ข่าวสาร
E20 การบริหาร/ธุรกิจเกษตร
24 กรกฎาคม 2562
มกอช.หนุนทำนาเกลือระบบ GAP กู้วิกฤติ “เกลือทะเลไทย"

มกอช.เร่งกู้วิกฤติเกลือทะเลไทย หนุนเกษตรกรทำนาเกลือระบบ GAP มุ่งยกระดับการผลิตได้มาตรฐาน คุณภาพระดับสากล หวังแก้ปัญหาราคาตกต่ำ-ลดนำเข้า เพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ตามที่ยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย พ.ศ. 2560-2564 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเกลือทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อให้เกลือทะเลมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาเกษตรกรเกลือทะเล เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเกลือทะเลไทยเพื่อให้มีช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อยกระดับราคาให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งให้มีการบริหารจัดการระบบนิเวศเพื่อการทำนาเกลือมีพื้นที่อย่างเหมาะสม และมีการบริหารจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
       จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว มกอช.ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับเกลือทะเลขึ้นมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือ (มกษ. 9055-2562) รวมทั้งได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) ขึ้น เพื่ออบรมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ตรวจประเมิน ให้มีทักษะและศักยภาพด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าเกลือทะเลของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการยกระดับศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ
       สถานการณ์ผลิตและการตลาดเกลือทะเลไทยในปัจจุบันด้วยว่า ปัจจุบันการทำนาเกลือทะเลเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญประเทศไทยการทำนาเกลือเป็นอาชีพดังเดิมมีตั้งแต่โบราณ มีเกษตรกร 1,200 ครัวเรือนมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 84,485 ไร่ โดยแบ่งแหล่งผลิตที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่มีการผลิตมากประมาณร้อยละ 90.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม และกลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อยประมาณร้อยละ 10.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตเกลือทะเลประมาณเกือบ 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ด้านนางสาวนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำนาเกลือถือเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยภูมิปัญญาและประสบการณ์ ร่วมกับการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ปัจจุบันเกลือสมุทร หรือเกลือทะเล ถูกกำหนดให้เป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ให้การทำนาเกลือนับเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเกษตรกรรม แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรนาเกลือทะเลประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะคุณภาพการผลิต ส่งผลให้ราคามีความผันผวนเป็นประจำทุกปี ดังนั้น มกอช.จึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบ GAP เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานเกลือไทยสู่ระบบสากล ให้เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยมีคู่แข่งคือประเทศอินเดีย ดังนั้น มกอช.จึงต้องเร่งผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพื่อการันตีให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในประเทศมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรไทย และลดการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศไปในตัว โดยต่อไปนี้ มกอช.จะเร่งเดินหน้าเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนาเกลือเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ในทุกจังหวัด เมื่อเริ่มมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของเกลือก็จะต้องมีการตรวจสอบรับรอง ซึ่งเกลือทะเลแตกต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ เพราะมี 3หน่วยงานดูแล คือ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ รวมทั้งผู้ตรวจรับรองเอกชน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรฐานกลางให้ 4 หน่วยงานปฏิบัติ ขณะที่ น.ส.เกตุแก้ว สำเภาทอง เกษตรกรนาเกลือทะเลบ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าเกลือจากประเทศอินเดียจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเกลือทะเลที่เกษตรกรชาวนาเกลือผลิตภายในประเทศมีราคาตกต่ำอย่างหนัก จากต้นปีราคาเกลือทะเลราคากิโลกรัมละ 2.00-3.00 บาท เหลือราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1.00 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรนาเกลืออย่างหนัก เนื่องจากขาดทุนสะสม จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว โดยข้อมูลการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ พบว่าปี 2560 มีการนำเข้าเกลือ 151,480 ตัน 216 ล้านบาทเศษ ปี 2561 มีการนำเข้าเกลือ 328,883 ตัน 437 ล้านบาทเศษ ปี 2562 (เดือนมีนาคม) มีการนำเข้าเกลือ 100,819 ตัน 120 ล้านบาทเศษ และรหัสพิกัดการนำเข้าอยู่ที่หมวด 25 ซึ่งเป็นหมวดของการนำเข้าสินแร่


แหล่งที่มา

สยามรัฐ
https://siamrath.co.th/n/92427
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู