แจ้งเตือน
H10 ศัตรูพืช
13 กุมภาพันธ์ 2568
ระวังหนอนใยผักในพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด

ช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน โดยอากาศเริ่มอุ่นขึ้นและมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้าและอากาศร้อนอบอ้าวในช่วงกลางวัน ส่งผลให้พืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม ฯลฯ) เข้าสู่ระยะการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงที่หนอนใยผักมักระบาดอย่างรุนแรง

ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือตามกลุ่มเล็ก ๆ ทั้งบนใบและใต้ใบของพืช หนอนมีลักษณะเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก เมื่อสัมผัสจะดิ้นอย่างแรงและสร้างใยพาตัวระหว่างพื้นดินและใบพืช โดยหนอนจะกัดกินผิวใบ ทำให้ผักเป็นรูพรุนคล้ายร่างแห และจากนั้นจะเข้าดักแด้ในใบพืช โดยมีใยบาง ๆ ปกคลุม

แนวทางการป้องกันกำจัด
1. การใช้กับดัก
- กับดักกาวเหนียวสีเหลือง ใช้กระบอกหรือกระป๋องน้ำมันเครื่องทาด้วยกาวเหนียวสีเหลือง ตั้งกับดักทุก 7-10 วัน สามารถจับผีเสื้อหนอนใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวัน และช่วยลดการใช้สารฆ่าแมลงได้มากกว่า 50%
- กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์เป็นหลอดเรืองแสงที่มีประสิทธิภาพในการจับผีเสื้อหนอนใยผัก ควรติดตั้งรอบนอกแปลงผักและติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่
2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน
- การปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอนใยผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องแน่ใจว่าโรงเรือนปิดมิดชิดตลอดเวลา
3. การใช้สารชีวภัณฑ์
- การใช้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผัก โดยใช้ในอัตรา 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร การใช้สารชีวภัณฑ์ควรพิจารณาในช่วงที่มีการระบาดหนัก
4. การใช้วิธีทางเขตกรรม
- การไถพรวนดินตากแดดและทำลายซากพืชอาหาร หรือการปลูกพืชหมุนเวียนสามารถช่วยลดการระบาดของหนอนใยผักได้
5. การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากหนอนใยผักสามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็ว การเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันการระบาด เช่น
- สไปนีโทแรม 12% SC (อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
- คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC (อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
- โทลเฟนไพแรด 16% EC (อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
- อินดอกซาคาร์บ 15% SC (อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
- ฟิโพรนิล 5% SC (อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)
ควรพ่นทุก 5 วัน ติดต่อกัน 2 ครั้ง และสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ทุก 14 วันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด

คำเตือน
การเฝ้าระวังและควบคุมหนอนใยผักในช่วงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ควรติดตามสภาพอากาศและดำเนินการป้องกันตามแนวทางที่แนะนำอย่างเคร่งครัด


แหล่งที่มา

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/photo/?fbid=967031698909378&set=a.257770309835524
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู