สวนเงาะติดผลอ่อนให้ระวังโรคราดำ
คำแนะนำสำหรับเกษตรกรชาวสวนเงาะ ในช่วงที่อากาศร้อน มีลมกระโชกแรง และมีฝนตกในบางพื้นที่ ขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนเงาะเฝ้าระวังการเกิดโรคราดำ ซึ่งมักพบในระยะที่ต้นเงาะเริ่มติดผลอ่อน โดยโรคราดำจะมีคราบราสีดำติดตามส่วนต่าง ๆ ของต้นเงาะ เช่น ใบ กิ่ง ก้านดอก ช่อดอก ขั้วผล และร่องขน หากมีคราบราดำบนใบ จะส่งผลให้พืชรับแสงได้ไม่เพียงพอ หากคราบราดำปกคลุมช่อดอก จะทำให้ไม่สามารถผสมเกสรได้และมีดอกร่วง หากคราบราดำปกคลุมผล จะทำให้ผิวผลไม่สวยและจำหน่ายไม่ได้ราคา
แนวทางการป้องกันโรคราดำ
- พ่นน้ำเปล่า: หากพบโรค ให้พ่นน้ำเปล่าล้างคราบราดำที่ติดตามส่วนต่าง ๆ ของต้นเงาะ เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
- กำจัดวัชพืช: หมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก นำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้นสะสมและทำลายแหล่งอาศัยของแมลงปากดูด
- พ่นสารกำจัดแมลง: หากพบเพลี้ยแป้ง ให้พ่นด้วยสารกำจัดแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลีกเลี่ยงการพ่นสารในช่วงที่ดอกเงาะบานหรือเริ่มติดผลอ่อน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแมลงช่วยผสมเกสร
- ตัดแต่งกิ่ง: ตัดแต่งกิ่งเงาะเพื่อลดปริมาณมด จากนั้นใช้เศษผ้าชุบน้ำมันเครื่องผูกรอบโคนต้น เพื่อป้องกันมดและเพลี้ยแป้งที่อาศัยอยู่ในดินไต่ขึ้นมาบนต้นเงาะ
- ทำความสะอาดเครื่องมือ: เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ใช้ในแปลงที่มีการระบาด ควรนำมาทำความสะอาดด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง
แหล่งที่มา
สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1026755642936983&set=a.257770309835524