ข่าวสาร
18 กันยายน 2561
โรคเน่าคอดิน กับต้นกล้าผัก

ปัญหาโรคเน่าคอดิน เป็นปัญหาหนักของต้นกล้าผัก ปัญหานี้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่ผลผลิตของเกษตรกร โรคนี้เกิดได้หลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักเกิดเนื่องมาจากความชื้นสูง

โรคเน่าคอดิน หรือเรียกว่า โรคกล้าไหม้แห้ง โรคนี้ เป็นโรคที่เกิดในพืชระยะต้นกล้าของพืชผักต่างๆ ทุกชนิด รวมทั้งพืชไร่ด้วย ลักษณะอาการมี 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1  เชื้อโรคเข้าทำลายเมล็ดพืชตั้งแต่ก่อนงอก ทำให้เมล็ดเน่า หรือทำลายหลังจากที่เมล็ดงอกแล้ว แต่ยังไม่ทันโผล่พ้นดินขึ้นมา ลักษณะที่พบก็คือ หลังจากที่หว่านเมล็ดพืชลงไปมีต้นกล้างอกขึ้นมาไม่สม่ำเสมอ และตายไปเป็นหย่อมๆ
ระยะที่ 2  เชื้อโรคเข้าทำลายหลังจากที่ต้นกล้างอกโผล่พ้นดินขึ้นมาแล้ว จะเห็นรอยช้ำที่บริเวณโคนของต้นกล้า แผ่ขยายออกรอบโคนต้นและกลายเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้าหักพับที่ระดับคอดิน ต้นกล้าจะมีสีเหลืองซีด และตายเป็นหย่อมๆ


สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคเน่าคอดิน
1.ความชื้นในแปลงเพาะกล้าสูงเนื่องจากฝนตกชุก รดน้ำมากเกินไป และดินระบายน้ำไม่ดีพอ หรือเพาะกล้าแน่นเกินไป ทำให้ความชื้นระหว่างต้นสูง จึงเป็นสภาพเหมาะต่อการงอก และเข้าทำลายพืชของสปอร์เชื้อราสาเหตุโรค
2.การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากไปปุ๋ยไนโตรเจนจะไปเร่งการเจริญเติบโตของต้นกล้า การที่กล้าโตเร็วมากเกินไป ทำให้เซลล์อวบอ่อนเปราะบาง ง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรค


วิธีแก้ปัญหา โดยการการควบคุมโรค มีวิธีดังนี้
1.อบฆ่าเชื้อราในดินแปลงเพาะกล้า โดยอบด้วยไอน้ำร้อน หรือสารเคมีชนิดอบดิน ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้สารเคมี อาจลดปริมาณเชื้อโรคในดิน โดยการหว่านผงเชื้อแห้งไตรโคเดอร์มา อัตรา 25-50 กรัมต่อตารางเมตร คลุกเคล้ากับดินในระดับลึก 5-10 ซม. ก่อนหว่านเมล็ด คลุมหน้าดินด้วยฟาง และรดน้ำพอควร ไม่มากเกินไป
2.ทำระบบระบายน้ำ จัดการระบายน้ำในแปลงให้ดี อย่าให้มีน้ำขัง และแฉะเกินไป
3.คลุกเมล็ดพืชก่อนปลูกด้วยสารเคมีควบคุม เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์ ควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีควบคุมเชื้อรา ชนิดคลุกเมล็ด หรืออาจคลุกเมล็ดด้วยไตรโคเดอร์มา อัตรา 10-20 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม โดยผสมสารจับใบด้วยเล็กน้อย
4.ควบคุมการให้น้ำ ให้รดน้ำแต่พอสมควร ไม่น้อยหรือมากเกินไป และให้น้ำเป็นครั้งคราว ควรให้น้ำในตอนเช้า หลีกเลี่ยงการให้น้ำแก่พืชในเวลาเย็น หรือใกล้ค่ำ
5.ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ในระยะกล้าไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้เกิดเชื้อราสาเหตุโรค ซึ่งในระยะเพาะนั้น ต้นกล้ายังไม่ได้ต้องการปุ๋ยมากนัก
6.ไม่ควรเพาะกล้าแน่นเกินไปเพราะจะทำให้ความชื้นระหว่างต้นสูง เกิดสภาพเหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรค ควรแบ่งแปลงเพาะกล้าออกเป็นแปลงย่อยๆ จะช่วยให้ถ่ายเทอากาศได้ดี และง่ายต่อการดูแลรักษา
เมื่อพบโรค ควรเผาทำลาย ให้ขุดต้นกล้าที่เป็นโรคและต้นรอบๆ นำออกไปเผาทิ้งนอกแปลง คลุกหรือราดดินบริเวณนั้น ด้วยไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค


แหล่งที่มา

แนวหน้า รักษ์เกษตร
https://www.ryt9.com/s/nnd/2887929
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู