แจ้งเตือน
H20 โรคพืช
24 ตุลาคม 2567
ระวังโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน พบระบาดบริเวณพื้นที่ 12 จังหวัด กว่าหมื่นไร่
โรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน พบพื้นที่การระบาดบริเวณพื้นที่ 12 จังหวัด (จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ กระบี่ ชุมพร ตรัง สงขลา นครศรีธรรมราช สตูล และสุราษฎร์ธานี) จำนวน 11,812 ไร่ เป็นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปี โดยโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันเกิดจากเชื้อเห็ดกาโนเดอร์มา สามารถเข้าทำลายปาล์มน้ำมันได้ทุกระยะการเจริญเติบโต
 
 
ลักษณะการเข้าทำลาย
ระยะแรกต้นปาล์มจะไม่พบลักษณะอาการผิดปกติ ต่อมาทรงพุ่มจะบางลง มีใบยอดไม่คลี่คล้ายกับอาการขาดน้ำ แสดงว่าภายในลำต้นถูกทำลายกว่า 60% ลำต้นกลวง เนื้อเยื่อผุเปื่อย พบดอกเห็ดบริเวณโคนต้น ปาล์มน้ำมันจะหักพับล้ม ในพื้นที่ปลูกทดแทนและเคยเป็นโรคจะพบโรคจะพบไวขึ้น ทำให้อายุของปาล์มน้ำมันสั้นลงเนื่องจากเชื้อสะสมอยู่ในดิน ซึ่งมีผลต่อความคุ้มทุนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หากสามารถตรวจพบโรคได้เร็วจะทำให้สามารถจัดการและควบคุมการระบาดของโรคได้ทันท่วงที
 
 
วิธีป้องกันกำจัด ในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อชะลอการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุ รักษาสภาพต้นเพื่อให้ยังสามารถเก็บผลผลิตได้ หากสามารถพบต้นที่เป็นโรคได้เร็ว รีบดำเนินการจัดการจะสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อและยืดอายุต้นได้ 
1. ตรวจสอบต้นที่คาดว่าจะเป็นโรคโดยใช้ไม้เคาะลำต้นเพื่อฟังเสียงบริเวณที่ถูกทำลาย
2. เก็บดอกเห็ดซึ่งเป็นส่วนของเชื้อราสาเหตุโรค ที่พบจากต้นที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก
3. ต้นที่เป็นโรคที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ให้ถากส่วนที่เป็นโรคออก นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วทาแผลด้วยสารเคมี เช่น โคลทาร์ สารที่มีส่วนผสมของ โคลทาร์ สารไทแรม หรือสารเคมีกำจัดเชื้อรากลุ่ม
ไตรอะโซล
4. สังเกตต้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต้นที่เป็นโรค หากพบเริ่มมีอาการของโรคให้รีบป้องกันกำจัด
5. แปลงที่มีการระบาดของโรค หากปลูกใหม่ควรใช้พันธุ์ต้านทานโรค
 
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วันที่ 22 ตุลาคม 2567

แหล่งที่มา

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
https://www.facebook.com/profile.php?id=100068076707389
© 2017-2018 Office of the University Library, Kasetsart University.
forumถามกูรู