งผิว เวลากล้วยแก่ผลจะไม่แตก ไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม 2562 และเป็นครั้งแรกที่ได้นำผลผลิตจากกล้วยไข่ต้นเตี้ยไปออกโชว์ในงานแสดงกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

บทสรุปผลการทดลอง การันตีโดยเกษตรกรตัวจริง อย่าง คุณแสน ภาคภูมิ ให้ข้อมูลต่ออีกว่า การใช้สารพาโคลบิวทราโซล ราดเพียงครั้งเดียว ก็สามารถหยุดการเจริญเติบโตด้านความสูงอย่างเห็นได้ชัด ผ่านไปอีก 4 เดือน เมื่อกล้วยไข่ตกหวีออกเครือจึงฉีดพ่นสารจิบเบอเรลลิน ก็จะทำให้กล้วยได้คุณภาพมีผลที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนผลผลิตที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกล้วยไข่ปกติกับกล้วยไข่ในแปลงทดลอง จะมีผลต่างขาดเกินกันนิดหน่อยด้านน้ำหนักต่อเครือ อาทิ กล้วยไข่ปกติ น้ำหนัก 12-13 กิโลกรัม ในขณะที่กล้วยไข่เตี้ยจากแปลงทดลอง จะได้น้ำหนัก 11 กิโลกรัมกว่าๆ แต่ข้อดีของกล้วยไข่ต้นเตี้ยไม่ต้องไปแข่งความสูง เสี่ยงกับลมพายุ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เกษตรกรท่านใดต้องการเข้าเยี่ยมชมแปลงกล้วยไข่ทดลอง “กล้วยไข่ต้นเตี้ย” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ คุณแสน ภาคภูมิ เลขที่ 126 หมู่ที่ 7 บ้านคลองสมุย ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โทร. 08 3411 6916

 


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_156580
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู