ข่าวสาร
M01 การประมง/การเพาะเลี้ยง
23 กรกฎาคม 2562
ใช้กล้วยน้ำว้าเลี้ยงปลา...ลดต้นทุน

คุณพะเยาว์ และคุณประมวล รุ่งทอง  เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถบจังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรหัวไวใจสู้ พร้อมเปิดรับความรู้ใหม่ๆ กล้าที่จะทดลองและรับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร เริ่มเพาะเลี้ยงปลาในกระชังมาตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีกระชังเพาะเลี้ยงปลา 29 กระชัง โดยแบ่งเป็น ปลากด ปลากดคัง ปลากดหลวง ปลาเบญจพรรณ และปลาทับทิม จุดเริ่มต้นของการนำกล้วยน้ำว้ามาเลี้ยงปลานั้น มาจากการเพาะเลี้ยงปลาในช่วงนั้นมีต้นทุนอาหารสูง ทำให้ไม่คุ้มค่า ทุกฟาร์มเกิดปัญหาเดียวกันหมด เลยต้องหาทางลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหารลง จึงเกิดแนวคิดที่จะนำกล้วยมาเลี้ยงปลา โดยได้ทดลองนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวให้ปลากิน เริ่มแรกทดลองกับปลากรดก่อน ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะปลามีขนาดใหญ่ รสชาติของเนื้อหวาน ได้คุณภาพดีกว่าปลาที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยกล้วยน้ำว้า ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้ด้วย หลังจากที่เลี้ยงปลาด้วยกล้วยน้ำว้ามาได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดเสียงตอบกลับจากผู้บริโภคว่า ปลาในกระชังมีรสหวานและเนื้อแน่น ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น จากนั้นมาก็เริ่มนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวให้ปลาไปพร้อมกับอาหารเม็ด

"ในช่วงแรก กล้วยน้ำว้าที่ใช้เลี้ยงจะหาชื้อตามตลาด ชื้อครั้งหนึ่งก็ประมาณ 100-200 หวี ราคาช่วงนั้นตกหวีละ 3 บาท ต่อมาระยะหลังๆ กล้วยเริ่มมีราคมสูงขึ้นในบ้างช่วง ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย จึงต้องงดกล้วยที่ใช้เลี้ยงปลาไปในบางครั้ง ประกอบกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาทมีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักสวนครัวและปลูกกล้วยน้ำว้า ตนเองจึงสนใจและเข้าร่วมโครงการ เพราะนอกจากจะปลูกขายแล้ว ก็ยังสามารถนำมาเลี้ยงปลาได้อีกด้วย ปัจจุบัน ภายในสวนพื้นที่ 4 ไร่ มีต้นกล้วยกว่าร้อยต้น ปุ๋ยที่ใช้ก็ได้มาจากการนำปลาที่ตายจากการขนย้าย หรือตายขณะที่เลี้ยงมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ และนำไปราดโคนต้นไม้เป็นปุ๋ยอย่างดี ส่งผลให้ผลผลิตมีขนาดใหญ่และมีจำนวนมากเพียงพอต่อการน้ำมาเลี้ยงปลา โดยที่ไม่ต้องหาชื้อกล้วยจากท้องตลาด” คุณประมวลกล่าว

อัตราส่วนปล่อยลูกปลาต่อหนึ่งกระชัง ขึ้นอยู่กับขนาดของกระชังปลาที่จะเลี้ยง สำหรับกระชังปลาของคุณประมวล มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร ซึ่งสามารถปล่อยลูกปลาได้มากถึง 2,000 กว่าตัว เป็นอัตราที่ทดลองมาหลายรอบ และปลาสามารถเจริญเติบโตได้ดี ไม่หนาแน่นเกินไป โดยหนึ่งปีจะเพาะเลี้ยงเพียง 2 รอบเท่านั้น คือช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม และเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ด้วยสภาพภูมิอากาศในช่วงนี้จะเหมาะสมและสามารถเพาะเลี้ยงได้ดี ถ้าเพาะเลี้ยงในช่วงเดือนอื่นๆ อาจจะมีอุปสรรค์หลายด้าน เช่น สภาพภูมิอากาศไม่เหมาะสม อากาศร้อนไป ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำมีอุณหภูมิสูง ปลาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หน้าน้ำหลากมีน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลผ่านทำให้ปลาตาย เป็นต้น


แหล่งที่มา

เทคโนโลยีชาวบ้าน
https://www.technologychaoban.com/fishery-technology/article_116644
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู