จากปัญหาขาดแคลนพืชพันธุ์ดีและเกษตรกรไทยไม่สามารถเข้าถึงพันธุ์พืชพันธุ์ดี ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรใช้พันธุ์พืชที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ทำการคัดเลือกพืชท้องถิ่นพันธุ์ดีจากศูนย์ขยายพันธุ์พืช 10 ศูนย์ ตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย และนำมาส่งเสริม ศึกษา วิจัย ทดสอบ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์และพืชพันธุ์ดีมีคุณภาพและปลอดโรค โดยเน้นขยายพันธุ์พืชท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นตามลักษณะพื้นที่ของภูมิภาคพร้อมกระจายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์สู่ชุมชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรประสบความสำเร็จอย่างมากในการขยายพันธุ์พืชในชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่าย จนได้พืชพันธุ์ดี มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น จำนวน 10 ชนิด จากศูนย์ขยายพันธุ์พืช 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม ลำพูน พิษณุโลก และสุพรรณบุรี ประกอบด้วย พันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชหายาก พืชเศรษฐกิจประจำถิ่นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นอาหาร ยา หรือไม้ประดับ โดยแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ คือ
1.ข้าว-พืชไร่
2.ไม้ผล-ไม้ยืนต้น
3.ไม้ดอก-ไม้ประดับ และ
4.พืชผัก-สมุนไพร
เพื่อรองรับการผลิตและขยายพันธุ์พืชในชั้นพันธุ์ขยายและชั้นพันธุ์จำหน่ายไปสู่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่มีความต้องการผ่านกลไกงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่
สำหรับพืชพันธุ์ดีมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นของภูมิภาคต่างๆ ทั้ง 10 ศูนย์ ประกอบด้วย
1.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ได้แก่ "กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50" จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นพืชที่ปราศจากโรคและแมลง ตรงตามที่เกษตรกรต้องการ พันธุ์นี้ในเครือจะมี 12 หวี เครือใหญ่น้ำหนักเครือมากกว่า 30 กิโลกรัม จำนวนผลต่อหวีประมาณ 18 ผล ไส้กลางไม่แข็ง ออกสีเหลือง เนื้อแน่น
2.ศูนย์ขยาย พันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ได้แก่ "กล้วยไม้ป่า" ของภาคใต้จำนวนดว่า 70 สายพันธุ์ และ "กล้วยหินปลอดโรค" ซึ่งศูนย์ได้มีการดำเนินการผลิตกล้วยหินปลอดโรคเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ โดยเริ่มกระบวนการตั้งแต่การจัดทำแปลงแม่พันธุ์กล้วยหิน การผลิตต้นพันธุ์กล้วยหินปลอดเชื้อโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ
3.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนคร ราชสีมา ได้แก่ "มะขามเทศพันธุ์เพชรโนนไทย" ดำเนินการจัดทำแปลงแม่พันธุ์ไว้ผลิตขยายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่กระบวนการเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว
4.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ "ส้มโอทับทิมสยาม" ประสานร่วมมือกับเครือข่ายแปลงใหญ่ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผลิตขยายพันธุ์ ต้นพันธุ์ส้มโอทับทิมสยามพันธุ์ดี ตอบสนองความต้องการในเขตพื้นที่และผู้ที่สนใจทั่วไป
5.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ "ไผ่หม่าจู" ด้วยภาคอีสานตอนล่างมีพื้นที่แห้งแล้ง ไผ่จึงเหมาะสมที่จะเป็นพืชสร้างรายได้พื้นที่ เนื่องจากเป็นพืชที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย และสามารถดึงความชื้นจากอากาศความชุ่มชื้นในพื้นที่ได้ ไผ่ชนิดนี้นอกจากนำลำมาใช้ประโยชน์นานาประการแล้ว หน่อยังมีรสชาติที่ดี ประหยัดพลังงานในการแปรรูปด้วยการต้มเพียงน้ำเดียวก็จะสามารถบริโภคได้ อีกทั้งมีกรดยูริกในปริมาณที่ต่ำมาก และยังมีวิธีการขยายพันธุ์อย่างง่ายด้วยการตอนไผ่
6.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ "กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง" จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีการฝึกอบรมเกษตรกรและจัดทำแปลงเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีแหล่งพันธุ์กล้วยน้ำว้าปลอดโรค และเข้าใจวิธีการปลูกกล้วยน้ำว้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบกล้วยสดไว้รองรับ ความต้องการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตากและกล้วยแปรรูปชนิดต่างๆ
7.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสาร คาม ได้แก่ "มะละกอพันธุ์ครั่ง" ได้รับรองพันธุ์ในปี พ.ศ. 2549 เนื้อผลดิบมีสีขาวขุ่น กรอบมาก มีรสหวานเล็กน้อย เป็นเอกลักษณ์ เหมาะสมสำหรับตำส้มตำ เป็นมะละกอพันธุ์เบา ติดผลเร็ว และยังมีความทนทานต่อโรคแมลง สามารถปลูกทุกสภาพดินและปลูกได้ตลอดทุกฤดูกาล ทำให้เป็นที่ต้องการของเกษตรกรในพื้นที่
8.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ได้แก่ "สตรอว์เบอร์รี" วิธีการผลิตต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งจะได้ต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคและสามารถผลิตได้จำนวนมาก เนื่องจากทางศูนย์มีความพร้อมของห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ และบุคลากรในการผลิต ซึ่งมีเป้าหมายผลิตต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รีปลอดโรค พันธุ์พระราชทาน 80 จากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จำนวน 200,000 ต้น/ปี
9.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ "หน่อไม้ฝรั่งสายพันธุ์บร็อกอิมพรู๊ฟ" ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อปลูกลงแปลงจะให้ต้นที่มีความสม่ำเสมอ มีความต้านทานโรคและแมลง ปริมาณผลผลิตที่ได้จะให้หน่อที่ได้มาตรฐาน ผลผลิตร้อยละ 80 ได้คุณภาพเกรดสูง (A) และร้อยละ 20 ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 200 ล้านบาท
10.ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ "อ้อย" เป็นพืชหนึ่งได้นำเอาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาใช้ในการผลิตขยายพันธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพันธุ์อ้อยคุณภาพดี และช่วยลดการระบาดของโรคใบขาวอ้อย
"การผลักดันให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชดำเนินการตามบทบาทภารกิจนี้ นอกจากจะช่วยตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในชุมชนในการให้บริการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และพืชพันธุ์ดีที่มาจากการทดลองศึกษา วิจัยแล้ว ยังทำให้เกษตรกรได้รับความรู้จากการอบรมและถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สร้างรายได้ ลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งจะเกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในอนาคต" นายเข้มแข็งกล่าว