ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมกระโชกแรงและฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกขิงในระยะปลูกใหม่ เฝ้าระวังโรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ที่สามารถทำความเสียหายอย่างหนักแก่แปลงปลูกได้
อ้างอิงภาพ https://www.opsmoac.go.th/kamphaengphet-warning-preview-442891791799
อาการของโรคที่ควรสังเกต
- เริ่มแรก ใบขิงจะเหี่ยวและม้วนเป็นหลอด มีสีเหลือง และจะลุกลามจากโคนต้นขึ้นไปยังยอด
- ทั้งต้นจะแห้งตายอย่างรวดเร็ว
- โคนต้นและหน่อใหม่จะมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลเข้มถึงดำ
- เมื่อผ่าลำต้นตามขวาง จะพบเมือกสีขาวขุ่นไหลซึมออกมา
- ลำต้นเน่าและหลุดจากเหง้าได้ง่าย
- เหง้ามีอาการฉ่ำน้ำ สีคล้ำ และสุดท้ายเหง้าจะเน่าเสีย
แนวทางป้องกันและแก้ไขโรคเหี่ยวเขียว/เหง้าเน่าในขิง
1. เลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม
- เลือกแปลงที่ไม่เคยมีประวัติการระบาดของโรค และมีการระบายน้ำดี
2. เตรียมดินอย่างถูกวิธี
- ไถพรวนดินลึกมากกว่า 20 เซนติเมตร และตากดินตากแดดนานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในดิน
3. ฆ่าเชื้อในพื้นที่ที่เคยมีการระบาด
- โรยยูเรียผสมปูนขาว อัตราส่วน 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่
- ไถกลบดิน รดน้ำให้ดินชุ่ม และทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ ก่อนเริ่มปลูกขิงใหม่
4. ใช้หัวพันธุ์ที่ปลอดโรคเท่านั้น
- คัดเลือกหัวพันธุ์จากแหล่งผลิตที่ไม่มีประวัติการระบาดของโรค
5. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ
- หากพบต้นที่แสดงอาการเหี่ยว ควรขุดต้นไปทำลายนอกแปลงทันที
- โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
6. ทำลายซากพืชหลังเก็บเกี่ยว
- หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรนำส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ติดเชื้อไปทำลายนอกแปลงอย่างถูกวิธี
7. สลับปลูกพืชเพื่อตัดวงจรโรค
- ในพื้นที่ที่เคยมีการระบาด ควรงดปลูกพืชอาศัยของเชื้อ เช่น พืชตระกูลขิง มะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง
- สลับปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชอาศัย เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง เพื่อลดการสะสมของเชื้อในดิน